ลุ้น ครม. เคาะแพ็กเกจภาษี เลื่อนจ่าย ได้ 3 เดือน ลดภาษีที่ดิน 90%

ประชุมครม.

ลุ้น ครม.ประยุทธ์ เคาะแพ็กเกจเยียวยามนุษย์เงินเดือน เลื่อนชำระภาษีเงินได้ 3 เดือน ลดค่าโอน-จำนองบ้าน บ้าน 3 ล้าน จ่าย 300 พ่วงลดภาษีที่ดินเหลือ 10 %

วันที่ 26 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมครม.จะพิจารณาเห็นชอบมาตรการด้านภาษี เพื่อลดภาระรายจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนกลุ่มต่าง ๆ และผู้ประกอบการ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย ขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังจะมีการเสนอมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิดเพิ่มเติม ในรูปแบบมาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยลดภาระรายจ่ายให้กับประชาชน และผู้ประกอบการ ประกอบด้วย ขยายเวลาการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 63 กับกรมสรรพากรออกไปอีก 3 เดือน

ซึ่งเดิมกำหนดสิ้นสุดยื่นวันสุดท้าย 31 มี.ค.64 ออกไปเป็นวันที่ 30 มิ.ย.64 เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าภาษีให้แก่ผู้เสียภาษี และให้มีสภาพคล่องนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

นายอาคมกล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรอบปี 64 ลง 90% และให้จัดเก็บจริงเพียง 10% ครอบคลุมที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ทำการเกษตร ที่ดินว่างเปล่า และใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ อุตสาหกรรมหรืออื่นๆ

ทั้งนี้ จะมีการขยายมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนซื้ออสังหาริมทรัพย์ สำหรับราคาบ้านไม่เกิน 3 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และลดค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย

โดยจะลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากเดิม 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์เหลือ 0.01% และยังลดค่าจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากเดิม 1% ของมูลค่าที่จำนอง เหลือ 0.01% ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก เช่นกรณีซื้อบ้านหลังละ 3 ล้านบาท เดิมจะต้องเสียค่าโอนและจดจำนองสูงถึง 60,000 บาท จะลดเหลือ 300 บาทเท่านั้น

นายอาคมกล่าวว่า สำหรับการจะให้สิทธิประโยชน์แก่คนที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทั้งข้าราชการประจำ ลูกจ้างและพนักงานข้าราชการ รวมึงผู้ประกันตนมาตรการ 33 จะต้องมีการคัดกรองคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขก่อน เช่น เป็นลูกจ้างของรัฐต้องไม่เป็นผู้ที่อยู่ในระบบคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ข้าราชการประจำ)

ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จะต้องกำหนดคุณสมบัติ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขต้องเป็นบุคคลที่มีรายได้ต่ำ เช่น ลูกจ้างรายวัน ได้รับเงินวันละ 300-350 บาท ลูกจ้างประจำ ต้องมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด

นอกจากนี้ ในเดือนเมษายน 2564 จะแพ็กเกจเยียวยาเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยจะเจาะจงให้กับกลุ่มมนุษย์เงินเดือน พนักงานบริษัทและผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่บางส่วนถูกลดเงินเดือน และมีการลดการจ่ายค่าจ้าง และอาจจะถูกเลิกจ้าง เลย์ออฟ ให้มีเงินเพิ่มเพื่อการครองชีพ

ทั้งนี้ การลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่กระทรวงการคลังจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา จะมีการออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 ในที่ดินทุกประเภท ได้แก่ ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย ที่ดินที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ นอกจากเกษตรกรรม/ที่อยู่อาศัย รวมถึงที่รกร้างว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ ซึ่งจะทำให้เจ้าของหรือผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสียภาษีเพียง 10% ของภาระภาษีที่ต้องจ่าย อัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ลดลง 90% เหลือ 10%

1. ที่ดินประกอบการเกษตร ถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา กฎหมายกำหนดให้ 3 ปีแรก (ปี 2563-2565) จะได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี แต่ถ้าเจ้าของเป็นนิติบุคคล จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.01 หากมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท คิดเป็นค่าภาษี 500 บาท แต่เมื่อลดภาษี 90% แล้ว จะชำระภาษีเพียง 50 บาท

2. ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย สำหรับบ้านหลังหลักที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท และ 10 ล้านบาท กรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน สำหรับบ้านหลังอื่น หากมูลค่าประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.02 คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดภาษี 90% แล้ว จะชำระภาษีเพียง 100 บาท

3. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า รวมถึงกรณีที่ใช้ประโยชน์ประกอบการพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม หากมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.3 คิดเป็นค่าภาษี 15,000 บาท แต่เมื่อลดภาษี 90% แล้ว จะชำระภาษีเพียง 1,500 บาท

ส่วนมาตรการลดธรรมเนียมการโอนอสังหาริมทรัพย์ และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์เหลือ 0.01% กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 และได้สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2563 ดังนั้นหลังครม.อนุมัติ คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2564

การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ ช่วยลดภาระรายจ่ายผู้ซื้อบ้าน จากอัตราที่กำหนด ดังนี้

  1. ลดค่าธรรมเนียมการโอน อัตราปกติ 2.00% เหลือ 0.01%
  2. ลดค่าธรรมเนียมการจำนอง อัตราปกติ 1.00 % เหลือ 0.01%