นพ.สุรพงษ์ : สืบทอดมรดก 30 บาท วิกฤตเศรษฐกิจ คือ โดมิโนล้มรัฐบาล

สัมภาษณ์พิเศษ โดยณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

การเมืองอยู่ในชีวิตและเลือดเนื้อของ “นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี” หรือ “หมอเลี๊ยบ” มาตั้งแต่ 40 ปี ก่อนหน้า

17 ปีก่อน เขาคือรัฐมนตรีว่าการและรองนายกรัฐมนตรี “ผู้ร่วมสร้างตำนาน 30 บาท รักษาทุกโรค”

12 ปีก่อน เขาถูกแยกทางจากผู้นำสูงสุดกลางกรุงนิวยอร์ก หลังรัฐประหารผ่านไป 12 ชั่วโมง

3 ปีก่อน เขาถูกพิพากษาจำคุกจากพิษการเมืองในคดีแปลงสัมปทานสัญญาดาวเทียม เอื้อประโยชน์บริษัทชินคอร์ป

1 ปีก่อน เขาได้รับอิสรภาพและปรากฏตัวในฐานะพิธีกรรายการโทรทัศน์

3 เดือนก่อน อาจจะเป็นฐานะอดีต 1 ในแก๊งออฟโฟร์ เขาถูกทาบทามจาก “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ร่วมงาน “พัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ 30 บาท รักษาทุกโรค…อีกครั้ง

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “นพ.สุรพงษ์” หลังเป็นผู้กล่าวปาฐกถา 43 ปี 6 ตุลา ในหลายวาระแห่งชีวิต บทเรียนอดีตและอนาคตการเมืองของเขา

@ คดี-ชีวิตที่เลือกเอง

“นพ.สุรพงษ์” เริ่มถ่ายทอดบทเรียนชีวิตว่า การเข้าไปอยู่ในเรือนจำไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ที่ทำให้เกิดทุกข์ เพราะบทเรียนทำนองนี้ มาในรูปแบบต่างกัน เจอมาตลอดเวลา

“แต่บทเรียนส่วนตัวที่เจอหนักๆ คือตอนที่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ ถามกับตัวเองเหมือนกันว่าชีวิตมาถึงตรงนี้ได้อย่างไร แต่ตอบกับตัวเองได้ไม่ยากว่า นี่แหละ คือชีวิตที่เราเลือกเอง เลือกกระโดดมาในวงการเมือง”

คดีแรกที่ “หมอเลี๊ยบ”  ต้องเผชิญตกเป็นจำเลยคือ “คดีหวยบนดิน” อันเป็นผลกระทบแทรกซ้อนจากการรัฐประหารปี 49

“คณะรัฐมนตรีทั้งคณะโดนฟ้อง เป็นคดีแรกที่มีชื่ออยู่ในนั้นกลายเป็นจำเลย 40-50 คน ความรู้สึกอบอุ่นมีอยุ่บ้าง ไม่โดดเดี่ยว สู้กันเหงาๆ แต่เริ่มรู้สึกว่าการเมืองคงไม่เหมือนเดิมที่เคยคิดอีกต่อไปแล้ว”

“กระทั่งเรื่องการยึดทรัพย์อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร มีการพิจารณาคดีต่างๆ โดยเฉพาะผู้เกี่ยวข้องด้วย ก็รู้ว่าตกอยู่ในข่ายให้ข้อมูลปากคำ เพราะตอนที่อ่านคดีของอดีตนายกฯ มีเรื่องที่ผมเกี่ยวข้อง จนปี 2556 – 2557 เริ่มมีการชี้มูล (โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) ตอนนั้นยังไม่กังวลอะไร เพราะมีเอกสารหลักฐาน ข้อเท็จจริงประกอบกัน และรู้ตัวเราดีว่าการตัดสินใจในแต่ละเรื่อง ไม่เอื้อผลประโยชน์ใคร”

“เพียงแต่ระหว่างการสู้คดีมีการรัฐประหาร 2557 เกิดขึ้น และบรรยากาศดูค่อนข้างตึงเครียด มีคดีศาลทหารเกิดขึ้นมากมาย จึงกังวลอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มาก เมื่อสู้คดีไป แต่ก็เผื่อใจไว้ ถ้ามองว่าเราไม่เข้าใจการเมือง ไม่ประสีประสา เราอาจคิดว่าเราเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง แต่ถ้าเราเข้าใจการเมือง นี่เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว”

@ เข้าใจการเมือง จึงรู้อนาคต

“การที่เราบอกว่าเป็นเหยื่อหรือเปล่า เราคิดว่าเราเป็นเหยื่อ แต่คนอื่นอาจไม่คิดก็ได้ เมื่อเราเป็นผู้เล่นในการเมืองระบบแบบนี้ แน่นอน มีโอกาสอยู่แล้วที่ต้องตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้ง ถ้าอยู่ในวงนอกก็อาจไม่รู้สึกอะไร เสรีภาพในการเมืองความคิดเห็นอาจไม่เหมือนเดิม แต่เมื่อเป็นผู้เล่นแล้วความขัดแย้งเกิดขึ้น ปะทุรุนแรงถึงขั้นประนีประนอมไม่ได้ ดังนั้น ตัวผู้เล่น อาจได้รับผลกระทบ”

“ถ้ามองว่าเราไม่เข้าใจการเมือง ไม่ประสีประสา เราอาจคิดว่าเราเป็นเหยื่อของความขัดแย้ง แต่ถ้าเราเข้าใจการเมือง นี่เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปทุกข์กับมัน เพราะสุดท้ายเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ เมื่อคาดการณ์ได้ก็เตรียมใจเผื่อเอาไว้”

“ถ้าเราศึกษาจากประวัติศาสตร์ประเทศอื่น ก็จะมีระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านแบบนี้เหมือนกัน ไม่ว่า เอเชีย หรือ ยุโรป ช่วงระยะเปลี่ยนผ่านองค์ประกอบสังคมสองฝั่งจะถูกทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่มีองค์ประกอบไหนที่เป็นอิสระทำอะไรเหนือความขัดแย้งได้ จะถูกดึงเข้ามาหมด ไม่ว่า เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ตุรกี ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติอย่างนี้ก็ไม่ต้องไปกังวลกับมัน เป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน”

“ผมถือว่าเราเคารพในกระบวนการยุติธรรม แต่ถามว่าเรามีสิทธิไม่เห็นด้วยไหม… เรามีสิทธิ แต่เมื่อมีคำพิพากษาอย่างไรเราก็ยอมตามคำพิพากษานั้น แต่จะเห็นด้วยทั้งหมดหรือไม่ก็อยู่ที่ตัวเราเองว่า ข้อเท็จจริงเราทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ผมพูดอยู่เสมอ ตอนที่ออกมาจากเรือนจำว่า แม้แต่วันนี้เงยหน้าก็ไม่อายฟ้า ก้มหน้าก็ไม่อายดิน เจอหน้าทุกคนได้อย่างเต็มตา ไม่เห็นต้องอายใคร ทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นไร เราเคารพกติกา ก็เดินหน้าไป ภายใต้บรรยากาศอย่างนั้น อยู่เรือนจำให้มีความสุขที่สุด”

@ บรรลุสมาธิในเรือนจำ

นพ.สุรพงษ์ เล่าชีวิตในเรือนจำว่า “เข้าไปอยู่คืนแรก แน่นอนแปลกถิ่น แปลกที่ นอนไม่หลับ ตั้งคำถามว่ามาอยู่ในนี้ได้อย่างไร แต่เมื่อต้องอยู่ก็ถามกับตัวเอง 3 ข้อ 1.ยังนับถือตัวเองได้ไหม…ก็ตอบกับตัวเองเต็มปากเต็มคำว่า..ได้ สู้หน้าใครได้ ไม่กลัว

2.ถ้าต้องอยู่ในนี้ 1 ปี จะอยู่อย่างสุขหรือทุกข์ เป็นเรื่องของใจเราเอง ยังไงก็ต้องอยู่ ก็ต้องอยู่อย่างมีความสุข ตัดสินใจว่าจะไม่ทุกข์ นี่คือโอกาสในการเรียนรู้ชีวิตรูปแบบหนึ่ง ซึ่งธรรมดาอาจไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ เป็นชีวิตที่มีแต่คนเขียนให้อ่าน พูดให้ฟัง แต่นี่ เข้ามาได้เจอบรรยากาศจริงๆ

3.เมื่อจะอยู่อย่างสุข จะใช้ชีวิตใน 1 ปีข้างหน้าให้มีประโยชน์ต่อตัวเราเองให้มากที่สุดได้อย่างไร ก็ทำทุกอย่างที่ก่อนหน้านี้ไม่มีโอกาสได้ทำ เช่น เมื่อก่อนนี้อาจไม่มีเวลาอ่านหนังสือ ทำอะไรที่อยากจะทำ เช่น ทำสมาธิ อ่านหนังสือมีหนังสือในห้องสมุดมากมาย แม้ไม่ครอบคลุมทุกสิ่งที่อยากอ่าน แต่ก็มีไม่น้อยที่ไม่เคยอ่าน ก็ตะลุยอ่านตลอดเวลา มีเวลาเหลือเฟือ”

“มีโอกาสได้ฝึกทำสมาธิ ปี 2559 ก่อนหน้าที่จะมาอยู่ในเรือนจำ ก็มีโอกาสไปเรียนรู้การทำสมาธิสั้นๆ ง่ายๆ แต่ไม่เคยทำได้เลย พระอาจารย์ที่ไหนสอนการทำสมาธิไปมาหมด แต่ไม่เคยเข้าถึงสมาธิ จิตใจบอกให้นั่ง ให้หลับตา มันแว่บไปแว่บมาตลอด เรียนทุกทฤษฎีมาหมด แต่ไม่เคยได้ เป็นโอกาสดีที่ในนั้นมีการฝึกอบรมสมาธิเต็มๆ 1 เดือน ของหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร”

“พูดได้เต็มปากว่าผมเข้าใจสมาธิจริงๆ ในนั้น  เพราะทำให้ด้วยบรรยากาศมันถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ไม่มีอะไรทำให้เราคิด กังวล ชีวิตมีแค่นั้น ตื่นขึ้นมาออกกำลังกาย ทำงานที่รับผิดชอบเสร็จแล้ว ถ้าไม่มีอะไรทำก็นั่งเล่นไปเรื่อยๆ ถึงเวลากินข้าวเที่ยง บ่ายๆ ก็เข้าเรือนนอน ชีวิตถ้าเปรียบเทียบเหมือนมาเปลี่ยนสถานที่ปลีกวิเวกจริงๆ ไปไหนไม่ได้ อาจจะขาดเสรีภาพบางด้านแค่นั้น”

@ ไม่มีคอนเน็กชั่นพิเศษ

ระยะหลังคนการเมืองเกือบทุกขั้ว หลายคนทยอยเข้าไปรวมกันในเรือนจำได้ละลายความขัดแย้ง สานคอนเน็กชั่นระดับ “วีไอพี” แต่เขาไม่มีประสบการณ์เช่นนั้น “เข้าไปไม่รู้จักใครเลย วันที่เข้าไปวันแรก ผมเข้าไปโดยที่งงๆ เพราะเจ้าหน้าที่แต่ละคนผมก็ไม่รู้จัก ไปเจอผู้ต้องขังคนหนึ่งเจอผมคนหนึ่ง พาไปอาบน้ำและกินข้าวเย็น พาไปแวะเวียนเจอผู้ต้องขังรายอื่น ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการ อดีตนักธุรกิจ ซึ่งผมก็ไม่เคยเจอ หรือ รู้จักกันเป็นส่วนตัวข้างนอก แต่ไปเจอกันข้างในนั้น แล้วทำความรู้จักกันในนั้น และมีกลุ่มก้อนที่ได้รู้จักพูดคุยกัน ใช้เวลาว่างอยู่ตรงนั้น”

“แม้แต่คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ก็ไม่เคยเจอกันมาก่อน ไปเจอครั้งแรกในเรือนจำกรุงเทพ เขาเข้ามาทัก รู้แต่ว่าหน้าตาแบบนี้คือสมยศ แต่ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว หรือ ทอม ดันดี คนที่เคยเจอกันข้างนอกจริงๆ คือ คุณจตุพร (พรหมพันธุ์) ซึ่งตามเข้าไปทีหลัง หลังจากนั้นมีคนอื่นๆ ที่เจอข้างนอกตามเข้าไปบ้าง เช่น อริสมันต์ (พงศ์เรืองรอง)”

“รุ่นตอนที่ผมอยู่ไม่ค่อยมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เจอกันแป๊บๆ คือ ไทกร พลสุวรรณ ซึ่งต้องมาขึ้นศาลที่ กทม. จึงมาอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เจอกันที่นั่น”

@ ทุกพรรคอยากได้มรดก 30 บาท

แม้ต้องโทษคดี ถูกจองจำอยู่เกือบ 1 ปีเต็ม จากที่ศาลฎีกาฯ ตัดสินความผิดทุจริตเชิงนโยบาย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า “นพ.สุรพงษ์” คือฟันเฟืองสำคัญของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการระดับตำนานของพรรคไทยรักไทย เป็นมรดกที่ทุกพรรคการมืองต้องการ

“ใช่… ทุกคนอยากมีตำนานอย่างนี้ พรรคการเมืองทุกพรรคต้องการจำ เป็นตำนานไปตลอด ไม่ได้หมายความว่าสมบูรณ์แบบชนิดไม่ต้องต่อยอด แต่มันเป็นจุดเริ่มต้น เมื่อเกิดจุดเริ่มต้น การที่พรรคการเมืองหนึ่งสร้างนโยบายขึ้นมาแล้วเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงชีวิตคน แน่นอนต้องได้รับการยอมรับ แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองอื่น ที่มาเป็นรัฐบาลในยุคต่อมาจะทำอะไรกับมันไม่ได้ ก็สามารถมาต่อยอดและบอกว่า นี่ไง..ในยุคของเราสิ่งที่ได้เริ่มต้นแล้ว อาจจะยังไม่สมบูรณ์ เราได้ทำให้สมบูรณ์ขึ้น  พรรคใหม่ๆ อาจเป็น chapter ใหม่ของตำนานนี้ แล้วพ่วงตำนานนี้ไปได้ เขาสามารถบอกได้เต็มปากว่าในยุคของเราทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทันสมัยมาก แก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดความขลุกขลัก แออัด การใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพขึ้นมาให้เห็นชัดเจน ก็สามารถพูดได้เต็มปากเต็มคำ”

@ เศรษฐกิจ- การศึกษา สร้างตำนานใหม่

เมื่อถามว่า นักการเมืองที่ควรโฟกัสโครงการอะไรที่ทำแล้วเป็นตำนานใน chapter ปัจจุบัน “นพ.สุรพงษ์” ตอบว่า “การศึกษาการศึกษา ใช้งบประมาณปีหนึ่ง 5 แสนล้านบาท มากกว่าโครงการ 30 บาท 3 เท่าตัว ซึ่งใช้งบ 1.6 – 1.7 แสนล้านบาท แต่เกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาของเรา งบประมาณอย่างนี้ควรทำอะไรให้เกิดประสิทธิภาพแน่ ทำไมเด็กเราถึงเรียนรู้ได้ยาก”

“กลับมาสู่คำถามว่าต้องปฏิรูปกระทรวงศึกษาธิการครั้งใหญ่ ให้โรงเรียนกลับไปเป็นของครู และคืนโรงเรียนให้พ่อแม่ คืนครูให้นักเรียน คืนโรงเรียนให้พ่อแม่ เพราะพ่อแม่ทุกคนย่อมอยากให้ลูกตัวเองเรียนโรงเรียนที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เขามีความเป็นเจ้าของอยู่แล้ว ดังนั้น ทำไมต้องให้โรงเรียนอยู่ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการโดยที่พ่อแม่เข้าไปยุ่งอะไรไม่ได้เลย”

“ถ้าเปรียบเทียบกับปรัชญาด้านสุขภาพ ก่อนหน้านี้มีความเชื่อว่า เมื่อเจ็บป่วยต้องไปหาหมอ ไม่เจ็บป่วยก็ต้องไปหาหมอ แต่เมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้วมีแนวคิดว่า สุขภาพไม่ใช่เรื่องของคนอื่น แต่เป็นเรื่องของเราเอง สุขภาพที่ดีอยากได้ต้องสร้างเอง ดังนั้น ความรู้สึกวันนี้ทุกคนต้องดูแลสุขภาพของตัวเอง ฉันใดก็ฉันนั้น วันนี้พ่อแม่เลี้ยงลูกตั้งแต่เกิดจนถึงวัยเรียน แต่พอถึงวัยเรียนลูกเป็นเรื่องของครู ทำไมปล่อยให้เป็นเรื่องของครู ทั้งที่พ่อแม่ควรจะเลี้ยงลูกได้ดีและใสใจได้ดีกว่า”

“แต่ทุกวันนี้พ่อแม่เข้าไปยุ่งโรงเรียนไม่ได้ ทำไมยุ่งไม่ได้ ดังนั้นควรปลดปล่อยโรงเรียนให้พ่อแม่มีส่วนร่วมพัฒนาโรงเรียนของตัวเอง มีตัวอย่างหนึ่งที่เคยได้ยิน เป็น โรงเรียนแถวนครราชสีมา ถูกปล่อยทิ้งแล้ว ยังไงก็หมดหวัง แต่โชคดีที่คนในชุมชนนั้นมีความรู้สึกขึ้นมาว่า เมื่อกระทรวงศึกษาฯ ไม่สนใจโรงเรียนของเรา เราก็มาทำโรงเรียนให้มาอยู่ในชุมชนของเราให้ดีขึ้นด้วยตัวของเราเอง โชคดีมีคนช่วยใส่เรื่องงบประมาณ และช่วยใส่ input อีกหลายอย่าง ปรากฏว่าต่อมาโรงเรียนนั้นได้รับรางวัลดีเด่น แล้วกระทรวงศึกษาฯ มาบอกว่าเป็นผลงานของกระทรวง”

“เป็นตัวอย่างอีกมากมาย ที่คิดว่าถึงเวลาหรือไม่ ที่คืนโรงเรียนให้พ่อแม่ผู้ปกครองมาบริหารจัดการ เช่นโรงเรียนนานาชาติกรุงเทพ (International School Bangkok : ISB) ที่ กทม. คนที่บริหารโรงเรียนคือคณะที่มาจากผู้ปกครอง บริหารงบประมาณ จ้างครูใหญ่ จ้างครู เขาก็จะรู้เองว่าลูกที่เรียนอยู่ต้องการอะไร และผมเชื่อว่าในต่างประเทศโรงเรียนถูกกระจายไปอยู่ท้องถิ่น เมือง ไม่ใช่ของกระทรวงศึกษาฯ”

“หลังจากนั้น พ่อแม่จะเป็นคนบอกว่าครูคนนี้เหมาะสมหรือไม่ ที่สอนลูกของเรา หลักสูตรแบบนี้เหมาะสมไหมที่ลูกเราจะเรียน ครูไม่ต้องทำรายงานส่งกระทรวง ครูทำหน้าที่ครูเพื่อรายงานต่อคณะกรรมการโรงเรียนเท่านั้น งบประมาณโรงเรียนอาจจะแปรผันตามรายหัวนักเรียนก็ได้ ที่ไหนมีนักเรียนเยอะก็ให้ไป  ทุกวันนี้มีประเภท โรงเรียนไหนดีได้งบประมาณเยอะ โรงเรียนที่ดีก็ยิ่งดียิ่งขึ้น แล้วคนก็แห่เข้ามาจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะ เพื่อจะให้ลูกเข้าโรงเรียน แต่โรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้านไม่ได้ถูกพัฒนา ใน กทม.ต้องเดินทางส่งลูกข้ามเขตข้ามเมืองเพื่ออะไร ถ้าหากมีโรงเรียนที่ดีอยู่ใกล้บ้านก็ไม่เห็นต้องข้ามเขตอีกเลย”

@ ชี้ช่องปฏิรูปเศรษฐกิจ

“หรือแม้แต่เศรษฐกิจ เป็นไปไม่ได้หรอกที่เศรษฐกิจจะถูกขับเคลื่อนไปโดยบริษัทธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ยกตัวอย่าง โมเดลของอาลีบาบา ร่ำรวยบนพื้นฐานให้คนอื่นรวยด้วย นั่งเทียบว่าทำไมจีนได้ยกระดับของ SMEs ได้มากมาย ได้ในช่วงเวลา 1 อายุคน 20 ปี ที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์สามารถมีลูกรุ่นต่อไปได้ เพียง 20 ปี จีนเห็นหน้าเห็นหลัง ที่จีนเปลี่ยนแปลงไปมาก หลายคนชอบบอกว่าเป็นเพราะนโยบายของรัฐบาลจีนที่ดีหรือเปล่า ก็อาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่สำคัญคือ ตัวบางบริษัทของจีนเป็น Growth engine เป็นตัวขับเคลื่อนให้ SMEs ผุดขึ้นมาทั้งแผง”

“โมเดลของอาลีบาบา ร่ำรวยบนพื้นฐานให้คนอื่นรวยด้วย ทำให้คนที่อยากค้าขาย ขายส่งบนอาลีบาบา ถ้าขายส่งอาจเป็น M หรือ S ใหญ่ๆ แต่พอรายย่อยแต่ละคนสามารถขายของได้เถาเป่า หรือตอนหลังเป็น T-mall มีช่องทางให้คนขายของ ไม่ใช่แค่ขายของ อาลีบาบาสามารถทำให้เกิดโลจิสติกส์ขายของไปได้ ดังนั้น ทำให้เกิดการทะลุเพดานการบริโภค ถ้าเป็นเมืองไทยต้องไปตั้ง hyper market เพื่อเอาของออกไป แต่โลจิสติกส์ของอาลีบาบาสามารถตอบสนองทั้งหมด เป็นเครื่องมือที่ทำให้การค้าขายมากขึ้น”

“พอถึงจุดหนึ่งอยากให้คนเข้ามาแล้วขยายตัวต่อไปได้ ก็ตั้ง Ant financial ให้กู้เงิน   ดังนั้น อาลีบาบาเป็นเครื่องยนต์เครื่องหนึ่งที่ผลักดันให้ SMEs เติบโต แต่ถามว่าในเมืองไทยมีใครทำอย่างนั้นไหม…ไม่มี หรือ เพราะบริษัทใหญ่ๆ ในไทยทุกวันนี้เป็น retail ทางกายภาพ ถ้าหากโปรโมทบนออนไลน์มากเท่าไหร่ ศูนย์การค้า hyper market มีผลกระทบมาก หลายสิ่งหลายอย่างไม่ได้เติบโตไป”

@ นายทุนต้องคิดให้ยาว

“Ecosystem ที่ครบวงจรแบบอาลีบาบาในจีนไม่เกิด ไปรษณีย์ก็ทำไปรษณีย์ มี Kerry คนที่ทำแบบ nano finance  ก็ไม่เกี่ยวข้อง เพราะคนที่ทำเว็บไซต์อย่าง Lazada ก็สามารถรู้ได้ว่า SMEs ที่ขายของกับตัวเอง ขายดีแค่ไหน มีเงินทุนหมุนเวียนดีไหม ปล่อยกู้ได้ง่ายทันที เพราะสามารถบอกได้ว่ารายได้เงินเดือนเท่าไหร่ แต่ต้องกลับไปดูระบบการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทบกับสถาบันการเงินอีก ซึ่งคงไม่ชอบ เรื่องเศรษฐกิจมีอะไรให้ทำอีกเยอะ … มากมาย แต่ไปกระทบกับสถาบันการเงินหลักๆ ค้าปลีกหลักๆ ทุนหลักๆ

“แต่ถ้าคิดให้ยาวไกล ปล่อยให้สถานการณ์เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ว่าธนาคาร ค้าปลีกรายใหญ่ จะอยู่รอดไหม ในขณะที่คนทั้งประเทศจนลง คนที่ซื้อของค้าปลีกทั้งหลายเงินก็จะไม่มีในกระเป๋า domestic จึงไม่สามารถเป็นเครื่องยนต์ขับเคลือ่นเศรษฐกิจได้เลย ต้องพึ่ง export พอ export มีปัญหา domestic ไม่ได้ช่วยได้ เศรษฐกิจก็ตายไปหมด”

“ถ้าทุนใหญ่คิดไกล เขาควรจะไปเป็น power ทำให้รายเล็กรายน้อย ให้ทุกคนมีแรง สามารถสร้างรายได้ให้ตัวเอง จะทำให้เกิดการบริโภคไปมา แล้วตัวเองจะได้ประโยชน์ด้วย อาลีบาบาไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคช่วย เพราะเขาสามารถยกระดับคนจนในจีนขึ้นมาเป็นแผง แล้วตัวเองก็ใหญ่ขึ้นมา”

@ ขาดคนทุบโต๊ะปฏิวัติ

เขาเชื่อว่า “ส่วนที่ขาด” จนไม่มีโครงการใดที่ “ปฏิวัติ” ระบบหลักประกันสุขภาพได้เหมือนโครงการ 30 บาทคือ “คนทุบโต๊ะสั่งการ”

“ที่สำคัญต้องมี strong view ต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่เอาจริงเอาจังเรื่องนี้ ซึ่งถ้าหากพรรคการเมืองมีเจตจำนงอย่างนี้แล้วอธิบายภาพให้ชัด ผมว่าคนที่อาจไม่เข้าใจ หรือขัดขวางช่วงแรก ต่อไปอาจเปลี่ยนใจก็ได้ เมื่อก่อนเค้กใบเล็ก แบ่งกินเค้กกัน 95% ส่วน 5% เหลือให้คนที่เหลือ ตอ่ไปเค้กใหญ่ขึ้น ถึงแม้คุณกินแค่ 50% แต่ก็ใหญ่กว่าเค้ก 95% ที่คุณเคยกิน ดังนั้น มันก็ได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันคนที่เหลือส่วนใหญ่ก็ได้ประโยชน์”

@ ทุกพรรคอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน

แล้วเราจะมีความหวังกับเจตน์จำนงของพรรคใดได้บ้างในตอนนี้?

นพ.สุรพงษ์ หัวเราะก่อนตอบว่า “ตอนนี้เป็นระยะเปลี่ยนผ่านของพรรคการเมืองทุกพรรค ไม่มีพรรคไหนเข้มแข็งเชิงอุดมคติแบบที่ผมอยากเห็นเลย ไม่ว่า เพื่อไทย วันนี้ก็ไม่ใช่ อนาคตใหม่ เพิ่งเริ่มต้นและมีมนรสุมมากมาย ประชาธิปัตย์ หวังว่าจะสรุปบทเรียนหลังจากเลือกตั้ง ส่วนพลังประชารัฐถ้าหากมองให้ไกล อย่าหวังเพียงแค่อาศัยกลไกตามรัฐธรรมนูญที่จะเอาชนะ ถ้าหากสามารถเปลี่ยนพรรคให้เป็นพรรคที่นำเสนอนโยบายที่ดี สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้จริง เขาก็จะมีโอกาสชนะถาวรได้”

“ภูมิใจไทย เขาเองพยายามปรับเปลี่ยนหลายอย่าง และพยายามฟังข้อมูลเยอะ สำหรับนโยบายหลักประกันสุขภาพที่ผมช่วยดู พยายามที่จะเอาจริงเอาจัง และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาได้จริง  ขาติไทยพัฒนา วันนี้อาจต้องรอเลือดใหม่ ณ วันนี้ ถามว่าพรรคไหนมีโอกาส ผมคิดว่า มีโอกาสเท่ากันทุกพรรค”

@ อนาคตใหม่โตเร็วเกินไป

นพ.สุรพงษ์ วิเคราะห์ เหตุที่อนาคตใหม่เจออุปสรรคมากมาย จนขยับประเด็นที่แหลมคมไม่ได้ “เพราะอนาคตใหม่ โตเร็วเกินไปทำให้รับมือกับการโตเร็วเกินไปได้ไม่ดีนัก ยังคิดว่าถ้าหากอนาคตใหม่ไม่ได้โตเร็วขนาดนี้เขาอาจสามารถพัฒนาระบบภายในพรรคของเขาได้ดีกว่านี้ และ การนำเสนอนโยบาย เขาอาจไปเน้นการนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวกับการเมือง ประชาธิปไตย ไม่ได้พูดนโยบายเศรษฐกิจ การศึกษามากอย่างที่ควรจะเป็น ถูกชูเรื่องประชาธิปไตย ทหารและความมั่นคง”

“ถามว่าตอบโจทย์คนส่วนหนึ่งไหม… ใช่ แต่ไม่สามารถตอบโจทย์คนส่วนใหญ่พอสมควรที่มีความทุกข์จากเรื่องเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาของลูกหลาน ภาพลักษณ์ของอนาคตใหม่กลายเป็นภาพลักษณ์ที่มุ่งเน้นนำเสนอประชาธิปไตย แม้แต่ตอนพูดเรื่องรัฐธรรมนูญยังเน้นเรื่องโอกาสการใช้สิทธิใช้เสียงของชาวบ้านมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ให้ ส.ว. 250 คน มากำหนดตัวรัฐบาล แต่ก็มีคนตั้งคำถามว่า ปากท้องว่าอย่างไร ตรงนี้เป็นจุดอ่อน ดังนั้น ถามว่า นโยบายเศรษฐกิจของอนาคตใหม่คืออะไร ..ไม่ชัด”

“อาจเป็นเพราะเขาจัดลำดับความสำคัญของการเคลื่อนเรื่องประชาธิปไตยไว้ แต่เขาก็มีความพยายามที่จะดูเรื่องความเดือดร้อนเศรษฐกิจของชาวบ้าน  เป็นความเดือดร้อนเฉพาะถิ่น เฉพาะจุด ซึ่งไม่ใช่เป็นการมองภาพใหญ่ เขาเคยพูดว่าจะพยายามทำให้ทุนใหญ่ลดลง แต่โจทย์ที่จะเริ่ม เสริมพลังของ SMEs ยังไง ยังไม่ชัด หรือ อาจจะชัด แต่ไม่ได้พูด”

@ วิกฤตเศรษฐกิจ โดมิโน ล้มบิ๊กตู่

เวลานี้ 7 พันธมิตรฝ่ายค้าน กำลังเดินหน้ารณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างขะมักเขม้น แต่ “นพ.สุรพงษ์” เชื่อว่า “สำเร็จยาก”

“ถ้าเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญ 40 ไม่ได้มาโดยสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบในช่วงแรก ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้สภาผู้แทนฯ โหวตรับและนำไปสู่การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ 40 คือ ปัญหาเศรษฐกิจ มันมาพร้อมกับวิกฤตต้มยำกุ้ง และนำไปสู่การเปลี่ยนปลงรัฐบาล”

“การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เดินหน้าไปเถอะ เพื่อให้คนเห็นว่ารัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่ตอบโจทย์ ไม่ตอบปัญหา การเลือกตั้ง 24 มี.ค.พิสูจน์แล้วว่า ประชาชนไม่ได้ประสงค์ให้พรรคการเมืองที่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้เสียงข้างมาก แต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ได้ก็เพราะด้วยกติกาตามรัฐธรรมนูญ”

“ถ้าเศรษฐกิจลงมากๆ  ชาวบ้านจะบอกว่าไม่ไหวแล้ว ขอคนที่เราเลือก หรือ ขอพรรคการเมืองที่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ไหม นี่คือปัญหาย้อนกลับไปตอนปี 2540 ที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อยู่ไม่ได้ ต้องยุบสภา หรือ ลาออก”

“พอเริ่มลงคนจะเริ่มยิ่งกลัว ยิ่งบริโภคน้อยลง การบริโภคในประเทศน้อยลง คนไม่เที่ยว ชิม ช็อป ใช้ ก็ได้แค่นั้น อย่าหวังว่าคนจะใช้เกิน 1 พันบาทแล้วจะได้คืน 15 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามองโลกสวย ภาวะเศรษฐกิจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ความมืดของภาวะเศรษฐกิจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแน่”

“ดังนั้น วิกฤตเศรษฐกิจจะเป็น “โดมิโน” ล้มการเมืองของจริง โดย พรรคร่วมรัฐบาลจะเป็นตัวบอกว่าไม่เอาแล้ว”

@ ความสัมพันธ์ แก๊งออฟโฟว์

ในยุคที่พรรคพลังประชาชน สานต่อการเมืองจากไทยรักไทยที่ถูกยุบไป “นพ.สุรพงษ์” ในฐานะเลขาธิการพรรค ถูกยกให้เป็นแกนนำแก๊งออฟโฟว์ คุมอำนาจในพรรค รวมกับ สมัคร สุนทรเวช นายกฯ และหัวหน้าพรรค ธีรพล นพรัมภา เลขาธิการนายสมัคร เนวิน ชิดชอบ หัวหน้ากลุ่มเพื่อนเนวิน

“นพ.สุรพงษ์” ขอยืนยันอีกรอบว่า ไม่มีการตั้งแก๊งออฟโฟว์ที่จะไปยึดพลังประชาชน และหลังจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบไป “แก๊งออฟโฟว์ซึ่งไม่เคยมีอยู่จริงก็ไม่เคยเจอกันอีกเลย”

“คุณสมัครมีปัญหาสุขภาพ ต้องรักษาตัว คุณธีรพล ไม่มีโอกาสได้เจอกันอีก คุณเนวินก็ไม่ได้เจอกันอีก คุณเนวินเคยถามว่าจะไปช่วยภูมิใจไทยไหม ผมบอก..ไม่ไป ผมพอแล้วกับการเมือง ผมไม่ยุ่งแล้ว”

“เคยมีโอกาสคุยกับคุณเนวินอีกครั้งหนึ่งตอนที่บ้านผมน้ำท่วม คุณเนวินโทรมาถามว่าน้ำท่วมจะไปอยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีที่อยู่ก็ไปพักแถวบุรีรัมย์ได้ ผมบอกว่าไม่เป็นไร ผมบอกว่ามีบ้านพักอยู่ที่กลางดง ก็ไปพักที่นั่น แต่ไม่ได้คิดว่าเป็นภาษาการเมืองคนอื่นอาจคิดอย่างไรไม่รู้ แต่ผมกับคุณเนวิน เหมือนเพื่อนกัน ถามว่าสนิทกันหลัง 19 ก.ย.49 ก่อนนั้นเป็นแค่เพื่อนร่วม ครม.ไม่ได้สนิทกันมาก แต่หลังจาก 19 ก.ย. เขามาให้ความเห็นเกี่ยวกับรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น เรื่องการโทรน้ำท่วมเป็นการถามจริงๆ ว่าบ้านเป็นอะไรไหม เพราะหลังจากเขาโทรถามว่าจะมาช่วยงานพรรคภูมิใจไทยไหม..แล้วผมตอบว่าไม่ เขาก็ไม่ติดต่ออีกเลย เรื่องความสัมพันธ์ใกล้ชิด แม้แต่ความเป็นเพื่อนแทบไม่ได้โทรคุยกันด้วยซ้ำ”

@ ที่ปรึกษาบัตรทอง 

กับบทบาทใหม่ล่าสุดที่ “นพ.สุรพงษ์” เป็นในฐานะที่ปรึกษาด้านการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ให้กับ “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ถือว่าเป็นคอนเน็กชั่นแก๊งออฟโฟว์หรือไม่ เขาตอบว่า

“เป็นไอเดียคุณเนวินไหม…ผมไม่รู้ แต่รู้ว่าคุณอนุทินให้คนประสานมา แรกๆ ถามด้วยความเกรงใจว่าคุณหมอสะดวกไหมที่จะมาช่วย ผมก็ถามว่าให้ช่วยอะไร ก็ตอบว่าช่วยเรื่อง 30 บาท ผมออกตัวก่อนเลยว่าไม่เอาเป็นที่ปรึกษา แต่ไปคุยกันก่อนก็ได้ไอเดียผมเป็นอย่างไร ที่ปรึกษาไม่เป็น ทีมงานไม่เอา บอกชัดเจนว่าไม่เอาอะไรทั้งสิ้น ค่าตอบแทน ค่าเดินทาง ไม่รับ แต่ตั้งใจว่าให้เรื่องนี้แก้ไขให้ถูกทางเสียที ก็ถามไปว่าเอาจริงหรือเปล่า ถ้าเอาจริงก็ยินดีมาร่วมประชุม แต่ถ้าไม่เอาจริงก็ไม่เป็นไร”

“ผมมองด้วยความเป็นห่วงขอบสนามมาตลอดเวลา เห็นคนที่อยู่ในสนามเล่นแล้วก็กังวลว่าโครงการ 30 บาทจะไปได้ไม่ดีนัก ต้องก้าวกระโดดในหลายๆ เรื่อง เพราะไม่มีใครมาขอความเห็นก็ไม่มีหน้าที่ที่จะให้ความเห็นใคร ผมจำกัดบทบาทตัวเองมาตลอดเพื่อไม่ให้คนเข้าใจว่าผมหวนคืนการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นเมื่อคุณอยู่ขอบสนาม เมื่อเขาไม่ถามก็ไม่ต้องไปตอบ ไม่ต้องเล่าให้ฟัง ถ้าครั้งนี้คุณอนุทินไม่ถาม ผมก็ไม่เข้าไปยุ่ง”

“ดังนั้น เมื่อเขาบอกว่าอยากฟังความเห็นก็ไป ผมก็ไปเจอและเล่าให้ฟังว่าปัญหาคืออะไรต้องแก้อะไร ที่ปรึกษาไม่เป็น ทีมงานไม่เอา บอกชัดเจนว่าไม่เอาอะไรทั้งสิ้น ค่าตอบแทน ค่าเดินทาง ไม่รับ แต่ตั้งใจว่าให้เรื่องนี้แก้ไขให้ถูกทางเสียที ก็ถามไปว่าเอาจริงหรือเปล่า ถ้าเอาจริงก็ยินดีมาร่วมประชุม แต่ถ้าไม่เอาจริงก็ไม่เป็นไร”

“ผ่านมา 2 เดือน ที่เห็นชัดคือ คุณอนุทินรับฟังและให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงเข้ามาถกกันและนำเสนอสิ่งที่จะทำได้เร็ว เช่น ระบบร้านยา ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการศึกษากันมาแล้ว ในโรงพยาบาลต่างจังหวัดหลายแห่งศึกษา มีการนำร่องเฉพาะโรงพยาบาลแล้ว สภาเภสัชกรมีส่วนร่วมในการวิจัยเรื่องนี้ ตอนแรกผมคิดว่าจะต้องใช้เวลาสักพักที่จะตัดเรื่องลดความแออัดในการรอยา ปรากฏว่าในการประชุมสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ครั้งแรก คุณอนุทินขอให้ผมเข้าไปร่วมประชุมด้วย จากนั้นคุณจิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม มาถามว่าทำเลยไหม นัดคุยกันเลย นโยบายจึงมีผลในการปฏิบัติภายใน 2 เดือน”

“ขณะเดียวกันคนกรุงเทพฯ น่าสงสารมากไม่มี โรงพยาบาลปฐมภูมิ โรงพยาบาลทุติยภูมิ ท้องเสียหนักๆ ต้องไปนอนโรงพยาบาลสักคืนจะไปนอนที่ไหน คือบริหารสาธารณสุขของ กทม.แย่มาก ผู้ว่า กทม.ควรจะทำเรื่องโรงพยาบาลระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ เพราะมีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.60 กว่าแห่ง ทำไมไม่ให้มีเตียงสัก 30 เตียง เพราะมีงบประมาณ 3 หมื่นล้านบาท หรือ รับเงินเงินจาก สปสช.ก็ได้ ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร ให้คนที่อยู่ชายขอบสามารถเข้าไปใช้บริการได้ รวมถึงการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน 10 กว่าแห่ง จะเกิดขึ้นภายใน 1 ธันวาคม

หมอเลี๊ยบ บอกว่า “นี่คือการปฏิบัติแบบไทยรักไทย เพราะการถ้าวิธีแบบข้าราชการเดิมๆ จะไม่กำหนด เพราะผูกพันที่จะต้องทำให้เสร็จ แต่ในฐานะนักการเมือง นักบริหารต้องกำหนดให้ชัดว่าวันนี้ต้องทำอะไรเสร็จ เหมือนตอนที่ทำโครงการ 30 บาท 1 เม.ย.44 6 จังหวัด 15 มิ.ย.44 อีก 15 จังหวัด 1 ต.ค.44 ทั้งประเทศ เมื่อกำหนดแบบนี้ก็เดินหน้าไปได้เร็ว ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายแต่อยู่ที่การจัดการ ผู้กำหนดนโยบายต้องลงมาทำเอง”

“และคุณอนุทินลงมากำกับเองว่าต้องทำให้จบ”