ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 8 ต่อ 1 ตั้ง ส.ส.ร.แก้ไขรัฐธรรมนูญได้

ศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลมีคำวินิจฉัย ให้ตั้ง ส.ส.ร.เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้ แต่ต้องทำประชามติถึง 2 ครั้ง

วันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่ คำวินิจฉัย การลงมติ การวินิจฉัยคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกรัฐสภา ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจรัฐสภาในการตั้ง ส.ส.ร.เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่

ทั้งนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติ 8 ต่อ 1 เห็นว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วลงประชามติอีกครั้ง

โดยในช่วงเช้าวันนี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมเพื่อแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ คำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1)

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่ กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

กรณีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มาจากคำร้องที่ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1)

สืบเนื่องจากที่ประชุมรัฐสภา มีมติด้วยเสียงข้างมาก เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 เห็นชอบให้พิจารณาญัตติด่วนที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) เสนอให้รัฐสภาพิจารณา เพื่อขอมติให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง ( 2) เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (1)

ประกอบกับการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ผู้เกี่ยวข้อง คือ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ และนายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรธ. ทำความเห็นเป็นหนังสือต่อกรณีปัญหาดังกล่าว เสนอต่อศาลเพื่อมาประกอบการวินิจฉัย

ก่อนหน้านี้ ทั้งความเห็นของนักวิชาการ ฝ่ายค้าน ต่างมองในทางเดียวกันว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้นี้ “ปริญญา เทวานฤมิตรกุล” รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ให้ความเห็นผ่านเพจข่าวช่อง 3 ถึงแนวโน้มวินิจฉัยของศาลว่า

1.ศาลเห็นว่ากรณีนี้ยังไม่เป็นปัญหา รัฐสภาสามารถแก้ไขเองได้ ส่งเรื่องกลับให้รัฐสภาเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อไป

2.เห็นว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้เนื่องจากที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง คือ

ตอนแก้ไขเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 และ ฉบับปี 2540 ซึ่งก็ไม่ขัดกับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2555 ที่ระบุว่าหากจะเป็นการแก้ไขทั้งฉบับให้ทำประชามติก่อน ซึ่งการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภาตอนนี้เป็นเพียงการตั้งเรื่องขึ้นมา หากผ่านสภาก็ต้องไปทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ นั่นคือ ผู้ตัดสินใจว่าจะให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ ก็คือ ประชาชน

3. รัฐสภา ไม่มีอำนาจ ซึ่งจะทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาตกไปทั้งหมด และในอนาคตก็จะไม่สามารถทำได้

ขณะที่ “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประธานคณะทำงานกฎหมาย ให้ความเห็นสอดคล้องกับ “อ.ปริญญา” โดยยก คำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ 2555 เป็นการวินิจฉัยรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 291 ไม่ได้มีวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเหมือนรัฐธรรมนูญมาตรา 256(8) เลยในเรื่องการทำประชามติ

แต่ศาลรัฐธรรมนูญให้ไปทำประชามติเสียก่อน โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติของประชาชน โดยตรรกะ และเหตุผล ที่เราทำอยู่คือขอประชามติ ไม่ได้เปลี่ยนแนวไปจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

“ดังนั้น โดยความเห็นส่วนตัว ศาลไม่น่าที่จะบอกว่าไม่ถูก โดยเหตุโดยผลไม่มีช่องทางไปตัดสินว่าการกระทำไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แม้จะอ้างคำวินิจฉัยเดิมก็ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ส่วนตัวยังคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคิดว่าไปได้ โหวตต่อในวาระ 3”

ชูศักดิ์ ยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของรัฐสภา

ขั้นตอนต่อไป ทุกฝ่ายจับตาว่า “รัฐสภา” จะลุยโหวตลงมติวาระที่ 3 เลยหรือไม่ หรือญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ที่รอการโหวตในวาระที่ 3 “ต้องถูกตีตก” หรือ “ต้องพักไว้ก่อน”

เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า “ต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่”

จึงต้องมีการ “ตีความอีกคำรบ” หากลุยโหวตในวาระที่ 3 เกมจะเคลื่อนไปอยู่ฝั่ง  ส.ว. เพราะในการโหวตวาระที่ 3 เงื่อนไขการโหวตผ่านรัฐธรรมนูญต้องใช้ เสียง ของ ส.ว.เห็นชอบด้วยในจำนวน 1 ใน 3 (84 เสียง) และได้รับเสียงเห็นชอบจากพรรคการเมืองในรัฐสภาที่ไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรี หรือ ประธาน – รองประธานสภาสังกัดอยู่ ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของทุกพรรคการเมือง

และให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา 737 เสียง แบ่งเป็น ส.ส.487 เสียง และ ส.ว.250 เสียง

“ชูศักดิ์” กังวลพอสมควรคือ 84 เสียง ของ ส.ว.เพราะเราเห็นจุดยืนเดิมที่แสดงออกมาไม่ค่อยมีความสุขเท่าไหร่นักที่ทำแบบนี้ แต่รัฐบาลไม่ห่วงเพราะเป็นคนเสนอร่าง ไม่มีเหตุผลที่วาระ 3 ขอตีตก