สุรชาติ : รัฐบาล Transformer นายกทหารคุมกองทัพได้ แต่คุมสภาไม่ได้

สัมภาษณ์พิเศษ โดย ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

การครองอำนาจนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในรัฐบาลหลังเลือกตั้ง ไม่ใช่ของง่ายเหมือนสมัยแรกที่เป็นรัฐบาลทหาร

เมื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ไร้อำนาจพิเศษ มาตรา 44 แถมยังมีนักการเมืองฝ่ายค้านเป็นหอกข้างแคร่ ตรวจสอบรัฐบาลทุกฝีก้าว หยิบรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้เป็นกลไกให้สืบทอดอำนาจ กลับมาทิ่มแทงรัฐบาล สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุการเมืองที่อาจทำให้รัฐบาลพลิกคว่ำ-พลิกหงาย

ทันใดนั้นก็เกิดเหตุระเบิดใน กทม.มากกว่า 10 จุด มาปะทะกับรัฐบาลประยุทธ์ 2/1 ที่เริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ หลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพียงแค่ 10 วันเศษ

ประชาชาติธุรกิจ สนทนากับ “สุรชาติ บำรุงสุข” ศาสตราจารย์ด้านความมั่นคง คลุกคลีข้อมูลทั้งด้านการทหาร และการเมือง วิเคราะห์โจทย์ใหญ่-ความท้าทาย ปัจจัยเสี่ยงการเมือง ที่รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 ต้องฝ่าฟัน

12 โจทย์ท้าทายรัฐบาล

“สุรชาติ” เริ่มต้นวิเคราะห์โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องรับมือ มี 12 ข้อ 1.โจทย์ด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ เนื่องจากเราเห็นการแข่งขันระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน และเราเห็นอิทธิพลของจีนในเอเชียตะวันออกชัดเจน ท้าทายว่า พล.อ.ประยุทธ์จะวาง position อย่างไร และไม่ถูกมองว่าเลือกข้าง

2.เหตุระเบิดใน กทม.ส่งสัญญาณถึงการสร้างความมั่นคงของเมือง คำถามคือ รัฐบาลจะลงทุนกับการรักษาความมั่นคงเมืองอย่างไร เนื่องจากช่วงที่เป็นรัฐบาลทหาร นำเงินไปลงทุนซื้อยุทโธปกรณ์ทางทหาร จนขาดการลงทุนในมิติความมั่นคงอื่น ๆ

3.โจทย์ความมั่นคงภายใน คือ ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลายปีที่ผ่านมายังไม่เห็นยุทธศาสตร์อะไรมากจากรัฐบาลทหาร รัฐบาลประยุทธ์ต้องคิดต่อจะทำอย่างไรกับปัญหาดังกล่าว

4.โจทย์ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เราเห็นสงครามการค้าเกิดขึ้นในเวทีโลก และเราเห็นภาวะถดถอยของเศรษฐกิจไทยที่ไม่มีความมั่นคง อัตราการส่งออกเริ่มติดลบ ภาวะความยากลำบากทางเศรษกิจเกิดขึ้นกับคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม

5.เมื่อเศรษฐกิจประสบปัญหามาก ๆ ส่งผลกระทบต่อชีวิตของคน ต้องระมัดระวังว่าจะไม่กลับไปเหมือนวิกฤตเศรษฐกิจไทย ตอนปีཤ

6.ปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน ที่รัฐบาลเผชิญคือความผันผวนจากสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ถ้าความขัดแย้งในสหรัฐกับอิหร่านรุนแรงมากขึ้น ถ้ามีการปิดช่องแคบฮอร์มุซซึ่งเป็นช่องทางลำเลียงน้ำมันสำคัญของโลก ผลกระทบคือการขึ้นราคาน้ำมัน

7.ปัญหาความมั่นคงด้านสุขภาพ หรือปัญหาความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเกิดฝุ่น PM 2.5 เราตั้งหลักที่จะรับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้น้อยมาก เป็นสัญญาณเตือนภัยว่ารัฐบาลต้องเริ่มคิดถึงโจทย์ดังกล่าว

8.ความมั่นคงทางการเมือง ตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย รัฐบาลผสมมักเป็นเงื่อนไขของการไร้เสถียรภาพทางการเมือง ดังนั้น ความมั่นคงทางการเมืองจะเป็นโจทย์ใหญ่ รัฐบาลอาจต้องเผชิญกับคำถามเรื่องความชอบธรรม อาจนำไปสู่การประท้วงและขยายตัวเป็นการต่อต้านรัฐบาล

9.ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ ในหลายปีที่ผ่านมาเห็นความผันผวนของอากาศ เราจะเห็นสภาวะอากาศไม่เป็นไปตามฤดูกาลที่คุ้นเคย เช่น ภัยแล้ง

10.ความมั่นคงของน้ำ เนื่องจากเผชิญกับฝนที่ตกต้องไม่ตรงตามฤดูกาล รัฐบาลต้องคิดที่จะมีมาตรการในการสร้างความมั่นคงของน้ำให้กับสังคมไทย ไม่เพียงแม่น้ำสายหลักในประเทศเท่านั้น แต่แม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศก็อยู่ในภาวะขาดน้ำไม่ต่างกัน

11.สิ่งที่ตามมาจากปัญหาขาดแคลนน้ำ คือ กระทบต่อการสร้างทรัพยากรอาหาร เช่น ข้าว ราคาสินค้าในรูปของอาหารอาจจะขึ้นราคา รัฐต้องมีมาตรการรองรับ

12.การอพยพของคน แม้เป็นเรื่องไกลตัว แต่ถ้าชนบทแล้ง จะเห็นโจทย์การอพยพเกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะมีความหวังว่าเมืองจะเป็นแหล่งของการหางาน หรือแหล่งของการมีชีวิตที่ดีกว่าศก.-การเมืองบั่นทอนรัฐบาล

แต่โจทย์ที่บั่นทอนความมั่นคงของรัฐบาลมากที่สุด ในทรรศนะของ “สุรชาติ” คือ โจทย์ความมั่นคงทางการเมือง กับความมั่นคงทางเศรษฐกิจ 2 โจทย์เป็นเหมือนคู่แฝดกัน

“คาดการณ์ได้อย่างหนึ่งว่า ไตรมาสสุดท้ายของปีེ ต่อเนื่องไตรมาส 1 ของปีཻ ภาวะเศรษฐกิจไทยน่าจะประสบปัญหามากขึ้น เชื่อว่าความชอบธรรมของรัฐบาลก็จะลดลง เพราะความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจที่ดีกับความชอบธรรมของรัฐบาลมีนัยเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน”

“ถ้าเศรษฐกิจดี โอกาสที่รัฐบาลเข้มแข็งก็มีมาก แต่ถ้าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะถดถอย ความชอบธรรมของรัฐบาลก็จะลดลงด้วยตนเอง ชนชั้นกลางบางส่วนอาจเริ่มไม่ตอบรับรัฐบาล เป็นปัจจัยคู่แฝด เพราะทั้งสองส่วนจะมีผลซึ่งกันและกัน”

“บิ๊กตู่” ในวันที่ไร้อำนาจพิเศษ 

ในยุครัฐบาล คสช. “พล.อ.ประยุทธ์” มีอำนาจพิเศษ มาตรา 44 สารพัดนึก แต่พลันที่เป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง กลายเป็นนายกฯในสภาผู้แทนราษฎร ความแตกต่างระหว่างมี-ไม่มีอำนาจพิเศษอยู่ในมือ คืออะไร

สุรชาติตอบว่า “เมื่อไม่มีอำนาจพิเศษ รัฐบาลจำเป็นต้องเดินอยู่ในกรอบกฎหมาย แต่ขณะเดียวกันในเงื่อนไขการเป็นผู้นำ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯในสภา ไม่มีอำนาจพิเศษ รัฐบาลทำอะไรจะมีข้อท้วงติง และถูกตรวจสอบ”

“และสิ่งที่เห็นชัด คือ เป็น 5 ปีที่เศรษฐกิจไทยไม่เติบโตก้าวหน้า จึงทำให้เกิดคำถามว่า รัฐบาลที่ไม่มีอำนาจพิเศษ ขีดความสามารถทางเศรษฐกิจจะมีอยู่ได้มากน้อยเพียงใด จะสามารถทำอย่างที่โฆษณาได้จริงหรือไม่ ทั้งอีอีซี ขึ้นค่าแรง ล้วนเป็นความท้าทายทั้งหมด”

รัฐบาล Transformer

ดังนั้น “สุรชาติ” ให้นิยามรัฐบาลปัจจุบันว่า เป็นรัฐบาล transformer เพราะเราเห็นรัฐบาล คสช.แปลงร่าง เป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่มาจากการเลือกตั้ง เปลี่ยนร่างเป็นอีกแบบ แต่ของจริงคือร่างเดิมเหมือนในหนัง เพราะองค์ประกอบบุคลากรหลัก ๆ ยังเป็นคนเดิม นโยบายไม่มีความใหม่อะไรมาก อาจเห็นความใหม่ของพรรคการเมืองเข้ามาเสริม แต่นโยบาย คสช.ต่าง ๆ แฝงอยู่ในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ต่างจากเดิม โดยเฉพาะอำนาจทหารยังอยู่ ยุทธศาสตร์ 20 ปี อำนาจที่ผ่าน ส.ว. รวมถึงปัญหา กอ.รมน. ที่ขยายอำนาจเป็นรัฐซ้อนรัฐ ที่เกิดขึ้นในโครงสร้างการเมืองไทย

ประยุทธ์ในหมวก 2 ใบ

ห้วงเวลาที่รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 เจอแรงเสียดทานตั้งแต่ระฆังการเมืองยกแรกดังขึ้น การเป็นนายกฯควบตำแหน่ง รมว.กลาโหม ของ “พล.อ.ประยุทธ์” มีนัยการเมืองอะไรแฝงอยู่ “สุรชาติ” ถอดรหัสว่า พล.อ.ประยุทธ์อาจต้องการความมั่นใจ เป็นหลักประกันที่สำคัญว่ารัฐบาลคุมกองทัพไว้ในมือ แล้วคนที่คุมกองทัพเป็นนายกฯ เป็นอดีตผู้นำทหาร ซึ่งในอดีตไม่ว่า นายกฯชวน (หลีกภัย) นายกฯสมัคร (สุนทรเวช) หรือนายกฯยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) ก็เป็น รมว.กลาโหม แต่ไม่มีนัยมากเท่า พล.อ.ประยุทธ์

ทำนาย 3 ตอนจบรัฐบาล

เมื่อผู้นำรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์” ลงสนามการเมืองของจริง และถูกทดสอบในเวทีแถลงนโยบาย อีกทั้งการประกาศถอนตัวร่วมรัฐบาลของพรรคเล็ก ที่ขอเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 จะอยู่ได้แค่ไหน “สุรชาติ” ย้อนประวัติศาสตร์ว่า “รัฐบาลไม่ค่อยถูกล้มโดยพรรคฝ่ายค้าน มักถูกล้มโดยแรงกดดัน แล้วจำเป็นต้องถอยออก เช่น ประเด็น ส.ป.ก.4-01 สุดท้ายรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจยุบสภา แต่เราเห็นอีกแบบหนึ่ง เมื่อรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วมีผู้นำเป็นทหาร แต่แบกไม่ไหว สุดท้ายตัดสินใจล้มกระดาน”

“แต่เชื่อว่าล้มกระดานเที่ยวนี้ไม่ง่ายเหมือนรัฐบาลจอมพลถนอม แต่ทำให้เราตระหนักว่า ผู้นำทหารอาจคุมกองทัพได้ แต่คุมสภาไม่ได้ เห็นคำตอบจากประวัติศาสตร์ไทยอย่างหนึ่ง ไม่มีผู้นำทหารคนไหนคุมสภาได้จริง”

“ยุคจอมพล ป. จบด้วยการรัฐประหาร ยุคจอมพลสฤษดิ์อาจมีข้อโต้แย้งว่า จบด้วยการเสียชีวิตในตำแหน่ง จอมพลถนอมก็จบด้วยการรัฐประหาร และเหตุการณ์ 14 ตุลา รัฐบาล พล.อ.สุจินดา เกิดเหตุใหญ่พฤษภาทมิฬ แปลว่าเราเห็นตัวแบบการจบของรัฐบาลที่มีทหารเป็นผู้นำ 3 แบบ 1.ถูกรัฐประหาร 2.ถูกล้ม 3.มีเคสเดียว คือ จบแบบผมพอแล้วของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์”

“แต่น่าสนใจว่าฝ่ายค้านในการเมืองยุคปัจจุบันจะสร้างประวัติศาสตร์ที่เปลี่ยนรัฐบาลในระบบรัฐสภาได้หรือไม่ รอบนี้ท้าทายทั้งสองฝ่าย”

รธน.สนิมเนื้อในรัฐบาล

แต่ด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบ ส.ว. 250 คน สามารถลงมติอุ้มชู พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯต่อไป จะซ้ำรอย “เปรมโมเดล” หรือไม่ ศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงกลับมองว่า นั่นคือ “จุดอันตราย”

“นั่นคือสิ่งที่ถูกออกแบบในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเลือกตั้งอย่างไร ส.ว.ก็จะโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ จุดนี้ต้องระวัง เพราะถ้าเดินแบบนี้ เรากำลังสร้างความรุนแรงสะสม แล้วภาวะความรุนแรงสะสมอย่างนี้ ที่สุดท้ายนำไปสู่เหตุการณ์ 2516 และ 2535 เมื่อรัฐบาลไม่สามารถถูกเปลี่ยนด้วยกระบวนการในรัฐสภา ก็เหลืออย่างเดียว เปลี่ยนรัฐบาลด้วยแรงบนท้องถนน เป็นปัญหาความขัดแย้งมากขึ้นต่อการเมืองไทยแน่ ๆ

“ถ้าระบบไม่มีช่องทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรเลย สุดท้ายระบบก็จะเป็นปัญหาในตัวเอง”