เอกชนฝากการบ้าน “รัฐบาลใหม่” เพิ่มขีดแข่งขัน-ลดเหลื่อมล้ำ-แก้โกง

เพื่อตอกย้ำถึงความต้องการ รวมทั้งความคาดหวัง ต่อรัฐบาลใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้ง วันที่ 13 มีนาคม
ที่ผ่านมา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้เชิญตัวแทนจาก 6 พรรคการเมือง เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์และตอบคำถามนโยบายทางด้านเศรษฐกิจจากสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศ 50 คำถาม

ประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.), นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.), นายโภคิน พลกุล กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย (พท.) และ นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

ที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) โดยภาคเอกชนโฟกัสไป 3 เรื่องหลัก คือ แนวทางการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การลดความเหลื่อมล้ำ และการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น สรุปใจความสำคัญที่ตัวแทนพรรคการเมืองแต่ละพรรคชี้แจงแนวนโยบายตอบโจทย์ภาคเอกชน ดังนี้

ประชันไอเดียเพิ่มขีดแข่งขันประเทศ 

เริ่มจากชุดคำถาม “แนวทางเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน” ถามว่า พรรคจะดูแลผลประโยชน์ประเทศภายใต้การค้าเสรีอย่างไร นายวีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร จากพรรค อนค. กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยพบว่าการทำความตกลงเป็นการสร้างอำนาจต่อรองให้กับประเทศ แต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ นโยบายของพรรค อนค. เป้าหมายหลักเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจไทย 3 ด้าน และ 5-10 ปีไทยต้องยั่งยืน

โดยเสนอ 1.ลดการผูกขาดดูแลเรื่องของอำนาจเหนือตลาด สร้างความยืดหยุ่นให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโต 2.ส่งเสริมการขนส่ง ขับเคลื่อนระบบรางให้ดี สร้างรถเมล์ไฟฟ้า 3.จัดทำนโยบายอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่วางเป้าหมาย 5 ปี จะอยู่ตรงไหน เพื่อให้ก้าวทันอย่างเกาหลีใต้ สิงคโปร์

ขณะที่การแก้ไขปัญหาแรงงานนั้น นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวว่า การแก้ไขจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน จะเน้นสร้างคนให้ตอบโจทย์ของอุตสาหกรรม บริการ และภาคเกษตร ต้องเพิ่มขีดความสามารถแรงงานที่ประเทศไทยขาดมาก คือ กลุ่มสายอาชีวะ ด้วยการร่วมมือกับทุกภาคส่วนและจัดให้มีหลักสูตรสร้างคน ให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรม รวมทั้งส่งเสริมเทคโนโลยีนวัตกรรม

รื้อ กม.ไม่เอื้อลงทุน-เร่งพัฒนา 5G

ในส่วนของข้อสังเกตที่ว่า “กฎหมายไม่เอื้อประโยชน์ต่อการประกอบการ” นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท. ระบุว่า พรรคจะทลายทุกข้อจำกัด เพราะที่ผ่านมากระบวนการดำเนินธุรกิจต้องมีใบอนุญาต ต้องผ่านการอนุมัติ 7-10 หน่วยงาน จึงต้องสร้างการบูรณาการทุกหน่วยงาน โดยอาจใช้วิธีให้เอกชนยืนยันตัวตน ไม่ต้องผ่านขั้นตอนมาก แต่ต้องสุจริตโปร่งใส

ขณะที่ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรค ชพน. กล่าวว่า นโยบาย ชพน.ต้องการให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่ 5G ภายใน 2 ปี เพื่อสร้างพื้นฐานประเทศไปสู่แนวทางสมัยใหม่

เพิ่มขีดความสามารถ และช่วยลดช่องว่าง อาทิ การรักษาทางไกล จะสนับสนุนการลงทุนเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยจะเปิดประมูลและลดผลตอบแทนให้รัฐ แต่จะเน้นผลประโยชน์สาธารณะ สังคม และจะพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีด้านไอทีเพื่อสนับสนุนการลงทุน

สานต่อเขต ศก.พิเศษ-หนุน ศก.ฐานราก

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวว่า ปัจจุบันไทยต้องเผชิญปัญหาและการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน จึงต้องผนึกความร่วมมือกับเพื่อนบ้านในอาเซียน และปรับยุทธศาสตร์ประเทศ เชื่อมโยงสังคมโลก ต้องพัฒนาคนให้มีศักยภาพ ขณะที่ภาครัฐก็ต้องสนับสนุนเอกชนให้เข้าสู่ตลาดมากขึ้น และขยายไปในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ มองโอกาสใน

ตลาดใหม่ เช่น อินเดีย ตะวันออกกลาง สำหรับการสานต่อนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) พรรคมองว่าไม่ได้มีแค่ 2 เขตนี้เท่านั้น แต่จะส่งเสริมให้เกิด “12 มหานคร” ทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการลงทุน และเชื่อมโยงเพื่อนบ้านอีกด้วย

ส่วน นายโภคิน พลกุล กรรมการยุทธศาสตร์พรรค พท. กล่าวว่า พรรคต้องการเชื่อมเมืองหลัก เมืองรองเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดการรวมตัวและผลักดันเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับผลิตภาพให้เกิดขึ้น ขณะที่การพัฒนาประเทศ จะส่งเสริมงานวิจัยเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ให้เติบโตตามเป้าหมายภายใน 4 ปี ส่งเสริมการศึกษา ปรับปรุงกฎหมาย ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายเพิ่มนักท่องเที่ยวเข้ามา 40 ล้านคน ด้วยการให้ลดการขอวีซ่า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน และจะหนุนท่องเที่ยวชุมชน สร้างสินค้าชุมชนเป็นจุดขาย เชื่อมโยงให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวประเทศเพื่อนบ้าน ขยายอายุวีซ่าให้นักท่องเที่ยวนานถึง 3-5 ปี จากปัจจุบันต้องต่อทุก 3 เดือน

ไอเดียแก้ไขคอร์รัปชั่น

สำหรับการป้องกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น “นายอภิสิทธิ์” ย้ำว่า เรื่องนี้เป็นบรรทัดฐานที่พรรคดำเนินการมาตลอด และมองว่าปัญหาเกิดจากเอกชนเกรงใจราชการเกินไป ดังนั้นต้องลดปัญหานี้ โดยแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ลดอำนาจ และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ สร้างเครือข่ายเอกชนในการตรวจสอบ

นายโภคินกล่าวว่า ต้นตอคอร์รัปชั่นมาจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม จึงต้องเร่งแก้ไข วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน คือ จำเป็นต้องเอาประชาธิปไตยคืนมา ขณะที่นายอนุทินกล่าวว่า ปัญหาหลักของคอร์รัปชั่นเกิดจากอำนาจ และกฎหมายที่มีมานาน และตัดโอกาสการเข้าถึงอำนาจรัฐ ดังนั้น ต้องสร้างการมีส่วนร่วมติดตามและประเมินผล โดยหน่วยงานเอกชนต้องร่วมมือกัน

เช่น อาจจัดให้มีผู้จัดการในการดูแลจัดซื้อ การเจรจาผู้ซื้อ ผู้ขาย ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วม เพื่อดูแลติดตามและควบคุมการใช้งบประมาณในการจัดทำโครงสร้างต่าง ๆ

สกัดค่านิยมรับ-จ่าย

ส่วนมุมมองของนายวีระยุทธมองว่า การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นไทย หรือการฉ้อราษฎร์บังหลวง ต้องแก้ปัญหาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานและโครงการของรัฐ ที่สำคัญ ต้องมีการประเมินโครงการในแต่ละขั้นตอน โดยสร้างระบบถ่วงดุลในระยะยาว การปราบปรามวัฒนธรรม ค่านิยมการรับ การจ่าย และเน้นประโยชน์สาธารณะมากขึ้น

ขณะที่นายอุตตมชี้ว่า ปัญหาอาจมาจากการทำงานที่ผ่านมาของระบบราชการอาจมีอุปสรรค จึงต้องปรับและทำให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน ทั้งการจัดสรร

งบประมาณ เร่งจัดทำยุทธศาสตร์ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากเกิดความเข้มแข็ง

ทั้งนี้ ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น พรรค พปชร.มีนโยบายลดต้นทุนการทำธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น โดยเฉพาะการลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการพิจารณาโครงการต่าง ๆ ในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่โครงการ การขออนุมัติ การขออนุญาต เป็นต้น เพราะเชื่อมั่นว่าหากลดการใช้ดุลพินิจลงได้ จะทำให้การคอร์รัปชั่นลดน้อยลง