วัดกำลังรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ชำแหละงบฯ 63 ในกรรมาธิการ

แฟ้มภาพ

เสร็จศึกการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วาระที่ 1-ขั้นรับหลักการด้วยชัยชนะของฝ่าย “รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์” ต่อฝ่ายค้าน ด้วยคะแนนเห็นชอบ 251 ต่องดออกเสียง 234 เสียง

ยกต่อไป การพิจารณาในขั้นแปรญัตติ กำหนดเวลา 30 วัน โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็น “รายมาตรา” นัดแรก 24 ต.ค. 62

สำหรับรายชื่อ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 63 คน ประกอบด้วย กมธ.ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอชื่อ จำนวน 15 คน และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเลือก จำนวน 48 คน

สัดส่วนของ ครม. 15 คน อาทิ นายอุตตม สาวนายน ในฐานะ รมว.คลัง นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นายจุติ ไกรฤกษ์ นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา นายวราเทพ รัตนากร

สัดส่วนสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 12 คน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 5 คน พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 5 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน พรรคพลังท้องถิ่นไทย 1 คน

Advertisment

ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน-เพื่อไทย (พท.) 13 คน พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) 8 คน พรรคประชาชาติ 1 คน พรรคเพื่อชาติ 1 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน และพรรคพลังปวงชนไทย 1 คน

คู่ขนานกับวุฒิสภา (ส.ว.) ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จำนวน 40 คน คู่ขนาน แบ่งออกเป็น ส.ว. 37 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน โดยจะประชุมนัดแรกในวันที่ 28 ต.ค. 62

สำหรับ “กฎเหล็ก” การแปรญัตติตามมาตรา 144 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน “ส.ส.จะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการมิได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายซึ่งมิใช่รายจ่ายตามข้อผูกพันอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เงินส่งใช้ต้นเงินกู้ ดอกเบี้ยเงินกู้ เงินที่กำหนดให้จ่ายตามกฎหมาย”

ในการพิจารณาของ ส.ส. ส.ว. หรือ กมธ. การเสนอแปรญัตติหรือกระทำด้วยประการใด ๆ “ที่มีผลให้ ส.ส. ส.ว. หรือ กมธ. มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายจะกระทำมิได้”

Advertisment

“การกระทำที่ฝ่าฝืนให้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน กรณีวินิจฉัยกระทำที่ฝ่าฝืนให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวเป็นอันสิ้นสุดลง ได้เป็น ส.ส.หรือ ส.ส.ให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ และเพิกถอนสิทธิสมัครเลือกตั้ง”

กรณี ครม.ให้พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง และให้ผู้กระทำดังกล่าวต้องรับผิดชดใช้เงินนั้นคืนพร้อมดอกเบี้ย

โดยวันที่ 8-9 ม.ค. 63 ส.ส. พิจารณาร่าง พ.ร.บ. วาระที่ 2-3 และ 20 ม.ค. 63 ถึงคิว ส.ว. 27 ม.ค. 63 ก่อนจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป