เครือข่ายนักวิชาการ แถลงจี้ คสช.หยุดดำเนินคดีนักวิชาการ-แทรกแซงเสรีภาพทางปัญญา

เครือข่ายนักวิชาการ ค้าน คสช.จับผู้ร่วมงานวิชาการ เผยเวทีสัมมนาถือเป็นพท.สุดท้ายที่ทหารไม่ควรแทรกแซง วอนให้ความอิสระเพื่อช่วยเปิดมุมมองใหม่ให้สังคม ก่อนปท.ชาติจะมีความคิดคับแคบลงไปทุกที

เมื่อวันที่ 3 กันยายน ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในงานแถลงข่าวกรณีการดำเนินคดี 5 นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปล ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 3/2558 จากการติดป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ครั้งที่ 13

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ในฐานะประธานจัดงานประชุมไทยศึกษาฯ กล่าวว่า งานประชุมวิชาการที่ผ่านมา อยากเห็นความเสรีทางวิชาการที่สามารถแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ โดยมีนักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก เพื่อข้อมูล ความคิดเห็นตามหลักเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งบทความต่างๆ ที่นำมาเสนอต่างต้องมีหลักฐานทางวิชาการ และผู้เขียนมีความรับผิดชอบภายใต้กรอบทางกฎหมาย ทำให้มีผู้สมัครเข้าร่วมทางวิชาการต่างชาติเข้าร่วมมากถึง 1,200 คน ทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย มีบรรยากาศทางวิชาการเข้มข้น โดยหัวข้อที่จัดมีถึง 12 หัวข้อ อาทิ องค์ความรู้เกี่ยวกับไทยศึกษา วิกฤตประชาธิปไตยในประเทศไทย ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ เป็นต้น

ดร.ชยันต์ กล่าวว่า ตนยังคงยืนยันว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คน ไม่ขอยอมรับข้อกล่าวหาของฝ่ายทหาร เพราะถือว่างานดังกล่าวเป็นการประชุมทางวิชาการ และให้เสรีภาพกับผู้ร่วมประชุม ผู้ร่วมประชุมชุมต้องลงทะเบียนหรือแสดงตน พร้อมร่วมเสนอบทความทางวิชาการ ซึ่งมีลำดับขั้นตอนมาแต่แรก ไม่ใช่นึกอยากจะจัดก็จัด แต่จัดเพื่อให้เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย ให้รู้เท่าทันกับโลโลกาภิวัฒน์ เตรียมประเทศเข้าไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยทุกคนที่เข้าร่วมต่างวางแผนการเดินทาง ที่พัก และอื่นๆ ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาในงาน ไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า เท่ากับมาวุ่นวายการประชุมดังกล่าว ซึ่งการประชุมต้องให้เกียรติผู้ร่วมประชุม ต้องมีคนเสนอบทความ และแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ ไม่ใช่เข้ามาถ่ายรูป อัดเสียง สอบถามผู้ร่วมประชุมว่ามาจากที่ไหน โดยไม่ได้รับอนุญาต

“ก่อนเริ่ม งานประชุมก็ไม่มีเจ้าหน้าที่มาพูดคุย ทำความเข้าใจกันอย่างไร ทั้งๆ ที่ได้ไปพบกับผู้ว่าราชการจังหวัด และเป็นประธานในที่ประชุมดังกล่าว ก็ได้เรียนให้ทราบแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้มาบอก ซึ่งการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่คอยคิดตาม ตรวจสอบฝ่ายนักวิชาการจะมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างไร ความหวาดกลัวว่าเหล่านักวิชาการจะนำพาไปสู่การยุยงปลุกปั่น ต่อต้านรัฐบาล ขอยืนยันว่าไม่ได้ตรงกับเจตนาของเราแม้แต่น้อย ซึ่งแนวทางต่อสู้คดีต่อจากนี้ ก็ทำให้ดีที่สุด และพูดความจริงเท่านั้น เมื่อไม่ได้มีเจตนาทางการเมือง จึงไม่จำเป็นต้องรู้สึกกังวล”

ดร.ชยันต์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ผู้ร่วมประชุมบางราย ได้แสดงสัญลักษณ์ และชูป้ายข้อความ เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร นั้น ซึ่งการกระทำดังกล่าว ไม่ได้เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านทางการเมือง แต่ถือเป็นปฏิกิริยาต่อการเข้ามาของเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาละเมิดเสรีภาพทาง วิชาการ หรือลุ่มล่ามการประชุมดังกล่าว โดยไม่ได้ให้เกียรติโดยการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าแต่อย่างใด ไม่มีเจตนาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการต่อสู้คดี ให้ถือเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ได้มาถึงความถูกต้อง ยุติธรรม

“มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันทางวิชาการที่ต้องก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เวทีการประชุมวิชาการถือเป็นส่วนหนึ่งของการไปสู่การพัฒนาระดับนานาชาติ ผู้ดูแลกฎหมายต้องเข้าใจบริบท จุดยืน ท่าที และวิธีการทำงานของมหาวิทยาลัย ถ้ามีการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ คอยหวาดระแวงนักวิชาการที่มีเจตนาบริสุทธิ์ จะมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างแล้ว จะเกิดความรู้ หรือเกิดประโยชน์ได้อย่างไร การจัดประชุมวิชาการนานาชาติ มีนักวิชาการจากหลากหลายชาติเข้าร่วม ซึ่งบุคคลเหล่านี้ต่างศึกษาสังคมไทยมาเป็นระยะเวลายาวนาน สังคมไทยเราต้องฟังว่าเขาพูดว่าอะไรบ้าง นักวิชาการท้องถิ่นจะได้เรียนรู้ หรือนำปัญหาท้องถิ่น หรือแม้แต่ประเทศมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อพัฒนาต่อยอด ไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถก้าวทันโลกได้”ดร.ชยันต์ กล่าว

ศาสตราจารย์ สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความสำคัญของการมีเวทีวิชาการ เพื่อแสดงถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นบริบททางสังคมบนเหตุผล หลักฐานต่างๆ หากวิชาการมีไว้ด่าคนนั่นค่อยอภิปราย แต่สิ่งสำคัญของการจัดงาน คือ การแสดงความคิดเห็นถึงอนาคตของประเทศ ที่ต้องรับผิดชอบ โดยให้มองเห็นภาพ มุมมอง ความคิด ต่างไปจากที่คุ้นเคยด้วยมุมมองเดิมๆ ไม่เช่นนั้นความคิดของประชาชนในสังคมก็จะคับแคบ การพัฒนาก็จะไม่เกิดขึ้นในสังคม ในประเทศ ดังนั้น เสรีภาพทางวิชาการมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะมุ่งเข้าใจโลก และเข้าใจตนเองด้วย

“ถ้าจะให้เข้าใจโลก เข้าใจสังคม แล้วเอาความคิดแค่ด้านเดียวคงเป็นไปไม่ได้ ยิ่งถ้ารัฐบาลมีนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ยิ่งต้องมีมุมมองที่กว้างมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่เพียงรักษาตัวเอง แต่ต้องรักษาอนาคตของสังคมโดยรวมด้วยว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป อยากให้เพียงแค่มีความรู้สึกประจบประแจง เอาใจแต่เจ้านายอย่างเดียว การทำหน้าที่ต้องมีความรอบคอบกว่านี้หน่อย ด้วยการสร้างพื้นที่สติให้กว้างขวาง ไม่ควรถูกบดบังด้วยอะไร เพราะไหนๆ ก็สร้างความหวังให้กับอนาคตแล้ว ย่อมควรสร้างความมั่นใจในชีวิตของคนในสังคม เมื่อสังคมต้องการความมั่นคง จำเป็นต้องเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม ถ้ามหาวิทยาลัยไม่สามารถทำหน้าที่ที่พึงกระทำได้ โดยเฉพาะในช่วงที่บ้านเมืองผันผวน ให้สามารถคิดหลากหลายมุมมอง ผู้บริหารมหาวิทยาลัย คณาจารย์ นักศึกษา ไม่สามารถอิสระได้ การเดินหน้า การพัฒนาสังคมก็อยู่ในมุมมองที่คับแคบต่อไป”ศ.สุริชัย กล่าว

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า การกระทำการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ ตนเห็นว่า เจ้าหน้าที่ยังขาดความเข้าใจการเป็นนักวิชาการ ว่า นอกจากการสอนตามชั้นเรียนปกติแล้ว หน้าที่หลักของคณาจารย์ คือการเป็นนักวิชาการ ผ่านการแสวงหาความรู้ด้วยการจัดเวทีสัมมนา เสวนาทางวิชาการตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยเรื่อยยาวไปถึงระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ถือเป็นหน้าที่ โดยอาศัยเสรีภาพที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้ทำ และมั่นใจว่าคนที่เข้างานงานเวทีวิชาการต่างมีวุฒิภาวะมากพอ เพราะถือเป็นงานที่สนใจเฉพาะด้าน ซึ่งต้องมีองค์ความรู้ระดับหนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้น การจัดงานที่ผ่านมา และโดนเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการ ไม่ใช่อยู่ดีๆ อยากจัดก็จัด แต่ทุกอย่างมีกระบวนการ มีการวางแผน มีการลงทะเบียนล่วงหน้าเป็นปี และเป้าหมายของงานวิชาการ คือ สะท้อนความจริงจากหลากหลายมุมมอง

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า กรณีที่ คสช.ดำเนินคดีกับ อ.ชยันต์และพวกในครั้งนี้ มีนักวิชาการจากทั่วโลกมาร่วมลงชื่อมากที่สุด ไม่ต่ำกว่าหนึ่งพันคน และนักวิชาการจากในประเทศกว่า 100 คน จาก 29 องค์กร เพื่อแสดงความคัดค้านกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเห็นว่ากระทำดังกล่าว ถือเป็นการสร้างความวิตกกังวลว่าเสรีภาพในการนำเสนองานและการทำงานศึกษา วิจัยของตนจะถูกคุกคามจากรัฐบาลทหาร เนื่องจากถือเป็นพื้นที่สุดท้ายที่รัฐบาลคสช. ไม่ควรเข้ามาแทรกแซง หรืออย่างปลายปีนี้ จุฬาฯ จะมีการจัดเวทีเสวนาวิชาการระดับนานาชาติต่อจากเจ้าภาพประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีนักวิชาการไม่ต่ำกว่าพันคนเข้าร่วมงาน ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า การที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดงานช่วงปลายปีต่อจากญี่ปุ่น จะมีนักวิชาการกล้าเดินทางมาเข้าร่วมมากน้อยเพียงใด

“ยิ่งเกิด เหตุการณ์ล่าสุด ที่ลดรอนสิทธิ์เสรีภาพทางวิชาการครั้งนี้ ก็ไม่แน่ใจว่านักวิชาการจากนานาชาติจะยังมีความมั่นใจเข้าร่วมงานช่วงที่ จุฬาฯ จะเป็นเจ้าภาพช่วงปลายปีอีกมากน้อยเพียงใด ซึ่งน่าจะมีผลต่อการจัดงานวิชาการในประเทศไทยต่อไป เพราะมหาวิทยาลัยเองก็ไม่สามารถการันตีเรื่องความอิสระการจัดงานในปัจจุบัน เหมือนกับการจัดงานที่เคยเกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาได้ ทำให้เวทีวิชาการในไทยตอนนี้เหมือนกำลังถูกสปอร์ต ไลท์ส่องเข้ามาจับตามอง ประกอบกับข้อมูลจาก Freedom House องค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ประเมินระดับสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมประชาธิปไตยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ระบุข้อมูลปี 2559 พบว่า ประเทศไทยยังคงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศไม่มีเสรีภาพ โดยพิจาณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น สิทธิ์ในการเลือกตั้ง ความสามารถในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และเชื่อว่าปีนี้ ไทยก็ยังคงถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มดังกล่าว”รศ.ดร.พวงทอง กล่าว

ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. กล่าวว่า เรายังคงยืนยันในสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ ผู้ที่ถูกดำเนินการจากงานดังกล่าวทั้ง 5 ราย จะไม่ถูกทอดทิ้ง นักวิชาการจากทั่วประเทศยังคงจับตาประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับสนับสนุนความอิสระทางเสรีภาพวิชาการ เพราะไม่มีอำนาจ มีอาวุธไปจี้ปล้นใครได้ ในฐานะนักวิชาการต้องติดตามเรื่องนี้ต่อ จะไม่ล้มเลิกความตั้งใจที่จะจัดเวทีงานวิชาการ ด้วยการหยิบยกประเด็นที่สังคมไทยกำลังเผชิญอยู่ เพื่อช่วยให้ทิศทางทางสังคม ประเทศชาติดีขึ้น

 

ที่มา มติชนออนไลน์