ชัยธวัช : ก้าวไกลในฤดูกาลใหม่ ยืนปิดสวิตช์ ส.ว. บอยคอตรัฐธรรมนูญ พปชร.

สัมภาษณ์

“พรรคก้าวไกล” ในฐานะพรรคเบอร์ 2 ของฝ่ายค้าน โชว์ผลงานที่เป็นรูปธรรมในสมัยประชุมที่แล้ว

นอกจากผลงานปะ ฉะ ดะ ในการวิจารณ์เรื่องการบริหารจัดการวัคซีน ไปจนถึงเปิดความไม่ชอบมาพากลใน “ตั๋วตำรวจ” อันเผ็ดร้อน

ยังเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา โดยยกเลิกโทษจำคุกให้คงเหลือแต่โทษปรับ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลทั่วไป รวมถึงดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ศาล หรือผู้พิพากษา

เป็นพรรคเบอร์ต้น ๆ ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ให้มีการ “ปิดสวิตช์” ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ ซึ่งเป็นฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะเปิดขึ้นใน 22 พฤษภาคม

“ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ยัง “ปักหมุด” การเอา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ออกจากอำนาจและไม่ให้กลับมามีอำนาจอีก ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 สวนทางกับความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญของขั้วรัฐบาล นำโดย “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

เรื่องรัฐธรรมนูญเรามองว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของนายไพบูลย์เป็นเพียงแค่ความพยายามที่จะต่อท่ออำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้น

“ดังนั้น สิ่งที่ควรจะทำไม่ใช่เข้าไปร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญของคุณไพบูลย์ แต่แก้เฉพาะประเด็นตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ ส่วนการแก้ไขทั้งฉบับสามารถไปว่ากันหลังดันกฎหมายประชามติผ่านรัฐสภา”

“ข้อเสนอของพรรคร่วมฝ่ายค้าน คือ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก ยุติบทบาท แต่พรรคก้าวไกลลงรายละเอียดว่า ลาออกมีรัฐบาลชั่วคราวเพื่อความต่อเนื่อง เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คือ การแก้ปัญหาโควิด-19 แก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัดท่ออำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ ยกเลิกมาตรา 272 ไม่ใช่เข้าไปร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญของคุณไพบูลย์”

ระหว่างนั้นให้ พ.ร.บ.ประชามติมีผลบังคับใช้ก็เสนอผลักดันให้มีการทำประชามติได้ ทำหลังยุบสภาแล้วลงประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งใหม่ก็ยังทำได้ ว่ากันไปในรายละเอียด

“เรามองว่าหลักของฝ่ายค้านยืนอยู่บนความต้องการที่จะทำประชามติ ส่วนเรื่องแก้รายมาตราถ้ามันสะเปะสะปะมันก็ไม่เป็นเอกภาพ สิ่งที่ทำให้เป็นเอกภาพและมีพลัง คือ โฟกัสไปในจุดที่จะแก้คือมาตรา 272 ปิดสวิตช์ ส.ว.”

“จริง ๆ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคุณไพบูลย์ เราอยากเสนอให้คว่ำบาตร บอยคอตไปเลยด้วยซ้ำ แต่อาจจะมีคนเห็นต่าง ที่ผ่านมาฝ่ายรัฐบาล ส.ว. คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด แต่อยู่ดี ๆ เขาจะแก้รัฐธรรมนูญแล้วดึงเราไปร่วมวงด้วย หากใครได้ประโยชน์ก็สนับสนุนไป…ก็ไม่ใช่เรื่อง หรือประเด็นใดที่ไม่เห็นด้วยก็ปล่อยฟรีโหวต…ก็ไม่ใช่ แต่สิ่งที่ต้องผลักดันก่อน คือ มาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว. เพราะอาจจะยุบสภาเร็ว”

“ชัยธวัช” ประเมินโอกาสที่ “พล.อ.ประยุทธ์” จะยุบสภาว่า สถานการณ์แบบนี้ไม่มีความแน่นอน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หน้างานว่ารัฐบาลจะลากไหวแค่ไหน แต่พรรคร่วมรัฐบาลนับแต่นี้ไปน่าจะเล่นเพลงคนละวงชัดเจน เพราะต่างพรรคต่างทำฐานเสียงให้ตัวเองไป แต่เวลานี้ฝ่ายค้านต้องเป็นเอกภาพ

เช่น ประชามติ ก้าวไกลยังไม่เห็นด้วยที่จะไปยื่นแก้ไขมาตรา 256 เพราะจะงดเว้นหมวด 1 หมวด 2 อีก ซึ่งไม่มีประโยชน์ ไว้ทำประชามติถามประชาชนว่าจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าประชาชนเห็นด้วยค่อยไปกัน แต่ก็ยังไม่ตกผลึก

“พยายามเสนอว่าอะไรเป็นเอกภาพได้ก็ต้องเป็นเอกภาพ ทำประชามติที่ให้มี ส.ส.ร.แต่ห้ามแตะหมวด 1 หมวด 2 เพราะเสนอไปก็ไม่ผ่านอยู่แล้ว เผลอ ๆ ถ้าทำประชามติภายใต้กรอบนี้อาจจะแพ้ นักศึกษาจะรณรงค์คว่ำประชามติด้วย”

“ดังนั้น ปลดล็อกมาตรา 272 เท่านั้น โฟกัสประเด็นนี้เลย แล้วสถานการณ์แบบนี้ ส.ว.ก็ต้องกล้าตัดสินใจว่าจะเลือกแบก พล.อ.ประยุทธ์ไว้หรือเปล่า แต่คิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลยอมโหวตให้ เหลือแต่ ส.ว.บางส่วน”

“ชัยธวัช” บอกถึงงานของพรรคในสภาที่จะทำต่อไป นอกจากโฟกัสแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถอนรากถอนโคนระบอบประยุทธ์ว่า ช่วงนี้ต้องโฟกัสร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา เพราะสถานการณ์โควิด-19 ผูกติดกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย

แต่นอกจากนี้ “ก้าวไกล” จะเสนอกฎหมายเพื่อให้เอาผิดผู้พิพากษาในการบิดเบือนกฎหมาย ต่อจากคราวที่แล้วก้าวไกลเสนอชุดกฎหมายเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน 5 ฉบับ ที่แก้ไข พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายอาญาในกรณีเจ้าพนักงานยุติธรรมบิดเบือนกฎหมาย แต่อันนั้นหยุดแค่อัยการ เช่น ตั้งข้อหาบิดเบือน

แต่ครั้งนี้ถ้าผู้พิพากษาบิดเบือนกฎหมายเสียเองก็ต้องได้รับโทษมากกว่าคนอื่น ผู้เสียหายก็สามารถฟ้องศาลได้ จะทำแบบประเทศเยอรมนี

คอนเซ็ปต์ของ “ก้าวไกล” คือ ต้องการให้มีช่องตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษา แต่เป้าหมายที่ขยับออกไปอีก คือ แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับว่าศาลจะถูกตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างไรบ้าง

“เช่น ถูกถอดถอนในสภาผู้แทนราษฎรได้ไหม หรือกลไกที่มาในการตั้งผู้พิพากษาจะยึดโยงกับสภา ต้องว่ากันทางการเมืองแต่กฎหมายอาญาที่ผ่านมาไม่มีช่องเอาผิดผู้พิพากษาได้ กรณีผู้เสียหายเห็นว่าผู้พิพากษาบิดเบือนการใช้กฎหมาย เสนอไว้ก่อนอย่างน้อยก็เปิดเป็นไอเดียเอาไว้” เขากล่าวปิดท้าย