“ประยุทธ์” แวะไหว้พระ ก่อนลงพื้นที่แก้ภัยแล้ง-หมอกควัน พะเยา-น่าน

วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 09.30 น. ณ วัดศรีโคมคำ พระอารามหลวง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ สักการะพระพุทธรูปพระเจ้าตนหลวง กราบสรีระสังขารพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ) และนมัสการพระสุนทรกิตติคุณ (เดชา อินฺทปญฺโญ) ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดศรีโคมคำ พระอารามหลวง เจ้าคณะอำเภอเมืองพะเยา

จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวทักทายกับประชาชนที่มาให้การต้อนรับตอนหนึ่งว่า จังหวัดพะเยาเป็นจังหวัดเล็ก ๆ จังหวัดหนึ่งที่มีความสงบสุข ต้องขอชื่นชมในความรักความสามัคคีของประชาชนจังหวัดพะเยา ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน และมีปัญหาเกิดขึ้นหลายปัญหา การแก้ไขปัญหาทุกคนต้องร่วมมือกัน รัฐบาลฝ่ายเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาในหลาย ๆ เรื่อง และปัญหาบางปัญหาต้องใช้เวลาในการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและการเกษตร แต่ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลมีความตั้งใจแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน และเพื่อประเทศชาติ

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมว่า การนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่ดี ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้คนเป็นคนดี มีความรักความสามัคคี ถ้าคนไทยไม่รักกันใครจะมารัก

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ร่วมเล่นเครื่องอังกะลุง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่กลุ่มผู้สูงอายุจังหวัดพะเยาร่วมกันเล่นเพื่อออกกำลังกาย ฝึกสมาธิโดยได้บรรเลงเพลงพะเยารอเธอ เสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะออกเดินทางไปยังหนองเล็งทราย ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา เพื่อตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำและการพัฒนาหนองเล็งทราย ณ หนองเล็งทราย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยาซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลกับการพัฒนาจังหวัดพะเยาเพื่อความยั่งยืน และเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ การปรับปรุง ฟื้นฟูร่องน้ำเดิมและฟื้นฟูพื้นที่แก้มลิงเพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำ ทำให้ประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่ใจและอำเภอเมืองพะเยาได้รับประโยชน์จากการพัฒนาหนองเล็งทราย

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบปะประชาชนและเยี่ยมชมนิทรรศการสินค้า OTOP ของจังหวัดพะเยาด้วย

ช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีและคณะ จะ เดินทางไปยังหอประชุมศูนย์ราชการจังหวัดน่าน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดน่านจะบรรยายสรุปการดำเนินการ แก้ไขปัญหาหมอกควันไฟและการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของจังหวัดน่านได้แก่  การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำน่าน การแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ การแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานสักขีพยานในโอกาสรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ภายใต้โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามนโยบายรัฐบาลของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมอบเอกสารโครงการจัดระเบียบ การใช้ที่ดินป่าไม้ให้ชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ คทช. ให้แก่ผู้แทนชุมชน จำนวน 5 ราย

โดยนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้มอบโฉนดที่ดินคืนให้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตามนโยบาย การแก้ไขปัญหาหนี สินเกษตรกรและการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกร ให้เกษตรกร จำนวน 2 ราย พร้อมรับฟังปัญหาและหารือร่วมกับประธานร่วมคณะกรรมการดำเนินงานพื้นที่จังหวัดน่าน (น่านแซนด์บอกซ์) ณ ห้องรับรอง จากนั้นจะไปยังเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนชีววิถีตำบลน้ำเกี๋ยน (บ้านน้ำเกี๋ยน)  อ.ภูเพียง จ.น่าน ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพมหานครในเย็นวันเดียวกัน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาระบบกลไกบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ จึงได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่อง การบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน : พื้นที่จังหวัดน่าน โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลและรัฐมนตรีที่และหน่วยงานเกี่ยวข้องเป็นกรรมการ เพื่อกำหนดนโยบายและกำกับดูแลการดำเนินงานจัดการแก้ไขปัญหาด้านที่ดิน ป่าไม้ และการใช้ประโยชน์พื้นที่จังหวัดน่าน ในรูปแบบการพัฒนาและการรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่ (Sandbox)

นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการดำเนินงานพื้นที่จังหวัดน่าน โดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานภาครัฐ และนายบัณฑูร ล่ำซำ เป็นประธานภาคเอกชน ประกอบด้วยผู้แทนจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อร่วมกัน แก้ไขปัญหาด้านที่ดิน – ป่าไม้ ให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยได้ถูกต้องตามกฎหมายและปรับคืนพื้นที่มาเป็นสภาพป่า จัดหาเงินทุนสนับสนุนการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตทางการเกษตรและการเลี้ยงชีพในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน ตลอดจนปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรเชิงเดียว ไปสู่การผลิตหรืออาชีพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีรายได้เพียงพอ และยกระดับคุณภาพชีวิต เป็นต้น ซึ่งจะเป็นโมเดลบูรณาการ ให้การแก้ไขปัญหาประชาชนในพื้นที่ทำงานได้ตรงจุด ถูกต้อง มีประสิทธิภาพและยั่งยืน