เปิดปมร้อน 60 ส.ว.กลับใจ ชงแก้รัฐธรรมนูญ ปิดสวิทต์ตัวเอง หักดิบ “บิ๊กตู่”

ปมร้อนการเมืองในสภาอันทรงเกียรติ ถูกการเมืองข้างถนนลากมาถึงจุดที่ “สมาชิกวุฒิสภา” ตั้งกลุ่ม 60 ส.ว. ประกาศจุดยืนยอม “หั่นอำนาจ” การโหวตนายกรัฐมนตรี ใน 5 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ของตนเอง

แถมอาจเข้าข่ายแปรพักต์-หักดิบ ผู้ให้กำเนิด เพราะ ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีหัวหน้าคณะคือ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก่อนจะสลัดคราบนายกฯ ทหาร มาสู่ นายกฯ คนปัจจุบัน ที่มาจาก “การเลือกตั้ง” ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐ

ด้วยเสียงโหวตท่วมท้นจากรัฐสภา (ส.ส.+ ส.ว.) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 ด้วยเสียง 500 เสียง

เอาชนะแคนดิเดตนายกฯ จากฝ่ายค้าน ชื่อ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ในเวลานั้น ที่ได้เสียงเพียง 244 เสียง จากสมาชิกมาร่วมประชุม 747 คน แบ่งเป็น ส.ว. 250 คน และ ส.ส. 497 คน

แกะเสียงโหวตนายกฯ ในวันนั้น ปรากฏว่า ส.ส.ลงมติให้ “พล.อ.ประยุทธ์” 251 เสียง จากพรรคการเมือง 18 พรรค

ส่วน 250 ส.ว. โหวตแบบไม่แตกแถว 249 เสียง  ขาดเพียง “พรเพชร วิชิตชลชัย” ในฐานะ รองประธานรัฐสภาที่งดออกเสียงตามมารยาท – ธรรมเนียมปฏิบัติ ลงล็อกตามรัฐธรรมนูญ มาตา 272 ที่ให้ ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ ในช่วง 5 ปีแรก

ทว่า “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ สมัย 2 ได้ไม่ถึง 1 ปี ก็เกิดเสียงขับไล่นอกสภา แกนหลักมาจากกลุ่มนิสิต นักศึกษา นักเรียน พลังคนรุ่นใหม่ในสังคม ตั้งข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ 1.แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2.ยุบสภา 3.หยุดคุกคามประชาชน

แม้ว่ารัฐบาลจะ “ตอบสนอง” เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ แต่กลับมีข้อเสนอพ่วงที่ดังขึ้นเรื่อยๆ แบบไร้แรงฉุด คือ แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อล้างอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกฯ ในช่วง 5 ปี แรก

แล้วสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ส.ว.สรรหา ที่ คสช.ร่อนตะแกรง เลือกมา 250 ชีวิต กลับเห็นด้วยกับการ “หั่นอำนาจ” การโหวตนายกฯ ของตัวเอง ตามข้อเรียกร้องของม็อบเยาวชนขาสั้นนอกสภา

ตั้งกลุ่ม 60 ส.ว.ขึ้นมา เป็น ส.ว.อิสระฝ่ายพลเรือน ไร้ตำรวจ – ทหาร ที่ได้รับการสถาปนาตำแหน่ง ส.ว.โดยตำแหน่ง

หนึ่งใน ส.ว.กลับใจ คือ “กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ” ส.ว. กล่าวว่ายอมรับว่า อยู่ในกลุ่ม ส.ว.อิสระ เป็นกลุ่มที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่

แนวทางของกลุ่มมีความชัดเจนสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ควรแก้ไขแบบรายมาตราไม่ใช่การตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะมองว่า ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่เป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ แต่เป็นเงา ส.ส. ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ยังคงมีปัญหาความขัดแย้งไม่จบ และไม่สบายใจว่า ส.ส.ร.จะยกร่างรัฐธรรมนูญเลยเถิดไปขนาดไหน กลุ่ม ส.ว.อิสระพร้อมให้แก้รัฐธรรมนูญ แต่ควรทำเป็นแบบรายมาตรา เพราะจะไม่สร้างความขัดแย้ง และประหยัดงบประมาณ

“หากจะมีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรีก็ไม่ขัดข้อง เพราะแต่ละคนเห็นตรงกันว่า หมดความจำเป็นที่จะให้ ส.ว.มาโหวตเลือกนายกฯแล้ว ถ้า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ ต้องใช้ความสามารถตัวเองไปหาเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.เอง เพื่อพิสูจน์บารมี จะได้มีความสง่างาม ไม่ต้องใช้เสียง ส.ว.มาช่วย จะได้ไม่ถูกมองเรื่องการสืบทอดอำนาจ”

ขณะที่ “ส.ว.” ตัวขับเคลื่อนเกม แถมยังอยู่ในแม่น้ำ 5 สายมาตั้งแต่แรกเริ่ม อย่าง “คำนูณ สิทธิสมาน” มองว่า  ที่ให้ คสช.เลือก 250 ส.ว.มาเลือกนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยตามปกติ แม้จะอธิบายว่า เป็นระบอบการเมืองเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่านให้บรรลุเป้าหมายเรื่องความสงบสุขในบ้านเมือง และดำเนินการปฏิรูปประเทศตามแผนงานในช่วง 5 ปีแรก แต่ขณะนี้ทั้ง 2 เป้าหมายไม่สามารถบรรลุผลได้ โดยเฉพาะการปฏิรูปประเทศ

“อย่างปฏิรูปตำรวจที่ต้องกล่าวด้วยความเจ็บปวดว่า รัฐบาลชุดนี้สอบไม่ผ่าน ดังนั้นเมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว ขอตอบโจทย์โดยไม่ลังเลว่า ขณะนี้ไม่มีความคุ้มค่าจะคงมาตรการพิเศษเฉพาะกาลช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อการปฏิรูปประเทศอีกต่อไป เรื่องที่ตรงเป้าที่สุดคือ ควรตัดมาตรา 272 เรื่องให้ ส.ว.มีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีออกจากรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวมองว่า ควรแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเป็นประเด็นๆไปก่อน เอาประเด็นเร่งด่วนที่ถูกมอง ไร้ความชอบธรรมที่สุดคือมาตรา 272 จะเหมาะกว่าการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย ส.ส.ร.”

ย้อนต้นตำหรับมาตรา 272 นั้น มาจากการที่ คสช.ส่ง “จดหมายน้อย” ถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ “มีชัย ฤชุพันธุ์” เป็นประธาน

โดยเป็นหนังสือ “ด่วนที่สุด” ลงวันที่ 13 มีนาคม 2559 ถึง ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในหัวข้อ “ข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงบทเฉพาะกาลในร่างรัฐธรรมนูญ” 6 ข้อ  1 ใน 6 ข้อ คือต้นกำเนิดมาตรา 272 คำขอในจดหมายน้อยวันนั้นระบุว่า

“สมาชิกวุฒิสภาประเภทนี้ไม่มีอำนาจหน้าที่เลือก หรือกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี แต่ควรให้มีอำนาจหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ดูแลการขับเคลื่อนการปฏิรูป ตามแผนการปฏิรูป แนวนโยบายแห่งรัฐ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ ตลอดจนมีส่วนในกระบวนการนิติบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญจะกำหนด…”

“…เพื่อให้วุฒิสภาในวาระแรกนี้สามารถทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ มิให้ฝ่ายการเมืองอาศัยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร บิดเบือนเจตนารมณ์หรือฝ่าฝืนความต้องการของประชาชน และยังสามารถช่วยสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล ที่มีธรรมาภิบาลและปฏิบัติหน้าที่ถูกต้องชอบธรรมเป็นที่พอใจแก่ประชาชน จึงควรให้วุฒิสภามีบทบาทในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจหรืออื่น ๆ ตามกติการะบบรัฐสภาและกระบวนการยุติธรรมตามสมควรในระหว่างช่วงการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวด้วย…” 

จากนั้น 2 สัปดาห์ กรธ.ของ “มีชัย” ก็ได้คลอดมาตรา 272 เป็นต้นกำเนิด ส.ว.ทั้ง 250 คน ที่มาจาก ที่มาจากการเลือกโดย คณะกรรมการสรรหาที่ คสช. ตั้งขึ้น 200 คน ส่วน 50 คน มาจากการสรรหาตามสาขาอาชีพ ที่บรรจุไว้ในบทหลักของรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายต้องให้ คสช.เคาะในกระบวนการสุดท้าย

ขณะที่ “อำนาจ” โหวตเลือกนายกฯ ถูก “คิกออฟ” โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ออกคำถามพ่วงประชามติ 7 สิงหาคม 2559 มีถ้อยคำว่า…

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”

และผลประชามติก็ออกมาว่าเห็นชอบกับคำถามพ่วง คำถามพ่วง 58.70% ผู้มาใช้สิทธิ 29.7 ล้านคน

จึงเกิดเป็นมาตรา 272 ให้อำนาจ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ อย่างสมบูรณ์

แต่แล้ววันนี้ กลุ่ม 60 ส.ว. กำลังเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการหั่นอำนาจตัวเอง – กลับใจ สวนทางกับผู้ที่ร่อนตะแกรงเลือก ส.ว.250 คน แต่เพียงผู้เดียว เมื่อ 2 ปีก่อนคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา