ไวรัสโควิด-19 ระบาดการเมือง ดับแฟลชม็อบ ฉีกโรดแมปแก้รัฐธรรมนูญ

ผลกระทบไวรัสมรณะโควิด-19 ทำให้โลกทั้งโลกหยุดหมุน จดจ่ออยู่กับการแก้ปัญหาการระบาด ไม่เว้นแม้แต่โลกการเมือง ที่นักเลือกตั้ง “พักรบ” ชั่วคราว กระทั่ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอความร่วมมือจากพรรคร่วมรัฐบาล “งดการเมือง” ไว้ก่อน

“วันนี้ขอความร่วมมือพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคหยุดการทำเพื่อการเมืองไปก่อน วันนี้เป็นเรื่องการบ้าน การบริหารราชการแผ่นดินที่ดูแลประชาชนคนไทย เพราะเราเป็นรัฐบาลทุกคนในประเทศ”

ทุกกิจกรรม-ทุกความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เคยร้อนแรง กลับเงียบสงบในบัดดลย้อนกลับไปก่อนโควิด-19 ระบาด รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กำลังเผชิญกับวิกฤตศรัทธา ผลพวงจากอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ปิดฉากลงเมื่อ 28 ก.พ. หลังจากถูกฝ่ายค้านชำแหละทั้งการแฉเบื้องหลังยุทธวิธี IO ของ กอ.รมน. เงื่อนงำการประสานประโยชน์ระหว่างนายทุน-ผู้มีอำนาจในรัฐบาล “ผ่านมูลนิธิป่ารอยต่อ” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯบวกกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจก็ผลักให้ทีมเศรษฐกิจของ “สมคิดจาตุศรีพิทักษ์” เกือบจะอยู่ในภาวะ “หลังพิงฝา” รวมถึงแรงแซะจากวงในพรรคพลังประชารัฐที่ต้องการเฉือนอำนาจ+เก้าอี้ของทีมเศรษฐกิจ

“สมคิด” ทำใจปล่อยวาง ขึ้นอยู่กับ”พล.อ.ประยุทธ์” จะชี้ขาดเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” คือเก้าอี้ที่คนในพลังประชารัฐ ศึก 2 ฮ. หมายมั่นปั้นมือที่สุดที่จะ “ริบ” คืนจากก๊วนแม่ทัพสมคิด โดยมี 2 ฮ.

“เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย รองประธานยุทธศาสตร์ และ “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น ประธาน ส.ส.พรรค “คอยเสียบ”

พลันที่โควิด-19 คืบคลานมา กระแสปรับ ครม.ก็ถูกไวรัสเล่นงานเช่นเดียวกับผลพวงจากการ “ยุบพรรค” อนาคตใหม่ ที่ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” อดีตเลขาธิการพรรคบอกว่า จะเป็น “ไฟลามทุ่ง”

หลังศาลรัฐธรรมนูญ “ยุบพรรค” อนาคตใหม่ เกิดปรากฏการณ์แฟลชม็อบระบาดไปยังรั้วมหาวิทยาลัย
ข้อเรียกร้องจากแฟลชม็อบ “อุบัติขึ้น” หลายแห่ง ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุบสภา-ลาออก เลือกตั้งใหม่ แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

อาจกล่าวได้ว่า การเคลื่อนไหวของบรรดานิสิต-นักศึกษาจากแฟลชม็อบ เป็นการเคลื่อนไหวโดยพลังนักศึกษาใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬแล้วกระแสแฟลชม็อบก็ถูกเบรกด้วยกระแสโควิด-19 ยิ่งรวมกลุ่ม-ไวรัสยิ่งระบาด การชุมนุมจึงยุติไปโดยปริยาย หลังเหตุการณ์ไวรัสระบาดสงบลง ค่อยว่ากันใหม่หลังศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ สมาชิกที่ไม่ถูกตัดสิทธิเข้าสมทบในพรรคใหม่ คือ “พรรคก้าวไกล”

“ก้าวไกล” เป็นพรรคร่างใหม่ของพรรคอนาคตใหม่ มี “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เป็นหัวหน้าพรรค วางโทนทำหน้าที่ในสภาผลักดันกฎหมาย ลดโทนแข็งกร้าว ไม่ซ้ำรอยแบบพรรคพี่-อนาคตใหม่ (อนค.) ทว่า กระแสการเปิดตัวพรรคใหม่เมื่อ 8 มี.ค.ก็เป็นจังหวะเดียวกับที่โควิด-19 เริ่มเข้ามาระบาดในประเทศไทย กระแสก้าวไกลจึงไม่ดังเปรี้ยงปร้างทั่วยุทธจักรการเมืองแบบ “อนาคตใหม่”

อันเป็นพรรคต้นแบบแคมเปญของ “ก้าวไกล” จึงทำได้แค่ลงพื้นที่บริการประชาชนในช่วงโควิด-19 ระบาด พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ “ทำไมไม่ได้ 5 พัน.com” ให้ประชาชนทุกคนที่ประสบพบเจอปัญหาและอุปสรรคในการใช้งาน (หรือเข้าไม่ถึง)ระบบลงทะเบียนรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ส่งเสียงสะท้อนไปให้ถึงรัฐบาลรับทราบและแก้ไขโดยด่วน

ส่วน “คณะก้าวหน้า” ที่รวมดาวอดีต “อนาคตใหม่” ทั้งธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, พรรณิการ์ วานิชเลือกเปิดตัว 22 มี.ค. ก็ถูกโควิด-19 แช่แข็งไม่รุกความคิดการเมืองได้ในยามนี้ความเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมล่าสุดของ “ธนาธร” จึงเว้นวรรคความเคลื่อนไหวทางความคิด เรียกคืนประชาธิปไตย ใช้สรรพกำลังไทยซัมมิทกรุ๊ปมาผลิตห้องตรวจโควิด-19 บวกกับบริจาคเครื่องฟอกอากาศให้กับชาวเหนือที่เจอพิษ PM 2.5 เน้นเฉพาะด้อยโอกาส

อีกหนึ่งวาระที่ถูก “โควิดแช่แข็ง” คือ วาระศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 โดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

ซึ่งวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 พรรคฝ่ายค้าน ปักธงเขย่าประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตั้งแต่ปลายปี 2562 กระทั่งผลักดันให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญขึ้นมาศึกษา กำหนดกรอบการศึกษา 4 เดือนหวังโหมกระแสแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับทว่า กรอบ 4 เดือน ครบกำหนด 16 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการประชุมได้เพียง 11 ครั้ง ก่อนหยุดชะงักลงเพราะพิษโควิด

โดยตั้งคณะอนุฯกมธ. 2 ชุดแรก อนุฯ กมธ.ประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยมี “วัฒนา เมืองสุข” ตัวจี๊ดจากพรรคเพื่อไทย เป็นประธาน จัดเวทีเดินสายรับฟังความเห็นประชาชนชุดสอง อนุฯ กมธ.ศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น มี “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน

ล่าสุด กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนญ ได้รับการอนุมัติให้ “ขยายเวลา” ต่อไปอีก 70 วัน ขยายไปถึง 25 มิ.ย. ในอนุฯ กมธ.รับฟังความคิดเห็น “วัฒนา” บอกความคืบหน้าว่า ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นทำไปพอสมควร แต่ยังไม่ครบทุกกลุ่ม เพราะยังติดปัญหาโควิด-19 แต่ฟังความเห็นของทุกคนที่รับฟังมา ไม่จำเป็นต้องรับฟังทุกกลุ่มอาชีพ เพราะฟังเป็นส่วนใหญ่ว่าคนรู้สึกเหมือนกันว่าวันนี้ประเทศชาติมีปัญหาแบบนี้ ก็มาจากรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ ก็จะได้รัฐบาลแบบนี้ โดยเฉพาะ นิสิต นักศึกษา รู้สึกคล้าย ๆ กันว่า ถ้าจะแก้ปัญหาประเทศชาติ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

“ส่วนใหญ่เห็นว่าแก้ทั้งฉบับ เพื่อให้มีที่มาจากประชาชน เพราะที่มาของรัฐธรรมนูญไม่ได้มาจากประชาชน และมีกับระเบิดถูกวางไว้เยอะ ถ้าจะไปแก้ไขรายมาตรา ก็จะขัดกันไปขัดกันมา ทำขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับทีเดียว”

“สาระของมันวันนี้ คนเริ่มเห็นปัญหาแล้ว การศึกษาแก้รัฐธรรมนูญรายประเด็นไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว เพราะถ้าคนเห็นว่าทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับก็ไปยกร่างใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่ต้องดูในประเด็นย่อยแล้ว”

ช่วงเปิดศักราช 2563 ฝ่ายค้านตั้งธงว่า วาระแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นวาระใหญ่ทางการเมืองของปีนี้ แต่เมื่อโควิด-19 ประชิดเมือง กระแสแก้รัฐธรรมนูญจะกลับมาได้หรือไม่

“วัฒนา” เชื่อมั่นว่าหลังจากโควิด-19 คนจะออกมาเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะคนเห็นแล้วว่าบ้านเมืองที่เป็นแบบนี้ ได้รัฐบาลแบบนี้ ก็เพราะผลพวงการยึดอำนาจ และรัฐธรรมนูญแบบนี้

“เผลอ ๆ ถึงกับไล่รัฐบาล คิดว่าคนทนได้หรือในความรู้สึกปัจจุบัน สิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำ ไม่ได้รู้สึกว่าแคร์ประชาชน ชุดตรวจโควิด-19 ไม่พอ แต่เอาไปแจกอาเซียน ไม่ได้คิดแบบประชาชน คิดแบบประยุทธ์”

ขณะที่ “ไพบูลย์” กล่าวว่า อนุฯ กมธ.ศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ศึกษาบทบัญญัติ ศึกษาไปถึงองค์กรอิสระ ศาล และการปฏิรูป ช่วงนี้หยุดโควิด-19 และจะกลับมาประชุมอีกครั้ง 22 พ.ค. หลังจากอนุฯ กมธ.ทั้ง 2 ชุดสรุปผลการศึกษาจะชงเข้าที่ประชุมใหญ่และรายงานสภาไป เดินหน้าไปตามเดิม

ส่วนกระแสแก้รัฐธรรมนูญจะจุดติดอีกครั้งหรือไม่ “ไพบูลย์” ตอบว่า เป็นเรื่องของเขา (ฝ่ายค้าน) ไม่ใช่ฝ่ายเรา เราก็เสนอสภาไปนับตั้งแต่ปี 2553 ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ “กระชับพื้นที่” สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ชาวเสื้อแดงจะมีการรวมพลังกันเนือง ๆ เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สลายการชุมนุม-ไล่เผด็จการ

แต่ยามที่โควิด-19 ระบาด “จตุพร พรหมพันธุ์” บอกว่า ช่วยเหลือประชาชนจากโควิด-19 ก่อน การเมืองไว้ทีหลัง “ไม่ว่าประเทศไทยปกครองด้วยระบอบเผด็จการหรือว่าประชาธิปไตย เผด็จการเศรษฐกิจจะอยู่ครองเศรษฐกิจของไทยไปแบบนี้ ไม่ได้คำนึงถึงกฎหมายว่าด้วยอำนาจเหนือการตลาด ไม่คำนึงถึงวิธีการใด ๆ ทั้งสิ้น ทำให้รวยยิ่งกว่ากระจุก”

“หากเฉลี่ยความรวย ขอให้ลดกำไรลงมาช่วงวิกฤตไวรัสโควิด-19 คืนให้แก่ประชาชน เพราะถึงเวลาประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ คนเหล่านี้ก็ได้กำไรเพิ่มเช่นเดิม แต่อยากบอกว่าปล่อยให้ประเทศเป็นแบบนี้ไม่ได้ จึงต้องสู้กันในระยะยาว เพราะหากไม่สู้กันในระยะยาวการผูกขาดทางเศรษฐกิจก็เป็นเช่นนี้ต่อไป”

“ที่ต้องพูดถึงเผด็จการเศรษฐกิจขึ้นมาเพราะเกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนโดยตรง ส่วนประเด็นเรื่องการเมืองวางไว้ก่อนหลังไวรัสโควิด-19 จบค่อยว่ากัน”