เริ่มแล้ว! เปิดร่างสัญญาประชาคม 10 ข้อ หนุนปรองดอง เน้นการเมือง “บริสุทธิ์-ยุติธรรม”

ภาคกลางเริ่มแล้ว เปิดร่างสัญญาประชาคม 10 ข้อ หนุนปรองดอง เน้นการเมือง “บริสุทธิ์-ยุติธรรม” ใช้กลไกรัฐสภา แก้ปัญหา ย้ำต้องเดินตามยุทธศาสตร์ชาติ ขับเคลื่อน ปท.

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 17 กรกฎาคม ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพน้อยที่ 1 เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะในพื้นที่ภาคกลาง 26 จังหวัด เพื่อชี้แจงร่างสัญญาประชาคม

โดยมีประชาชน ตัวแทนกลุ่มการเมือง พรรคการเมืองในภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร ร่วมทั้งหมด 312 คนในพื้นที่จ.ภาคกลาง จังหวัดละ 12 คน 71 พรรค การเมือง 2 กลุ่มการเมือง เช่น นายชวลิต วิชัยสุทธิ์ อดีตรักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และนายธนา ชีรวินิจ อดีตสส. กรุงเทพ พรรคประชาธิปัตย์ รวมไปถึง NGOs ภาคประชาสังคม และ ภาคเอกชน เข้าร่วมเวทีอย่างคับคั่ง

พล.ท.กู้เกียรติ กล่าวเวที ว่าตนทราบว่าทุกภาคส่วนต้องการให้ประเทศมีความสามัคคี และเดินไปข้างหน้าอย่างสันติ จึงคาดว่าการจัดเวทีครั้งนี้จะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ราบรื่น มีบรรยากาศยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลาย ปราศจากความขัดแย้ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความสามัคคีในอนาคต ขณะเดียวกันเป้าหมายปรองดอง คือการมุ่งเน้น การแก้ไขปัญหาประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความสามัคคีให้เกิดความยั่งยืน โดยคำนึงถึง ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ซึ่งการเก็บข้อมูลที่หลากหลายสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของประชาชน จะส่งผลให้สัญญาประชาคมมีความสมบูรณ์ และเป็นฉันทามติที่สมบูรณ์ เพื่อทำให้ประเทศเดินหน้าไปในอนาคต

สำหรับการเสวนาครั้งนี้ พล.ต.อภิศักดิ์ สมบัติเจริญนนท์ ผู้แทนคณะอนุกรรมการพิจารณา การบูรณาการข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง และพล.ต.ชนาวุธ บุตรกินรี ผู้แทน คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนฯ และพ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ดำเนินรายการ

สำหรับเนื้อหาร่างสัญญาประชาคม แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ บทนำ ความคิดเห็นร่วม และภาคผนวก โดยความคิดเห็นร่วมมี 10 ข้อ ประกอบไปด้วย

1. คนไทยทุกคน เพิ่งร่วมมือกันสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดองเพื่อให้ประเทศไทยมีความเป็นหนึ่งเดียวภายใต้การปกครอง ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าใจระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงใช้สิทธิเสรีภาพอย่างถูกต้องและกรอบกฎหมาย มีส่วนร่วมกับการเมืองภาคประชาชนยอมรับความแตกต่างทางความคิดส่งเสริมสถาบันการเมืองให้มีความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้งที่โปร่งใสบริสุทธิ์ยุติธรรมและยอมรับผลการเลือกตั้งซึ่งถือเป็นฉันทามติของคนไทยทั้งประเทศ รวมทั้งร่วมกันตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐและการแก้ไขปัญหาโดยใช้กลไกรัฐสภา

2. คนไทยทุกคนพึงน้อมนำศาสตร์พระราชา ประยุกต์ใช้ในชีวิต
3. คนไทยทุกคนพึงยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม
4. คนไทยทุกคนพึงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
5. คนไทยทุกคนพึงส่งเสริม การดูแลคุณภาพชีวิต และสาธาณะสุข
6. คนไทยทุกคนพึงเคารพ เชื่อมั่น และปฏิบัติตามกฏหมาย สนับสนุนกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในสังคม
7. คนไทยทุกคนพึงใช้ความรอบคอบในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไม่บิดเบือน
8. คนไทยทุกคนพึงตระหนัก ในการส่งเสริมสังคมให้มีมาตรฐานสากล ตามกฎกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี
9. คนไทยทุกคนพึงส่งเสริมการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ให้สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
10. คนไทยทุกคนเรียนรู้ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ

ทั้งนี้ร่างสัญญาประชาคมมาจากการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ถึง 8 พฤษภาคม โดยนำมาร่วมกับทบทวนการศึกษาวิจัยและวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งในวันนี้จะเป็นการแถลงถึงขั้นตอนวิธีการจัดทำและเนื้อหาสาระของร่างสัญญาประชาคมรวมถึงกระบวนการการจัดทำความเห็นร่วมที่ทุกเสียงของประชาชนทั้งข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะและประเด็นสำคัญที่มีประโยชน์และมีความสำคัญในการผลักดันให้รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขปัญหาเพื่อให้ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

 

ที่มา : มติชนออนไลน์