จอมพลสฤษดิ์ ถึง บิ๊กตู่ อาญาสิทธิ์เหนือชีวิต เศรษฐกิจ และการเมือง

นาทีนี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อยู่ในภาวะตำบลกระสุนตก จากเหตุการณ์ที่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ เปิดประเด็น “ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน” ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 161 กลางที่ประชุมการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา

เรื่องราวถูกลากมาจนกระทั่ง “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องประกาศความรับผิดชอบ เมื่อ 8 สิงหาคม 2562

“เรื่องแรกที่เป็นประเด็นสำคัญ ผมขอเป็นผู้รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว นั่นคือเรื่องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมเป็นห่วงกังวลอยู่อย่างเดียวว่าจะทำอย่างไรถึงทำงานได้ ก็หวังให้ทุกคนได้ทำงานต่อไป ต้องไปศึกษาในรัฐธรรมนูญดูว่าเขียนว่าอย่างไร อย่างไรก็ตามก็คงยังมีรัฐบาลอยู่ และไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอโทษบรรดารัฐมนตรีด้วย เพราะผมถือว่าผมได้ทำของผมเต็มที่แล้ว” 

ท่ามกลางแรงกดดันจากคนจากฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลพวกเดียวกัน ที่บีบให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ขอพระราชทานอภัยโทษ โดยขอพระบรมราชานุญาต นำ ครม.เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณใหม่ เพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกัน กดดันให้ “พล.อ.ประยุทธ์” แสดงความรับผิดชอบทางเมือง ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการโหวตเลือกนายกฯ ใหม่ ตามวิถีการเมือง set zero ทั้งกระดาน

ก่อให้เกิดเอฟเฟ็กต์การเมืองอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ ที่รัฐบาลวางแผนไว้ต้องชะงัก เพราะเหตุที่ถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน กลายเป็นภาระ “รับผิดชอบเพียงผู้เดียว” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ที่แบกไว้ เพราะหากไม่แก้ไขอาจทำให้สิ่งที่รัฐบาลทั้งรัฐบาล ดำเนินการไปแล้วถือว่าโมฆะหรือไม่

ต่างจากเจ้าของวลีต้นตำรับอย่าง “จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์” ที่อาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครอง 2502 บัญญัติเอาไว้ว่า

“ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร หรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวนหรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้น เป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย”

จอมพลสฤษดิ์ออกสารถึงประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2501 ระบุว่า “ข้าพเจ้ารับผิดแต่ผู้เดียว โดยจะต้องปฏิบัติการไปตามแนวนโยบายซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าถูกที่สุด เพื่อความผาสุกของพี่น้องทั้งหลายร่วมกัน ขอได้โปรดกรุณารับทราบตามนี้ไว้ด้วย”

ด้วยอาญาสิทธิ์ มาตรา 17 “ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว” ของ “จอมพลสฤษดิ์” แผลงฤทธิ์ สั่งประหารผู้ต้องหาคดีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ คดีเพลิงไหม้ คดียาเสพติด แบบรวบรัด ไม่ต้องฟ้องร้องขึ้นศาลไต่สวนพิจารณาคดีตามกระบวนการยุติธรรมปกติ 11 ราย

นอกจากนี้ ยังทำให้ “จอมพลสฤษดิ์” สามารถกระชับอำนาจเชิงบริหารการเมือง-เศรษฐกิจ อยู่มือ อันดับแรก ประกาศยกเลิกพรรคการเมือง ต่อมา กวาดต้อนศัตรูที่เป็นภัยความมั่นคง แล้ววางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา กระทั่งได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศฉบับที่ 1

สร้างสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน กระจายทั่วทั้งในเมืองและชนบท เรียกว่า “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก” อาทิ สร้างถนนพหลโยธิน จากกรุงเทพฯขึ้นไปจดพรมแดนแม่สายในภาคเหนือ มีถนนเพชรเกษม จากกรุงเทพฯไปใต้สุดเขตแดนที่ยะลา มีถนนมิตรภาพจากสระบุรีไปจดพรมแดนฝั่งแม่น้ำโขงที่หนองคาย

ขยายมหาวิทยาลัยออกต่างจังหวัด อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ขยายการศึกษาภาคบังคับจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เป็นชั้นประถมศึกษาปีที่ 7

ด้านพัฒนาอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น หลังปฏิวัติ 4 ปี ไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 27,779 โรง เทียบกับก่อนการปฏิวัติปี 2500 ที่มีอยู่ 7,086 โรง ด้านการเงินการคลังแก้ไขปัญหาดุลการค้า ซึ่งขาดทุนอยู่ในปี 2503 จำนวน 1,008 ล้านบาท ลดเหลือ 287 ล้านบาทในปี 2504 สินค้าส่งออกในปี 2504 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 9,969 ล้านบาท สูงกว่าปี 2503 ซึ่งส่งออกปีละ 8,614 ล้านบาท ถึง 1,355 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม “นิธิ เอียวศรีวงศ์” นักวิชาการประวัติศาสตร์ ซึ่งมีงานวิจัยในหัวข้อ “การพัฒนาสมัยจอมพลสฤษดิ์” ของภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ มองการพัฒนาในยุคจอมพลสฤษดิ์อย่างน่าสนใจ

“การพัฒนา หรือนโยบายพัฒนา เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ระบอบเผด็จการทหาร อันเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของมหาอํานาจตะวันตก ซึ่งเผด็จการทหารไทยต้องพึ่งพา ในขณะเดียวกันก็ทำลายฐานทางเศรษฐกิจของศัตรูทางการเมือง ซึ่งอยู่ที่รัฐวิสาหกิจลงด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้ประชาชนทั่วไปยอมรับอํานาจเผด็จการ เพราะนึกว่าเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับการทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว”

คำว่า “รับผิดชอบเพียงผู้เดียว” จึงกลายเป็นเส้นขนานวาทกรรมจาก “จอมพลสฤษดิ์” ถึง “พล.อ.ประยุทธ์” ที่มีผลลัพธ์ต่างกันคนละทาง