“ประยุทธ์-ประวิตร” ปัดฝุ่น กระทรวงดินและน้ำ ดูดงบประชารัฐ

พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร
พล.อ.ประยุทธ์-พล.อ.ประวิตร

ภัยพิบัติทางธรรมชาติน้ำท่วม-น้ำแล้ง “ซ้ำซาก” 6 ปีที่ผ่านมารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยัง “แก้ไม่ตก”

แม้จะใช้ “อำนาจพิเศษ” ออกคำสั่งคสช. ที่ 46/2560 ตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยมี “สมเกียรติ ประจำวงษ์” เป็น “ผู้อำนวยการคนแรก” ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” หรือ สทนช. ขึ้นตรงสำนักนายกรัฐมนตรี

โดยมี “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะรองนายกนายกรัฐมนตรี “หัวโต๊ะ” คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กุมหน่วยงาน “บริหารจัดการน้ำ” น้ำท่วม-น้ำแล้งทั้งระบบ ต้องการนำแนวคิดการตั้งกระทรวงน้ำ มา “ปัดฝุ่น” อีกครั้ง และให้ “เกิดขึ้นได้จริง” ในระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน

เป็นการควบรวม “หน่วยงานน้ำ” อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ-น้ำบาดาล กรมชลประทาน ไว้ที่เดียวกัน เพื่อรวบรวมงบประมาณ

เพราะถึงแม้จะมี สทนช. ซึ่งเปรียบเสมือน regulator – ไม่ใช่ฝ่ายปฏิบัติ ขับเคลื่อนโดยโครงสร้างของ กนช. ที่พล.อ.ประวิตรเป็นประธาน แต่จากการขับเคลื่อนโครงการที่ผ่านมา “ติดหล่ม” อยู่ในแต่ละกรม กำหนดไป-แต่ไม่ได้ตามแผน

โดยให้ สทนช. มาเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงน้ำ หรือ เป็นสำนักงานนโยบายและแผน ภายหลัง “นำร่อง” ไปล่วงหน้า เพราะมีการยืมตัว-ถ่ายโอนกำลังคน ข้าราชการจากกรมทรัพยากรน้ำ-กรมชลประทาน และการโอนรับและสรรหาข้าราชการ พนักงานเพิ่มเติม

ขณะนี้ สทนช.ขึ้นรูปโครงสร้างภายในสำนักงาน เพื่อรองรับการตั้งกระทรวงน้ำ ตลอดจนการออกกฎหมายขึ้นมารองรับหลายฉบับ อาทิ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2561 แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี แผนแม่บททรัพยากรน้ำ

“น่าจะเป็นกระทรวงดินและน้ำ ต้องไปด้วยกัน เพราะที่ผ่านมาที่ดิน สปก.ที่แจกไป ทำการเกษตรได้หรือไม่ เพราะที่ดินที่ได้ไปต้องได้รับการพัฒนาระบบชลประทาน หรือ คุณภาพดินไม่ได้ โดยนำหน่วยงานที่เกี่ยวกับที่ดินและน้ำมารวมกัน”คีย์แมนพลังประชารัฐ-แกนนำบ้านป่ารอยต่อระบุ

“แนวคิด” การตั้ง “กระทรวงน้ำ” ถูกพูดมาแล้วหลายรัฐบาลที่ดูจะ “ใกล้เคียงที่สุด” คือ สมัย “รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์” ภายหลังต้องประสบกับ “มหาอุทกภัย” เมื่อปี 2554 มูลค่าความเสียหาย “มหาศาล” กว่า 1.44 ล้านล้านบาท

“ดร.โกร่ง” นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ในขณะนั้น ได้มอบหมายให้ “วิษณุ เครืองาม” หนึ่งในกรรมการ กยอ. ร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) จัดตั้งองค์การมหาชน ให้เป็น “องค์กรพิเศษ” ในการรับมือมหาอุทกภัย-แก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ

ระยะเฉพาะหน้า คือ การออก พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การมหาชน ขึ้นมาเพื่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉินเร่งด่วน แต่ไม่มีอำนาจเต็ม

“หัวใจ” ของการตั้ง “องค์การมหาชน” เพื่อสลัดการทำงานออกจากระบบราชการให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก ระยะที่สอง คือ การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยกระดับองค์การมหาชน-มีอำนาจเต็ม

โดยมีอำนาจ-หน้าที่ระยะแรกของการองค์การมหาชน คือ เป็น “ตัวกลาง” ในการประสานกับกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ รวมถึงการประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อแก้วิกฤตน้ำ

ระยะต่อไปเมื่อเป็นออก พ.ร.บ.เพื่อยกระดับเป็นกระทรวงน้ำ มีอำนาจในการเวนคืนที่ดิน จัดการผังเมือง รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างกีดขวางลำน้ำ

“ปลอดประสพ สุรัสวดี” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ออกมาวางโครงสร้าง “กระทรวงน้ำ” เป็นการระดมบุคลากรจากหน่วยงานทั่วประเทศ

โดยเริ่มจากการปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สอบช.) มาขึ้นตรงกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและใช้ผังการบริหารงานของ กบอ.ที่มีรองนายกรัฐมนตรี และประธาน กบอ.ในฐานะผู้ดูแลกำกับนโยบาย เป็นแนวทางการบริหารงาน

นอกจากนี้ให้โยกย้ายกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ อาทิ กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า สถาบันจีสด้า สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตรมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงน้ำ รวมถึงตั้ง “กรมใหม่” อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมนโยบายน้ำ กรมส่งเสริมการใช้น้ำ กรมวิชาการน้ำ

คู่ขนานกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่มี “ทศพร ศิริสัมพันธ์” เป็นเลขาธิการ ก.พ.ร. ได้แนวทางการตั้ง “กระทรวงน้ำ” ไปยังรัฐบาล โดยเอาหน่วยงานที่เกี่ยวกับน้ำ ที่อยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะ “กรมชลประทาน” มาไว้ที่ “กระทรวงน้ำ” เพื่อบูรณาการงาน-งบประมาณ ไม่ให้ “ต่างคนต่างทำ”

ทั้ง “วิษณุ” และ “ทศพร” เป็น “สองคีย์แมนน้ำ” ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ และเป็น “ขุนพล” ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ในปัจจุบัน

ในวันที่ 7 ธันวาคม 2563 “พล.อ.ประยุทธ์” เตรียมลงพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อซับน้ำตาคนใต้ ให้หายใจได้เหนือน้ำ จึงเป็นจังหวะ-เวลา “จุดพลุ” การตั้ง “กระทรวงน้ำ” ขึ้นอีกครั้ง