ม.ธรรมศาสตร์ แถลง 4 ประเด็น เกี่ยวกับการชุมนุมนักศึกษา

ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (13 ส.ค.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดประชุมสภามหาวิทยาลัยเพื่อหารือเกี่ยวกับการชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา พร้อมแถลงจุดยืน 4 ประเด็น

ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวภายหลังการประชุมวตอนหนึ่งว่า การประชุมสภามหาวิทยาลัยวันนี้ เป็นไปเพื่อรับฟังรายงานของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยที่มีข้อสรุปใน 4 ประเด็น ได้แก่

1. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยืนยันในจุดยืนของการเป็นสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2. มหาวิทยาลัยยอมรับในสิทธิเสรีภาพและการแสดงออกของนักศึกษาภายใต้ขอบเขตแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

3. คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอรับไปดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมดอย่างรอบด้าน เพื่อชี้แจงให้สังคมได้ทราบต่อไป

4. มหาวิทยาลัยจะพยายามป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในมหาวิทยาลัย โดยเชื่อในแนวทางการปรึกษาหารือกันแบบสันติวิธี

ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ กล่าวว่า หลังจากนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะพิจารณาเกี่ยวกับการขอใช้สถานที่ด้วยความรอบคอบและรัดกุมยิ่งขึ้น โดยเน้นที่กิจกรรมของนักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นสำคัญ ส่วนการสอบสวน
ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยที่จะรับไปดำเนินการ

สำหรับความคิดเห็นของสภามหาวิทยาลัยที่เสนอต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยในวันนี้ ศาสตราจารย์พิเศษนรนิติ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาและนักศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ฉะนั้น ผู้บริหารต้องดูแลนักศึกษาอย่างระมัดระวังภายใต้รัฐธรรมนูญและกรอบของกฎหมาย

“ส่วนของข้อเรียกร้อง 3 ประเด็นของนักศึกษา อะไรที่ไม่อยู่นอกกรอบของรัฐธรรมนูญและกรอบกฎหมาย ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ให้สิทธิและเสรีภาพนักศึกษาที่จะพูด แต่อะไรที่ก้าวล่วงก็ต้อง
ดูแลให้ดี โดยสภามหาวิทยาลัยยืนยันในจุดยืนของการเป็นสถาบันการศึกษาที่สนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ กล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ในขณะนี้ รู้สึกเป็นห่วงและไม่อยากให้เกิด
ความรุนแรงเหมือนที่เคยเกิดในอดีต จึงหวังว่ากระบวนการสันติวิธีจะดำเนินได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน

ในวันเดียวกันนี้ อาจารย์ และ นักวิชาการ 353 คน ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ ของ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง ย้ำจุดยืนว่า มหาวิทยาลัย เป็นพื้นที่สำหรับการตั้งคำถามและแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติของสังคม