“ไพบูลย์” Effect ทิ้งพรรคในไส้ เปิดทาง “พปชร.” ดูดพรรคจิ๋ว เพิ่มเสียงหนุนรัฐบาล

ทันทีที่ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ปฏิบัติการสายฟ้าแลบ ประกาศสลายพรรคประชาชนปฏิรูป ทิ้งลูกในไส้ขอร่วมก๊วนพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคแกนนำตั้งรัฐบาล

“ไพบูลย์” เตรียมหาจังหวะซบ พปชร.ตามที่ลั่นวาจาไว้ทันที เมื่อ กกต.อนุมัติการยุบพรรค เมื่อ 26 ส.ค.

ซึ่ง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ซึ่งพี่ใหญ่ “บูรพาพยัคฆ์” ไม่ขัดข้อง

หากแต่ปฏิบัติการสายฟ้าแลบของ “ไพบูลย์” อาจสร้างแรงกระเพื่อมทางกฎหมายตามมา ทางหนึ่งเป็นไปตามที่ “สมชัย ศรีสุทธิยากร” อดีต “กรรมการการเลือกตั้ง” วิเคราะห์การ “สลายพรรค” ของ “ไพบูลย์”

โดยยก พรป.พรรคการเมืองมาตรา 91 ซึ่งสามารถขอยุบพรรคได้ ตามมติของคณะกรรมการบริหารพรรค ที่เห็นว่าไม่สามารถบริหารจัดการภายในพรรค เช่น มีหนี้สิน และไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของ พรป.พรรคการเมือง (มาตรา 91 วรรคหนึ่ง) จึงได้ยื่นยุบต่อ กกต.

ซึ่งเมื่อพรรคถูกยุบแล้ว ส.ส.ยังมีสถานะความเป็น ส.ส.อยู่ โดยจะต้องหาพรรคใหม่สังกัดภายใน 60 วัน (ตามมาตรา 91 วรรคสี่) แต่จะมีปัญหาที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งมาจากคะแนนรวมทุกเขตของทั้งประเทศ ที่ถูกนำมาคำนวณเป็นจำนวน ส.ส.พึงมี

“ส่วนตัวเห็นว่าหากยุบพรรคของนายไพบูลย์แล้ว จะต้องนำคะแนนของพรรคประชาชนปฏิรูปกว่า 45,000 คะแนนลบออก และนำไปคำนวณใหม่ ซึ่งนายไพบูลย์สามารถไปสังกัดเฉพาะพรรคที่ได้ ส.ส.พึงมีเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า นายไพบูลย์ต้องการจะไปอยู่พรรคนั้นหรือไม่ และพรรคนั้นจะยอมรับนายไพบูลย์หรือไม่ หากไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ”

และการย้ายพรรคของ “ไพบูลย์” อาจเป็น “โมเดล” ให้พรรค พปชร.ดูดพรรคเล็กพรรคน้อย 10 พรรค สลายตัวเข้าไปอยู่ใต้ร่ม พปชร.เช่นเดียวกัน

อีกทางหนึ่ง เป็นมุมที่ฝ่ายเพื่อไทยวิเคราะห์ไปไกลกว่า “สมชัย” มองว่าโมเดลการประกาศสลายพรรคของ “ไพบูลย์” มีเบื้องหลังมากกว่าความต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ พปชร. เพิ่มจำนวนเสียงในสภาให้ฝ่ายรัฐบาล

เป็นปฏิบัติการ “นำร่อง” โดยให้ “ไพบูลย์” เป็นตัว “เปิดเกม ทดลองระบบรัฐธรรมนูญ” โดยใช้สูตร 50 แลก 1

“นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว” ส.ส.น่าน หัวหอกในสภาของเพื่อไทย วิเคราะห์ว่า เรื่องนี้ต้องมีคนร้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแน่ ถ้าศาลมองว่าทำได้ ก็จะเป็นโมเดลให้พรรคอื่นทำตาม แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าย้ายพรรคทำไม่ได้และยุบพรรค คะแนนของพรรคประชาชนปฏิรูป 4.5 หมื่นคะแนนก็หายไป แต่รัฐธรรมนูญยังคุ้มครองการเป็น ส.ส.ของนายไพบูลย์ ปัญหามีว่า ถ้านายไพบูลย์เป็น ส.ส.เขต เมื่อพรรคยุบจะไปอยู่พรรคไหนก็ได้ไม่มีปัญหา

แต่กรณีนี้นายไพบูลย์เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ เมื่อพรรคถูกยุบไปแล้ว คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 4.5 หมื่นคะแนนต้องหายไปด้วย จากนั้น กกต.ต้องคำนวณสูตรใหม่ แล้วดูว่าพรรคไหนจะได้ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มขึ้น ซึ่งนายไพบูลย์อาจไม่ได้ไปอยู่กับ พปชร.ตามที่ต้องการ และหากไปอยู่พรรคอื่นจะทำอย่างไรกับ waiting list ที่จ่อจะได้เป็น ส.ส.ของพรรคการเมืองนั้น นายไพบูลย์อาจไม่ได้เป็น ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเสียงหายไป 1 เสียง

ชอตต่อมาก็จะเข้าทางที่จะยุบ “พรรคอนาคตใหม่” ซึ่งมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 50 เสียง เพราะเมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบพรรค แม้รัฐธรรมนูญจะคุ้มครอง ส.ส.พรรคที่ถูกยุบให้หาพรรคใหม่ภายใน 60 วัน ในกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ตั้งพรรคใหม่สำรอง ก็จะไปอยู่พรรคใหม่ได้เฉพาะ ส.ส.เขตจำนวน 31 คนเท่านั้น คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคจำนวน 6 ล้านคะแนนก็ต้องหายไปด้วย จากนั้น กกต.จะคำนวณคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ใหม่ ส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 50 คนของพรรคอนาคตใหม่ ก็ไปสังกัดพรรคไหนไม่ได้เลย และหลังจาก กกต.คำนวณคะแนนใหม่ พรรคฝ่ายรัฐบาลจะได้ส่วนต่าง ส.ส.มากกว่าฝ่ายค้านประมาณ 40 เสียง

“นพ.ชลน่าน” วิเคราะห์กลเกมครั้งนี้ว่า ทั้งหมดอาจเป็นเหตุผลที่อยู่ดี ๆ นายไพบูลย์ออกมาเปิดเกมแบบนี้ โดยทั้งกระบวนการจะต้อง “รวบรัด” ทำให้เสร็จภายใน 1 ปีหลังเลือกตั้ง

ฝั่ง “ไพบูลย์” ไม่เห็นด้วยกับข้อวิเคราะห์ทั้งปวง เชื่อว่าการซบ พปชร.ถูกต้องหาช่อง ร้องศาลรัฐธรรมนูญได้ยาก

หากย้อนการเปิดเกมของ “ไพบูลย์” จะพบสถิติที่พออนุมานได้ว่า “ไม่ธรรมดา”

เพราะเขาเป็นผู้เปิดเกมร่างคำฟ้อง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกฯ โยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยมิชอบ ที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ “ยิ่งลักษณ์” พ้นตำแหน่งนายกฯรักษาการในปี 2557

เป็นผู้เปิดเกมให้ “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ต่อ โดยในเดือนสิงหาคม 2559 เขาก็ตั้งพรรคเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อในนาม “พรรคประชาชนปฏิรูป”

ระหว่างนั้นเขายังเป็นหัวขบวนสำคัญที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล ดำเนินการเอาผิดพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

หลังพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) สร้างปรากฏการณ์วันที่ 8 ก.พ. เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯต่อ กกต. ให้หลัง 2 ชั่วโมง ไพบูลย์ยื่นยุบ ทษช.ในข้อกล่าวหาทำผิดระเบียบหาเสียงและ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ที่สุด ทษช.ถูกยุบ

จากนักธุรกิจการเกษตร ผันตัวมาอยู่ในการเมือง โดยเรียนหลักสูตรในสถาบันพระปกเกล้า จนได้รู้จักคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา หรือ “คุณหญิงเป็ด” สมัยที่เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ก่อนรับหน้าที่เป็น “มือกฎหมาย” ของคุณหญิงเป็ด 

“ไพบูลย์” ขยับเข้าใกล้ศูนย์กลางอำนาจมากขึ้น เมื่อได้เป็นกรรมการบอร์ดทีโอที หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และได้เป็นที่ปรึกษา “วิชัย ชื่นชมพูนุท” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

ก่อนได้รับการสรรหาให้เป็น ส.ว.สรรหา ปี 2551 อยู่ในกลุ่ม 40 ส.ว.นับแต่นั้น เขาไม่เคยตกขบวน และยังเปิดเกมสำคัญทำให้แผ่นดินการเมืองสะเทือนหลายครั้ง