ราชกิจจาประกาศ นายกฯ ห้ามผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ “คลายล็อกดาวน์”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ออกข้อกําหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ให้ปฏิบัติตามแนวทางเดียวกับ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) หลังจาก ผู้ว่าราชการ กทม. ออกไกด์ไลน์เปิดกิจการ 8 ประเภทเสนอให้ ศบค. พิจารณา  และหลายจังหวัด เตรียมออกมาตรการผ่อนคลาย

คำสั่งของนายกรัฐมนตรี ในราชกิจจานุเบกษา ที่ออกมากลางดึกคืนวันที่ 29 เม.ย. 63 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 63 ระบุว่า

“ให้บรรดาประกาศหรือคําสั่งของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ผู้มีอํานาจตามกฎหมายว่าด้วย การเดินอากาศและกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองที่ได้ประกาศหรือสั่งไว้ก่อนวันที่ข้อกําหนดนี้ใช้บังคับ ไม่ว่าจะเป็นการห้าม การให้กระทําการ หรือการผ่อนคลายใด ๆ ซึ่งถือว่าเป็นประกาศหรือสั่ง ตามข้อกําหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะได้มีข้อกําหนด ประกาศ หรือ คําสั่งเป็นอย่างอื่น”

สำหรับมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่รัฐบาลประกาศเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2563 ที่ผ่านมานั้น ระบุดังนี้

มาตรา 9 ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติลงได้โดยเร็วหรือป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้

1.ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับยกเว้น

2.ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย

3.ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร

4.ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ

5.ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใด ๆ

6.ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดพื้นที่และรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้