“ประยุทธ์” ปฏิวัติซ้ำ ผ่าตัดโควิด-19 ยึดอำนาจนักการเมือง ใส่มือรัฐราชการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม สวมหมวกผู้อำนวยการศูนย์การบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ยึดอำนาจนักการเมือง-พรรคร่วมรัฐบาลหมดเกลี้ยง

การแก้ปัญหาโควิด-19 กระชับวงอยู่ในบูรพาพยัคฆ์ผ่านกลไกอำนาจนิยม-ข้อกำหนดในแถลงการณ์ทุกวันศุกร์ ไม่ผ่านกลไกเลือกตั้ง ส่วนนักการเมืองถูกเว้นระยะห่างในสถานการณ์พิเศษ

ผ่านมา “ครึ่งทาง” ของการประกาศพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน การบริหารงานอยู่ในมือพี่น้อง 3 ป. ผ่านกฎหมายปกติ 40 ฉบับ และกฎหมายพิเศษ

มีขุนทหารและอำมาตย์-เทคโนแครตในชุดเสื้อกาวน์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินภายในศูนย์โควิดทำเนียบ

นั่งไทม์แมชีนกลับไปเหมือนในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) “เต็มใบ” ที่ให้ข้าราชการประจำควบเสนาบดีเป็นใหญ่-แช่แข็งนักการเมือง เป็น “รัฐราชการรวมศูนย์”

Advertisment

ด้านสาธารณสุข พล.อ.ประยุทธ์ “ริบอำนาจ” นายอนุทิน-นายจุรินทร์ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นหัวหน้าศูนย์ และศูนย์ปฏิบัติการด้านการควบคุมสินค้ามีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าศูนย์

แต่งตั้ง “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานคณะกรรมการสำรวจการกักตุนโภคภัณฑ์

พล.อ.อนุพงษ์ เป็น “ข้างหลังภาพ” ศูนย์ปฏิบัติการกระจายหน้ากากและเวชภัณฑ์สำหรับประชาชน มีปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นหัวหน้าศูนย์

คณะอนุกรรมการ 3 ชุด เป็น special task force 1.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการหน้ากากอนามัยแห่งชาติ 2.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการเวชภัณฑ์ระดับประเทศ และ 3.คณะอนุกรรมการบริหารจัดการการส่งออกหน้ากากอนามัย

Advertisment

สามารถโชว์ผลงานกระจายหน้ากากให้กับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเริ่มตั้งแต่ 2 เม.ย.-13 เม.ย. กระจายไปยังกระทรวงสาธารณสุข 14,167,000 ล้านชิ้น อยู่ระหว่างการจัดส่งอีก 1,869,500 ชิ้น เช่นเดียวกับ “หน้ากากผ้า” มหาดไทยของ “บิ๊กป๊อก” แจกให้ชาวบ้านแล้ว 50.8 ล้านชิ้น

ด้านคมนาคม-ด่านแรกของการเข้าออกประเทศ “พล.อ.ประยุทธ์” แต่งตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านคมนาคมและการขนส่งทั่วราชอาณาจักร” มีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นหัวหน้าศูนย์

ปฐมเหตุจากความโกลาหล 158 คนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.ควบคุมโรค เดินผ่านศูนย์ Emergency Operation Center (EOC) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยไม่ผ่าน state quarantine 14 วัน

เกิดเป็นกระแสดราม่า-สังคมประณาม คนไทย 158 คน ดังกระฉ่อนในโลกออนไลน์ทวงสำนึกต่อสังคม-ควานหาผู้รับผิดชอบ

“พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง สั่งผ่าตัดโครงสร้าง EOC ด่วน โดยตั้ง พล.อ.ปริพัฒน์ ผลาสินธุ์ รองเสนาธิการทหาร เข้าบัญชาการศูนย์ EOC ทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมืองทันที

ล่าสุด “พล.อ.ประยุทธ์” เซ็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ได้ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 8/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 อาศัยอำนาจตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2563 เรื่อง การจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548

ตั้ง “หน่วยงานพิเศษ” ภาคเอกชนใน “ศูนย์โควิด-19” เป็นเครือข่ายทุนใหญ่ที่โอบอุ้ม “นายพลเกษียณ” ตั้งแต่ในยุค คสช.

โครงสร้างคณะกรรมการชุดนี้ แยก 2 ส่วน จากเอกชน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย

และสัดส่วนข้าราชการ อาทิ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

โดยมี “ทศพร ศิริสัมพันธ์” เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธาน “ขึ้นตรง” ต่อตึกไทยคู่ฟ้า ไม่ใช่ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี-กำกับสภาพัฒน์

“ดนุชา พิชยนันท์” รองเลขาสภาพัฒน์ ในฐานะเลขานุการ แจกแจงหน่วยงานใหม่ ที่มีสภาพัฒน์เป็น “คนกลาง” ต่อท่ออำนาจถึงตัวประมุขทำเนียบ

“เป็น body ที่จัดฟลอร์ให้กับภาคเอกชนได้ให้คำแนะนำ เสนอแนะมาตรการที่รัฐบาลได้ทำไปจะให้ได้ผลต้องมีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง ความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน”

“ไม่งั้นบอกไป โป้ง ไม่มีใครไปใช้เลย เราก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีฟลอร์ให้เอกชนมาคุยกันเพื่อบอกว่าสิ่งที่รัฐออกไปต้องปรับอะไรบ้าง”

เลขานุการคณะที่ปรึกษาภาคเอกชน ชี้ความหนักหน่วงของวิกฤตโควิด-19 ว่า วิกฤตรอบนี้ไม่เหมือนรอบอื่น ๆ ขยายวงกว้างมาก เศรษฐกิจไทยเวลานี้ซับซ้อนพอสมควร ดังนั้น มาตรการที่รัฐออกไปในเชิงกว้างหลักเกณฑ์ที่กำหนดมาทำอย่างไรให้เข้าถึงได้ เอามาใช้ได้

อย่างไรก็ตาม ฟากรัฐบาลได้ขอให้ “คณะที่ปรึกษา” จัดทำและรวบรวมประเด็นข้อเสนอแนะเฉพาะด้าน เพื่อสรุปรายละเอียดให้ที่ประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ได้พิจารณาใน 20 เม.ย. ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาโดยเร็วที่สุด แบ่งเป็น 5 กลุ่ม

1.กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) มอบหมายให้ประธานสมาคมธนาคารไทยทำหน้าที่ดูแลในส่วนนี้

2.กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ มอบหมายให้ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแล

3.กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มอบหมายให้ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแล

4.กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร มอบหมายให้ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติดูแล

และ 5.กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล (digital solution) มอบหมายให้ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยเข้ามาดูแล

ขณะที่การเยียวยาคนตกงาน-ขาดรายได้ทั้งในระบบ-นอกระบบที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการชั่วคราวทั้งแรงงานนอกระบบ “หัวละ 5 พัน” เกิดปัญหาทางเทคนิค-human error ทำให้การจ่ายเงินล่าช้า-คนหาเช้ากินค่ำไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ

รวมถึงแรงงานในระบบประกันสังคมที่ถูกตัดเงินเดือน-พักงาน-เลิกจ้าง กรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ-เกิดเหตุสุดวิสัยแต่ไม่ได้รับการเยียวยาที่สมเหตุสมผล

จน “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องออกแถลงการณ์สั่งประกันสังคมให้จ่ายชดเชยคนว่างงานทุกกรณีทั้งทางตรง-ทางอ้อมที่ได้รับผลกระทบของโควิด-19

“เพื่อให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานที่ครอบคลุมการว่างงานจากโควิด-19 ในครั้งนี้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมด้วย เช่น การว่างงาน เนื่องจากการให้ปิดเมือง”

“การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือการประกาศเคอร์ฟิว รวมทั้งการให้หยุดประกอบกิจการดังกล่าวที่มิได้เป็นผลจากคำสั่งของทางราชการโดยตรง ลูกจ้างยังคงมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานด้วย”

ส่วนด้านความมั่นคงกองทัพ-ตำรวจ-ฝ่ายปกครอง “สนธิกำลัง” ไม่อยู่ในคอนโทรลคนการเมือง