สภาปิดเทอม-ส.ส.พักรบ เคลื่อนไหวนอกสภา หาเสียงแก้รัฐธรรมนูญ

การเมืองในสภาผู้แทนราษฎรจะ “พักยก” ชั่วคราว ภายหลังฝ่ายค้านจบภารกิจ “ซักฟอก” แบบไม่ลงมติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากปมถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ บวกแถลงนโยบายโดยไม่แจกแจงที่มางบประมาณ เมื่อช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 18 ก.ย.

เพราะถึงคิวที่ “ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร” ยาว 43 วัน กว่าจะเปิดสมัยประชุมอีกที 1 พ.ย. 2562-28 ก.พ. 2563

เพราะตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมัยประชุมละ 120 วัน โดยสมัยประชุมแรก คือ ครั้งที่ 1 หลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 เริ่มต้น 22 พ.ค. เมื่อนับ 120 วัน ก็จะตรงกับ 18 ก.ย.พอดี

แต่ใช่ว่านักการเมืองจะหยุดเคลื่อนไหว เพราะแต่ละขั้วการเมืองวางคิวนอกสภา-ติดปลายนวมลงพื้นที่แฝงหาเสียงไว้แน่นเอี้ยด เริ่มจาก 7 พรรคฝ่ายค้าน 246 เสียง ประกอบด้วย เพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย ประชาชาติ พลังปวงชนไทย เศรษฐกิจใหม่ และเพื่อชาติ จัดคิว “ฝ่ายค้านสัญจร” พบประชาชน 4 ภาค ออก-กลาง-เหนือ-ใต้

ยังเหลืออีก 2 แมตช์ที่ต้องลงพื้นที่ช่วงปิดสมัยประชุม คือ ภาคกลางและภาคตะวันออก ที่ จ.ฉะเชิงเทรา วันที่ 21-22 ก.ย. ภาคใต้ จ.ยะลา-ปัตตานี วันที่ 28-29 ก.ย. 2562 หลังจากยกขบวนไปจัดครั้งแรกที่เชียงใหม่
ครั้งที่สองที่มหาสารคาม

วาระหน้าม่านนอกจากเปิดเวทีรับฟังความเดือดร้อนของชาวบ้าน แต่ละโซนที่กรีธาทัพลงไป ยังเซตวาระปลุกการแก้ไขรัฐธรรมนญนอกสภา ผ่านการ “จัดเวที” ชำแหละข้อเสียรัฐธรรมนูญ โดยมีแกนนำพรรคฝ่ายค้าน 7 พรรค หมุนเวียนกันพูดในแต่ละจังหวัด

“สุทิน คลังแสง” ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย-ประธานวิปฝ่ายค้าน ระบุถึงแผนการแก้รัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องช่วย ต่อไปนี้อย่าปล่อยให้ 7 พรรคฝ่ายค้านแก้ไขอย่างเดียว ชาวบ้านต้อ’เสนอฉบับชาวบ้าน แก้ไขได้ ลงชื่อ 50,000 คนเสนอได้

“ถ้า 7 พรรคฝ่ายค้านเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องช่วยกันแก้ไข หากไม่กลัวการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จแน่นอน ยืนยันเปิดสมัยประชุมรัฐสภาในเดือน พ.ย.เมื่อไร จะพิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญทันที”

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญจะกลายเป็นวาระสำคัญทันทีที่เปิดสมัยประชุมสภาครั้งที่ 2 ภายหลัง ที่ประชุมสภามีมติเอกฉันท์ 436 ต่อ 0 ให้เลื่อนลำดับญัตติที่เกี่ยวกับการตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ขึ้นมาพิจารณาในสมัยประชุมหน้าช่วงเดือน พ.ย.

มีรายงานจากเพื่อไทยว่า เตรียมประชุมพรรคนอกรอบหลังจากปิดสมัยประชุมสภาทันที เพื่อหารือแนวทางการแสวงหาความร่วมมือจากประชาชนในการ “ผลักวาระแก้รัฐธรรมนูญ”

รวมถึงการตั้งสาขาพรรค ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดให้ครบทุกจังหวัด รองรับการเลือกตั้งในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นปัจจุบันทันด่วน

สอดคล้องกับ “ชำนาญ จันทร์เรือง” รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่บอกว่า งานหลักของ อนค.ช่วงปิดสมัยประชุม เน้นร่วมทริปสัญจรกับพรรคฝ่ายค้าน

ฟากซีกรัฐบาล “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานวิปฝ่ายรัฐบาลระบุว่า หลังจากปิดสมัยประชุมสภาแล้ว จะมีการสัมมนาพรรคว่าจะทำอย่างไรในช่วงปิดสมัยประชุมสภา

“ส.ส.ส่วนใหญ่จะลงพื้นที่แต่ที่ตนรับผิดชอบ ยืนยันว่าไทม์ไลน์ของพรรคไม่มีเวลาหายใจ เพราะ ส.ส.ต้องลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วมเป็นหลัก ส่วนประเด็นร้อนอย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ใช่เรื่องหลัก ยังมีเวลา ไม่ด่วนเท่าน้ำท่วม”

“ราเมศ รัตนชะเวง” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า โครงการยังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรค แต่จะเป็นเรื่องจัดประชุมคณะกรรมการสาขาพรรคต่าง ๆ  เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เต็มรูปแบบ

ส่วน กมธ.สามัญ 35 คณะ ที่เป็นกลไกตรวจสอบฝ่ายบริหาร บางคณะเริ่มจัดวาระประชุมในช่วงปิดสมัยประชุม โดยเฉพาะ กมธ.ที่มีประธานอยู่คนละซีกกับฝ่ายรัฐบาล เริ่มวางกรอบการทำงานเชิงตรวจสอบฝ่ายบริหารแล้ว เช่น คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ

“ไชยา พรหมมา” ส.ส.หนองบัวลำภู พท. ในฐานะประธาน กมธ.ระบุว่า มีการคุยกันคร่าว ๆ 3 แนวทาง 1.ยึดนโยบายการทำงานเชิงรุก 2.ศึกษาเรื่องต่าง ๆ 3.ประเด็นที่รับร้องเรียน

“เน้นตรวจสอบเมกะโปรเจ็กต์ โครงการสำคัญ ๆ ที่กระทบต่อประเทศ เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3.1 แสนล้าน การจัดทำการศึกษา ติดตามงบประมาณ ครอบจักรวาล กระตุ้น ทุกสัปดาห์ เพราะสภาปิด”

ขณะที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธาน กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ระบุว่า อาจจะนำเรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส เข้าสู่การตรวจสอบของ กมธ.เป็นงานแรก จะเชิญ ร.อ.ธรรมนัสมาให้ข้อมูลทั้งเรื่องคุณสมบัติและวุฒิการศึกษาปลอม

สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย รองประธาน กมธ.ปกครอง คนที่ 1 กล่าวว่า วาระเร่งด่วนจะเสนอให้ กมธ.ปกครองลงพื้นที่ช่วยเหลือน้ำท่วมในภาคอีสาน


นักการเมืองยังลงพื้นที่ ขับเคลื่อนวาระการบ้าน-การเมือง แม้ปิดเทอมชั่วคราว