2 ขั้ว ชิงหัวแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลวงแตก พรรคฝ่ายค้านไม่เป็นขบวน

แก้รัฐธรรมนูญ
รายงานพิเศษ

3 ข้อเรียกร้องของม็อบนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะ “กลุ่มตั้งต้น”เยาวชนปลดแอก ที่ยกระดับเป็น “ประชาชนปลดแอก” มีธงเคลื่อนไหวคือ ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน

ยื่นเส้นตายต้องทำในเดือนกันยายน !

แต่ความฝัน-ความหวังที่เป็นไปได้มากที่สุดในทางการเมือง ณ นาทีนี้ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

เมื่อทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ต่างออกโรงชิงพื้นที่การเมือง “หยิบ” วาระการแก้รัฐธรรมนูญโหนกระแสม็อบนักเรียน นักศึกษา

เพราะข้อเรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญของขบวนการภาคประชาชน ต้อง “อาศัย” มือของสภาผู้แทนราษฎร 500 คน ในการขับเคลื่อน-ผลักดัน ให้จุดหมายไปถึงเป้า

Advertisment

“ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี” เลขาธิการคณะประชาชนปลดแอก จึงกล่าวถึง “ความหวัง” การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องอาศัย “มือ” ของ “นักการเมือง” ยอมรับว่ายังต้องหวังนักการเมือง เขาอาจไม่ได้เข้าใจข้อเรียกร้องของเราในเบื้องต้น แต่หลังจากการชุมนุมที่จำนวนคนมากขึ้นเรื่อย ๆและกิจกรรมการเคลื่อนไหวของเราจะส่งแรงกดดันไปยัง “นักการเมือง” มากขึ้นและเชื่อว่านักการเมืองจะทำตาม

ข้อเรียกร้องของเรา ส่วนการแก้ไขรายมาตรา ยอมได้ถ้าแก้ไขเพื่อนำไปสู่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แต่ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่มี ส.ส.ร.จะไม่ยอม

พปชร.-ปชป.เกียร์ว่าง

ความเคลื่อนไหวฝ่ายรัฐบาล มีสัญญาณ “ถอดฟืนแก้รัฐธรรมนูญ” ออกจากม็อบ ตั้งแต่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แสดงจุดยืนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ต่อด้วยพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล “กั๊กท่าที” ตัดสินใจแก้รัฐธรรมนูญ แต่โยนลูกให้ที่ประชุมวิปรัฐบาลช่วยตัดสินใจว่าจะแก้อย่างไร

Advertisment

19 สิงหาคม วิปรัฐบาลหารือกัน ก่อนปรากฏความเคลื่อนไหว ประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มี ส.ส.ร. แต่ไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาล พ่วงหมายเหตุเอาไว้ว่า ขอให้ดูผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานก่อนว่าจะสรุปผลอย่างไร

เบื้องต้น อนุ กมธ.ศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ที่มี “ไพบูลย์ นิติตะวัน” เป็นประธาน ซึ่งอยู่ภายใต้ กมธ.ศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ เคาะรายงานการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งรายมาตรา และการมี ส.ส.ร. 3 แนวทาง

แนวทางที่ 1 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เห็นว่ามีปัญหาด้วย กระบวนการที่บัญญัติในมาตรา 256 ยกเว้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะต้องไปผ่านการลงประชามติ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 256 (8)

แนวทางที่ 2 เพื่อให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ ต้องแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา ช่วงเวลาที่ 1.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในช่วงที่มีวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลสามารถทำได้ แก้ไขบทบัญญัติรายมาตรามีปัญหาเร่งด่วนไปก่อน แล้วค่อยแก้ไขกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่ต้องได้รับการเห็นชอบจาก ส.ว. (โดยกำหนดให้มีผลหลังจากวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567) ซึ่งเป็นเวลาที่ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาล พ้นวาระทำหน้าที่ 5 ปีไปแล้ว

ช่วงเวลาที่ 2 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อ ส.ว. ตามบทเฉพาะกาลพ้นวาระ 5 ปี ซึ่งสามารถแก้ไขประเด็นอื่น ๆ นอกเหนือจากที่แก้ไขไปแล้วในช่วงแรกได้ แต่ไม่ว่าจะแก้ไขให้เป็นอย่างไร ก็จะต้องเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีการรับฟังความเห็นจากประชาชน

แนวทางที่ 3 ควรมีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ และมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง

ทั้ง 3 แนวทาง พร้อมประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ+ดราฟต์ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ แบ่งเป็นของ “โภคิน พลกุล” และ “ประยุทธ์ ศิริพานิชย์” จากพรรคเพื่อไทย 3 ฉบับ และร่างของ “ไพบูลย์” จากพลังประชารัฐ 1 ฉบับ “จะถูกส่งเข้าที่ประชุมคณะใหญ่” ก่อนส่งต่อให้ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ปลายเดือน ส.ค.นี้ และนำบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 กันยายน เพื่อส่งให้รัฐบาลตัดสินใจ

ตามไทม์ไลน์นิติบัญญัติวางคิวแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อนปิดสมัยประชุม 24-25 กันยายน หรืออีก 1 เดือนข้างหน้า

ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคอันดับ 3 ในขั้วรัฐบาล “ออกตัวแรง” ตอนเลือกตั้งประกาศไม่รับรัฐธรรมนูญ 2560 และยื่นเงื่อนไข ขีดเส้นใต้การร่วมรัฐบาลจะต้องให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ “เป็นวาระเร่งด่วน” แต่ถึงคิวต้องแก้รัฐธรรมนูญโดยด่วน พรรคประชาธิปัตย์ “ไม่ออกตัวแรง” เหมือนก่อนหน้านี้

มีเพียงแอ็กชั่นของ “ราเมศ รัตนะชะเวง” โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ บอกเพียงว่า ได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 256 และในหมวดการตั้ง ส.ส.ร.เสร็จแล้ว พรรคเห็นว่าต้องมี ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 150 คน ส่วนอีก 50 คน เป็นกระบวนการสรรหาจากวิชาชีพอื่น รวมถึงนักศึกษา นอกจากนี้ ยังมีสัดส่วนของพรรคการเมืองด้วย ยืนยันเราไม่เตะในหมวด 1 และหมวด 2 แต่จะแก้บทเฉพาะกาลที่มา ส.ว.

ภูมิใจไทยออกตัวล้อฟรี แซงทางโค้ง

แต่พรรคการเมืองที่ออกตัวแรง-แซงทางโค้ง “ภูมิใจไทย” ของ “อนุทิน ชาญวีรกูล” พาทั้งพรรคมาประกาศจุดยืนแก้รัฐธรรมนูญเป็นพรรคแรก ให้มี ส.ส.ร. 200 คน แต่ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 อันแหลมคม และให้รัฐบาลยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ทันทีที่รัฐธรรมนูญร่างเสร็จ เพียงแต่ยังไม่มี “รายละเอียด” ที่มา ส.ส.ร. มีหัวนอนปลายเท้ามาอย่างไร

ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ และอีก 17 พรรค ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

“ภราดร ปริศนานันทกุล” โฆษกป้ายแดงของพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า “สูตรแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ของภูมิใจไทย กำหนดให้มี ส.ส.ร. โดยใช้ ‘เขตจังหวัด’ เป็นเขตเลือกตั้ง ให้แต่ละจังหวัดมีตัวแทน ส.ส.ร. อย่างน้อยจังหวัดละ 1 คน ส่วนวิธีการเลือกเป็นประเด็นที่จะคุยกันอีกครั้ง เป็นรายละเอียดปลีกย่อย แต่จะไม่มีการแตะหมวด 1 หมวด 2 ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย และรูปแบบของรัฐ”

“ภราดร” บอกว่า ภูมิใจไทยเตรียมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับภูมิใจไทย ประกบกับร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลแน่นอน

ก้าวไกล-เพื่อไทย สู้กันเดือด

แต่ฝ่ายที่ “ขบเหลี่ยม” แก้รัฐธรรมนูญกันดุเดือด หนีไม่พ้นพรรคร่วมฝ่ายค้าน 6 พรรค แม้ว่าหน้าฉากดูเหมือนจับมือเป็น “พันธมิตร” แต่หลังฉาก การที่ “พรรคก้าวไกล” ถอนชื่อจากการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 6 พรรคฝ่ายค้านที่ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 และวางแผนจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับก้าวไกล ถือว่าเป็นการกระทำที่หักหน้า

ในวงถกปมแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน “พรรคก้าวไกล” แพ้โหวตในที่ประชุมเรื่องการแตะหมวด 1 หมวด 2 แกนนำก้าวไกลบอกว่า “ถ้าเสียงถึงทำเองไปแล้ว”

แต่ที่ชนะการโหวตคือ กำหนดอายุ ส.ส.ร. มีอายุ 18 ปีเป็นต้นไป แต่พรรคเพื่อไทยไม่ได้หยิบมาโฆษณาว่าเป็นไอเดียของ “ก้าวไกล” ที่โน้มน้าวให้ฝ่ายค้านเห็นตาม

อย่างไรก็ตาม “สุทิน คลังแสง” ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า เราเสนอการเลือกตั้ง ส.ส.ร. จากประชาชนรวม 200 คน จากจังหวัดต่าง ๆ อายุตั้งแต่ 18 ปีเป็นต้นไป ส่วนเนื้อหาสาระก็ให้ ส.ส.ร.กำหนด ส่วนเรื่องกรอบเวลายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

คาดว่าจะใช้เวลาอย่างช้าประมาณ 1 ปี หากการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ผ่านวาระแรกได้ในเดือนกันยายน จากนั้นเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการ ประมาณการว่าเมื่อแก้มาตรา 256 เสร็จ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการประชามติรวมทูลเกล้าฯ คาดว่าได้ ส.ส.ร.ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จากนั้นใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญประมาณ 13 เดือน ไม่เกิน 15 เดือน

ก้าวไกลชงปิดสวิตช์ ส.ว.

ต่อมา “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล บอกว่า พรรคจะไม่ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถึงกระบวนการ ส.ส.ร.ซ้ำอีก แต่จะขอ “สงวนความเห็น” หมวด 1 หมวด 2 ไว้แปรญัตติในสภา หลังการสภารับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว

แต่แผนของ “ก้าวไกล” เด็ดกว่านั้นคือ แผนชงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 269-272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ร่างทรงทหาร 250 คน ซึ่งเป็น “ด่านหิน” สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะทุกขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องใช้เสียง ส.ว.ร่วมอนุมัติอย่างน้อย 84 เสียง

“พรรคร่วมฝ่ายค้านคุยกันไว้หลายเรื่องว่าจะยื่นเรื่องอะไรบ้าง แต่เราจัดลำดับความสำคัญ เอาเรื่อง ส.ส.ร.ก่อน เพราะสำคัญที่สุดลำดับถัดไปคือ เรื่อง ส.ว. จากนั้นลำดับรอง ๆ ลงมา บางพรรคในฝ่ายค้านยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้งไปด้วย เมื่อยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส.ส.ร.หรือ ส.ว. อยากให้ทันสมัยประชุมนี้ ส.ว.เป็นทางดีที่สุด ไม่ใช้เวลานาน”

“ส.ส.ร.จะมีปัญหาตรงที่ไปรอทำประชามติทีเดียว ซึ่งการแก้ไข ส.ว.ไม่มีความจำเป็นต้องไปทำประชามติ เพราะไม่ได้ไปแก้ไขเรื่องคุณสมบัติ ยื่นได้เลย ชื่อพร้อมเมื่อไหร่ ยื่นเร็วก็ให้ทันสมัยประชุมนี้ อย่างน้อยผ่านวาระ 1 พร้อมกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้ตั้ง ส.ส.ร.”

“พรรคก้าวไกลมีเสียงแค่ 54 เสียง จึงจำเป็นต้องขอเสียงพรรคฝ่ายค้านด้วย หวังว่าเราจะได้เสียงถึง 98 เสียงขึ้นไป เพื่อยื่นญัตตินี้ต่อสภาผู้แทนราษฎร” ชัยธวัชกล่าว

เพื่อไทยยึกยักเติมเสียง

แต่บังเอิญว่า ความคิดของ “ก้าวไกล” อาจ “ก้าวไม่ถึงฝัน” เพราะต้องใช้เสียงฝ่ายค้านร่วมลงชื่ออีก 40 กว่าเสียง ให้ครบ98 เสียง โดยมีเพื่อไทยเป็นกำลังหลัก ทั้งที่เพิ่ง “หักหน้า” กันมาสด ๆ ร้อน ๆ

ทว่า ในวงประเมินสถานการณ์ลึก-ลับของเพื่อไทย ประเมินสถานการณ์แล้วว่า ยังไม่ควรรีบร้อน เพราะตอนนี้รัฐบาลเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.แล้ว ควรรอให้ผ่านไปถึงวาระที่ 3 ก่อน จากนั้นค่อยเสียบการแก้ที่มาส.ว.ภายหลัง เพราะถ้าเสนอตอนนี้จะถูก ส.ว.ขัดขวางทำให้เกมรัฐธรรมนูญประสบอุบัติเหตุ

ถ้าทำแบบ “ก้าวไกล” จะทำให้เสียแผนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยเอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปิดสวิตช์ ส.ว. เข้าที่ประชุมพรรค เพื่อให้ ส.ส.พินิจตรึกตรอง

หากที่ประชุม ส.ส.เพื่อไทยไม่ร่วมลงชื่อด้วย มีทางเดียวที่ “ก้าวไกล” วางแผนไว้เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. คือตั้งโต๊ะล่าลายชื่อนอกสภา กดดันในสภาต่อไป

วาระแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่าชัดเจน ยังดูเหมือนอึมครึม

เกมแก้รัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านก็ยังไม่เป็นขบวน