ประยุทธ์ งัดสารพัดกฎเหล็ก ล็อกดาวน์ถึงหมู่บ้าน

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังสู้ทุกทางในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ทั้งที่เคยยืนหนึ่งเป็นเบอร์ต้น ๆ ของโลกในการควบคุมการแพร่ระบาด แต่วันนี้รัฐบาลลูกผสมทหาร-นักการเมือง ข้าราชการ ต้องงัดทุกมาตรการออกมาคุมเข้มเพื่อยับยั้งโรคระบาดโควิด

ตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 รอบแรก เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ล่วงมาจนถึงเมษายน 2564 เป็นเวลาปีเศษ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์งัด พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มาตรา 35 เข้าควบคุมสถานการณ์ มีอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะเจ้าพนักงานสั่งปิดกิจการที่เป็นแหล่งการระบาดหลายแห่ง

โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร มีอำนาจในพื้นที่ความรับผิดชอบของตน

ก่อนที่จะใช้กำปั้นเหล็ก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 เข้าควบคุมสถานการณ์อีกแรง ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกำหนด เช่น การประกาศเคอร์ฟิว ห้ามคนออกจากบ้านตามเวลาที่กำหนด

จนถึงเวลานี้ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้ออกข้อกำหนดพิเศษแก้โควิด 3 ระลอก รวม 20 ฉบับ ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ประกาศล็อกดาวน์ถึงหมู่บ้าน-ตำบล

พร้อมกับออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี 4/2563 การแต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน 25 มีนาคม 2563 อันเป็นคำสั่งที่สะเทือน “รัฐมนตรี” จากพรรคการเมือง เพราะ “พล.อ.ประยุทธ์” นั่งเป็นหัวโต๊ะ กำกับการปฏิบัติงานทั้งปวง

โดยให้ “รัฐมนตรี” เป็นแค่ “หัวหน้า” กำกับการทำงานของปลัดกระทรวงเท่านั้น

ยังมีประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่องห้ามการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาด ในช่วงที่โควิด-19 เบาบาง แต่การชุมนุมทางการเมืองกลับมาร้อนแรง

แต่แล้วเมื่อสถานการณ์มาถึงจุดคับขันที่สุด รัฐบาลต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดขั้นสูงสุด เช่น หากไม่ใส่หน้ากากออกจากบ้านมีโทษปรับ 2 หมื่นบาท ตามมาตรา 51 พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 โทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่บังคับใช้กำราบโควิด-19 อื่น ๆ อีก เช่น พ.ร.บ.สถานพยาบาล 2541 มาตรา 33/1, 36, 66 กรณีโรงพยาบาลเอกชนปฏิเสธผู้ติดเชื้อ ไม่ช่วยเหลือเยียวยา หรือรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อาจถูกสั่งให้ระงับ-ปิดกิจการ ตามมาตรา 48, 50

กรณีที่พบผู้ติดเชื้อ แต่เจ้าบ้านปกปิดไม่แจ้งข้อมูล มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ตามมาตรา 31, 50 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กรณีปิดบังข้อมูล ไทม์ไลน์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 137 กฎหมายอาญา

หากฝ่าฝืนไม่เอื้ออำนวยความสะดวกแก่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท มาตรา 34, 36, 55, พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558

กฎเหล็กมีอยู่ในมือครบถ้วนเพื่ออำนวยความสะดวกในการกำราบโรคร้าย อยู่ที่ผู้นำจะมีฝีมือแค่ไหน