14 คดีค่าโง่-ไม่โง่แสนล้าน ข้อพิพาทรัฐ-เอกชน ผลัดกันแพ้-ชนะ

รายงานพิเศษ

สิ้นสุดมหากาพย์คดี “ค่าโง่” โครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร หลังศาลปกครองสูงสุด “กลับคำ” พิพากษาศาลปกครองกลาง “ยกฟ้อง” คำร้องของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยกระทรวงคมนาคม “ชดใช้” ค่าเสียหาย “โครงการโฮปเวลล์” มูลค่า 11,888 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี รวม 5.89 หมื่นล้าน !!!

“บิ๊กตู่” เปิดโต๊ะเจรจา

ไม่สิ้นสุดแต่เพียง “พักยก” เพราะ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะ “หัวหน้ารัฐบาล” ยังต้อง นั่ง “หัวโต๊ะเจรจา”

โดยมี “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เสนาบดีราชรถ 1 เป็น “หัวหน้าชุดเจรจา” กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยจะนำบทสรุปของคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 30 เม.ย.

คดีโฮปเวลล์เป็น “ข้อพิพาท” ระหว่างรัฐกับเอกชน ตั้งแต่ปี 2533 สมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หลังจากนั้นโครงการ “ล้ม-ลุก-เลิก” 5 รัฐบาล

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2558 “พล.อ.ประยุทธ์” มอบหมายให้ “วิษณุ เครืองาม” มือกฎหมายประจำทำเนียบ สางข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชนทั้งหมด แบบหลังพิงฝา-แพ้ไม่ได้

ล้อมคอกสัญญารัฐ-เอกชน

คดีที่ 1 คดีโครงการก่อสร้างและให้บริการทางยกระดับดินแดง-ดอนเมือง หลังจากบริษัท วอลเตอร์ บาว (Walter Bau AG) หรือ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการฟ้องกระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงเรียกค่าเสียหายปมก่อสร้างล่าช้า-อัตราค่าผ่านทาง มูลค่า 6,000 ล้านบาท

คดีดังกล่าวเป็นข้อพิพาทตั้งแต่ปี 2532 สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน-รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ต้องทำหนังสือ “ด่วนที่สุด” ถึงหน่วยงานราชการ “คุมเข้ม” การทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน ไม่ให้ “ซ้ำรอย” ขณะนี้อยู่ที่ศาลปกครองสูงสุด

ค่าโง่ 1.7 พันล้าน

คดีที่ 2 คดีโครงการก่อสร้างทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ภายหลังบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด ยื่นคำร้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จ่ายค่าชดเชยค่าเสียหาย 1,790 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยสืบเนื่องจากกรมทางหลวงได้ก่อสร้างทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-รังสิต ทำให้แข่งขันกับโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ทำให้รายได้ลดลง

ต่อมา กทพ.ยื่นร้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว โดยศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 21 ก.ย. 61 ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ที่ให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน

ค่าปรับแสนล้าน “ไอทีวี” ไม่คืบ

คดีที่ 3 คดี “ค่าปรับแสนล้านไอทีวี” ภายหลังสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2547 ลดค่าสัมปทานสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) โดยบริษัทชินคอร์ป เหลือปีละ 230 ล้านบาท พร้อมทั้งให้แก้ไขสัดส่วนการออกอากาศรายการสาระต่อรายการบันเทิง จาก 70 ต่อ 30 เป็น 50 ต่อ 50 และให้รัฐจ่ายค่าชดเชย 20 ล้านบาท

ต่อมาศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งอนุญาโตตุลาการ และมีคำสั่งให้ “ไอทีวี” เสียค่าปรับจากการผิดสัญญาสัมปทานและการเปลี่ยนแปลงผังรายการ 100 ล้านบาทต่อวัน ระยะเวลา 2 ปี หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท

แม้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จะออกมติ ครม. “ขีดเส้นตาย” ให้ไอทีวีจ่ายค่าปรับภายใน 7 มี.ค. 50 แต่จนถึงขณะนี้คดีพิพาทระหว่าง สปน.กับไอทีวี ยังสู้กันอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการและศาลปกครองกลาง…รัฐยังไม่ได้รับการชดใช้ค่าปรับสักบาท !!!

พลิกชนะค่าโง่คลองด่าน

คดีที่ 4 คดีค่าโง่ในตำนาน-คดีทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ชดใช้ค่าเสียหายแก่กิจการร่วมค้าเอ็นวีพีเอสเคจี (NVPSKG) ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เป็นเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยวันละ 2 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังและ คพ.ร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อ “ฟื้นคดี” เนื่องจากมี “หลักฐานใหม่” เป็นคำพิพากษา “คดีอาญา” จำนวน 3 คดี ที่สั่งให้จำคุก นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย กับพวกอีก 10 คน และอดีตรอง-อธิบดีและนักวิชาการ คพ.

โดยศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับการจ่ายเงินชดเชย ภายหลัง คพ.ชดใช้งวดที่ 1-2 ไปแล้วราว 20,000 ล้านบาท และ ปปง.สั่งอายัดค่างวดที่ 1-2

วันที่ 6 มี.ค. 61 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้ คพ.ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 9 พันล้านบาท

คดีที่ 5 ข้อพิพาทระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ฟ้องบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “AIS” 1.74 แสนล้าน และ AIS ฟ้อง ทีโอที 9.9 พันล้านบาท

คดีที่ 6 บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ฟ้อง บริษัท ทรูมูฟ จำกัด 5.81 หมื่นล้าน คดีที่ 7 CAT ฟ้อง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) 4.63 หมื่นล้าน และคดีที่ 8 CAT ฟ้อง บริษัท ดิจิตอล โฟน (ดีพีซี) 1.71 หมื่นล้าน อยู่ระหว่างเร่งระงับข้อพิพาททั้งหมด

รุก ฟิลลิปมอร์ริส 2 หมื่นล้าน

คดีที่ 9 กรณีกรมศุลกากรแจ้งประเมินภาษีบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ดนำเข้าบุหรี่ 152 ล้านบาท สุดท้ายศาลภาษีอากรกลางอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาไม่เพิกถอนคำสั่งแจ้งประเมินภาษี

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2559 อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกรณีหลีกเลี่ยงภาษีจำนวน 2 หมื่นล้านบาท หากศาลผิดจะต้องปรับ 4 เท่า หรือ 8 หมื่นล้านบาท

ทางด่วนบูรพาวิถีไม่โง่

คดีที่ 10 คดีโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง หลังบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ในฐานะหุ้นส่วนกิจการร่วมค้าบีบีซีดี และในนามกิจการร่วมค้า บีบีซีดี เป็นโจทก์ฟ้องการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ต่อศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 9,683 ล้านบาท แต่พลิกกลับมาชนะ เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 60

คดีที่ 11 คดีขึ้นค่าทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ หรือค่าผ่านทางยกระดับอุตราภิมุข บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือบริษัท ดอนเมืองโทลล์เวย์ จำกัด ยื่นฟ้องกระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวง ซึ่งศาลปกครองกลางยกฟ้อง

ป.ป.ช.ชี้ จีทูจีลอตสอง 71 ราย

คดีที่ 12 คดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว-ระบายข้ายแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แบ่งออกเป็น 1.ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ฐานปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริต และกระทรวงการคลัง โดยกรมบังคับคดี สั่งยึดทรัพย์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 3.5 หมื่นล้านบาท

2.จำคุก นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์และพวกและสั่งให้บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด-เสี่ยเปี๋ยง นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร และพวก ชดใช้ค่าเสียหาย 16,912 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

คดีที่ 13 คดี “จีทูจีลอตสอง” โดยอนุกรรมการไต่สวน ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา 71 ราย โดยมีทั้งนักการเมือง-ข้าราชการประจำและบริษัทเอกชนของไทย-รัฐวิสาหกิจของจีน

ทั้ง 14 คดี รัฐ-เอกชนผลัดกันชนะ-ผลัดกันแพ้