สุรชาติ : วิเคราะห์ 9 วิกฤตรัฐบาล “ประยุทธ์” มีพลังพิเศษที่ทำให้อยู่รอดได้

รายงานพิเศษ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กำลังถูกต้อนเข้ามุมอับ ฝีมือผู้นำประเทศในการแก้ปัญหาโรคระบาดกำลังถูกท้าทาย

วัคซีนที่ตามเป้าหมายจะต้องกระจายไปทั่วประเทศยังเข้ามาไม่สอดรับกับการแพร่ระบาด ยังต้องรอวัคซีนลอตใหญ่อีกอึดใจกว่าจะไปถึงแขนคนไทยทั่วประเทศอย่างครอบคลุม

ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายช้าลงเท่าไหร่ ยิ่งกระทบต่อเศรษฐกิจ เงินในกระเป๋าของประชาชนในภาวะที่รัฐบาลไม่ประกาศล็อกดาวน์ แต่ชาวบ้านร้านถิ่นก็เหมือนถูกล็อกดาวน์ ถึงขั้นผู้ประกอบการ SMEs คนรุ่นใหม่ที่เดือดร้อน ตั้งกรุ๊ป “ย้ายประเทศกันเถอะ” สร้างกระแสทะลุโซเชียล มีคนเข้าไป join กรุ๊ปกว่าครึ่งล้าน

จนกระทรวงดีอีเอสต้องออกมาจับตาความสุ่มเสี่ยง หมิ่นเบื้องสูง

แต่ฝ่ายค้านหมายมั่นปั้นมือว่า หากเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร 22 พฤษภาคมนี้ จะใช้เวทีรัฐสภาเป็น “เครื่องด่า” รัฐบาลเปิดเวทีซักฟอกแบบไม่ลงมติ และถลุงการใช้งบประมาณที่ขาดประสิทธิภาพ

ยังไม่นับม็อบราษฎรที่ปะทุตามสถานการณ์การปล่อย-ไม่ปล่อยตัวของแกนนำราษฎรที่นอนเรือนจำในคดี 112 และกฎหมายความมั่นคงที่ยังรอการประกันตัว กระบวนการยุติธรรมที่ถูกตั้งคำถามจากสังคม

นับจากนี้ไปรัฐบาลประยุทธ์จะฝ่ากับดักอะไรบ้าง “สุรชาติ บำรุงสุข” นักวิชาการรัฐศาสตร์ ด้านความมั่นคง จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์มรสุมใหญ่อันเป็นวิกฤต 9 เรื่องที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ต้องฝ่า

เรื่องที่ 1 เป็นวิกฤตการบริหารจัดการวัคซีน เพราะผลจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 เครื่องมือต่อสู้ที่สำคัญที่สุด คือ ตัววัคซีน และการที่รัฐบาลไทยปฏิเสธการช่วยเหลือขององค์การอนามัยโลกในโครงการโคแวกซ์ ปฏิเสธที่จะซื้อวัคซีนล่วงหน้าปี 2563 และปฏิเสธการช่วยเหลือของภาคเอกชน จะกลายเป็นโจทย์ใหญ่ส่งผลอย่างมาก จะทำให้การระบาดเกิดขึ้น

คนชั้นกลางกลายเป็นคนจน

วิกฤตที่ 2 เป็นวิกฤตเศรษฐกิจ ผลพวงจากโควิด-19 จากปี 2563 ต่อเนื่องระยะยาว หลังจากระลอก 3 จะยังมีระลอก 4-5 หรือไม่ เศรษฐกิจที่ทรุดอย่างมากจากโควิดปี 2564 น่าจะรุนแรงมากขึ้น ถ้าช่วงกลางปียังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดแล้วยังมีระลอก 4 เกิดขึ้น สถานะของเศรษฐกิจไทยยิ่งน่าเป็นปัญหาใหญ่

และปัญหาที่น่าจะเลิกถาม คือ เศรษฐกิจเผาจริง หรือเผาหลอก เพราะวันนี้เศรษฐกิจไทยเผาจริงทุกปี เผาจริงจนไม่เหลือกระดูกให้เผาแล้ว อาการตกของเศรษฐกิจไทยเป็นลักษณะตัว L แล้วลากยาว คำถามคือหางของ L จะกระดกขึ้นได้เมื่อไหร่

วิกฤตที่ 3 คือวิกฤตคนจน เวลาเราพูดถึงคนจนแต่เดิมเรามักพูดถึงคนจนในภาคการเกษตร และคนจนในชุมชนแออัดในเมือง แต่วิกฤตโควิด-19 รอบนี้ทำให้เห็นปัญหาคนจนมากขึ้น เกิดจากตกงานหลังโควิด-19 และเป็นการตกงานที่ไม่มีอนาคตเพราะไม่รู้ว่าการจ้างงานจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

หลังการระบาดในปี 2563 วิกฤตคนจนจะเป็นโจทย์ใหญ่ และจะทำให้คนชั้นกลางกลายเป็นคนจนไปด้วย โจทย์นี้ต้องการรัฐสวัสดิการเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่ประชานิยมในรูปแบบจับสลาก หรือประชานิยมแบบชิงโชค รัฐต้องคิดใหม่มากกว่าที่เป็นอยู่

ท้าทายผู้นำฟื้นศรัทธา

สุรชาติกล่าวว่า 4 วิกฤตในตัวรัฐบาลคิดว่ารัฐบาลเผชิญปัญหาเก่าที่สืบเนื่องตั้งแต่เลือกตั้ง 2562 คือ ปัญหารัฐธรรมนูญที่ถกเถียงกันไม่จบ และโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลเผชิญคือปัญหาเอกภาพในรัฐบาล ทำให้เกิดคำถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะอยู่ร่วมกันอย่างนี้ได้อีกนานเท่าไหร่ หรือเกิดความแตกแยกระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลมากขึ้นกว่าปี 2564 หรือไม่ วิกฤตรัฐบาลยังรวมถึงความน่าเชื่อถือของรัฐบาลเอง ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลหมดความน่าเชื่อถือลงไปเรื่อย ๆ

5 วิกฤตศรัทธา เกิดจากตัวรัฐบาลเอง รัฐบาลประสบปัญหาอย่างมากที่จะแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของภาครัฐในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะวิกฤตโควิด-19 กำลังเป็นความท้าทายว่าตัวผู้นำจะสามารถสร้างศรัทธาให้กับผู้คนได้อีกมากน้อยแค่ไหน หรือจะมีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาได้อีกมากน้อยเพียงไร

6 วิกฤตการประท้วงบนท้องถนน และการประท้วงส่วนหนึ่งหนีไม่พ้นที่สืบเนื่องจากปัญหาโควิด-19 ขณะเดียวกันโจทย์การประท้วงอาจเป็นโจทย์สากล เพราะในยุคโควิด-19 เราเห็นการต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นทั่วโลก ข้อเรียกร้องใหญ่จะเป็นปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ แม้ในสังคมไทยยังไม่ขยายตัวมากเท่ากับในหลายประเทศ

แต่พอจะคาดการณ์ในอนาคตได้แล้วว่า ด้วยขีดความสามารถของรัฐบาลอย่างที่เราเห็น จะเกิดการประท้วงของคนงาน หรือการประท้วงของคนในสังคมที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบริหารภาครัฐ หรือไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐเท่าที่ควร

องค์กรอิสระไร้อิสระ

สุรชาติวิเคราะห์ วิกฤตที่ 7 คือ องค์กรอิสระและกระบวนการยุติธรรม ผลการตัดสินคดีในหลายเรื่องสวนทางกับความรู้สึกของผู้คนในสังคม โดยเฉพาะในกรณีสถานะของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ สิ่งที่องค์กรอิสระให้ความเห็นในลักษณะการประคับประคองรัฐบาลโดยไม่คิดถึงผลกระทบในความรู้สึกของประชาชน ทำให้องค์กรอิสระกำลังเป็นปัจจัยในการสร้างวิกฤตการเมืองไทย

และด้านหนึ่งคำตัดสินเหล่านี้สะท้อนวิกฤตกระบวนการยุติธรรม คนหลายส่วนในสังคมไทยรู้สึกว่ากระบวนการตรงนี้ไม่ยุติธรรม หรือองค์กรอิสระเป็นองค์กรที่ไร้ความอิสระ สภาวะอย่างนี้ท้าทายที่ทำอย่างไรที่จะสร้างความน่าเชื่อถือ ในภาพคู่ขนานเราก็เห็นวิกฤตความน่าเชื่อถือที่เกิดขึ้นกับภาครัฐ ความน่ากลัวคือ สังคมจะไม่มีองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือเหลือให้คนในสังคมเชื่อ

วิกฤตที่ 8 วิกฤตคนรุ่นใหม่ จะเผชิญโจทย์ใหญ่ในเรื่องการตกงาน เพราะผลพวงของโควิด-19 การจ้างงานนิสิต นักศึกษาที่จบการศึกษาในปี 2563 หรือที่กำลังจะจบในปี 2564 สิ่งที่เห็นในอนาคตคือวิกฤตของคนตกงาน ภาวะการตกงานของคนรุ่นใหม่จะเป็นแรงกระเพื่อมทางการเมืองชุดใหญ่

รวมถึงวิกฤตของคนรุ่นใหม่สะท้อนผ่านความเห็นต่างทางการเมือง สภาวะของสงครามทางความคิดของคนต่างรุ่น คนต่างวัย กลายเป็นปัญหาทางการเมืองอีกชุดหนึ่งผ่านกรุ๊ปย้ายประเทศกันเถอะ ซึ่งคือภาพสะท้อนความรู้สึกว่าบ้านหลักเดิมไม่รองรับอนาคตของพวกเขา แล้วไม่ตอบโจทย์การสร้างอนาคตของคนรุ่นใหม่

และ วิกฤตที่ 9 คือวิกฤตเมียนมา ผลพวงจากการประท้วงรัฐบาลทหารขนาดใหญ่ มีผลกระทบต่อการเมืองไทยทั้งในด้านต่างประเทศ ปัญหาแนวชายแดนปัญหาสิทธิมนุษยชน ปัญหาให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ทั้งมีผลกระทบที่อาจกลายเป็นเงื่อนไขทางการเมืองของสังคมไทย

หมายความว่า หากการประท้วงรัฐบาลทหารประสบความสำเร็จในเมียนมา ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับการประท้วงในไทยไม่ต่างกัน จึงยังต้องจับตามอง

อ่านเกมปรับ ครม.-ยุบสภา

ทั้ง 9 วิกฤตขมวดปมถึงการเตรียมพร้อมของ “นักการเมือง” ที่ประเมินว่ารัฐบาลอาจ “ยุบสภา” ปลายปี 2564 “สุรชาติ” ประเมิน 2 ทาง 1.ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่การปรับ ครม.ทำให้เห็นชัดว่าเอกภาพภายในรัฐบาลเริ่มมีปัญหามากขึ้น ไม่ว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคภูมิใจไทย หรือพรรคพลังประชารัฐกับพรรคประชาธิปัตย์

การปรับ ครม.รอบหน้าอาจเป็นสัญญาณสุดท้าย อาจกลายเป็นแรงกระเพื่อมที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาลมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่จุดของการแก้ปัญหา

2.ระยะยาวคือการยุบสภา หลังรัฐบาลผ่านกฎหมายงบประมาณ 2565 เพราะเห็นว่าภาครัฐผ่านกฎหมายงบประมาณตามที่ตนเองต้องการ และยังไม่จำเป็นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมใช้ความได้เปรียบของตนเองสามารถคงเครือข่ายในภาครัฐไว้ได้ และรัฐบาลเชื่อว่าโครงการประชานิยมที่ตนเองกำลังทำนั้นให้ผลตอบแทนทางการเมือง

ด้วยปัจจัยนี้จึงเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะยุบสภา แต่ขณะเดียวกัน อีกทางออกหนึ่งที่ไม่มีคำตอบ คือ แรงประท้วงบนถนนจะก่อตัวได้จริงจังกว่าที่เป็นอยู่หรือไม่ ซึ่งละเลยไม่ได้จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ส่วนการฟื้นวิกฤตศรัทธาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อาจไม่ง่าย เพราะรัฐบาลไม่ได้เปลี่ยนจุดยืนหรือทิศทางอะไร นอกจากดำเนินนโยบายภายใต้ทิศทางเดิม

จาก 22 พฤษภาคม 2557 ถึงปัจจุบัน “พล.อ.ประยุทธ์” อยู่ในอำนาจขึ้นปีที่ 7 ใกล้ทาบ “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ที่เป็นนายกฯ 8 ปี “สุรชาติ” วิเคราะห์ฉากต่อไปว่า

ทุกฝ่ายรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์มีพลังพิเศษที่ทำให้ตนเองอยู่รอดได้ และกลไกรัฐธรรมนูญก็เอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ภายใต้การตัดสินขององค์กรอิสระที่ตัดสินอะไรก็มีทิศทางเป็นบวกกับรัฐบาลทุกอย่าง

“ดังนั้น การอยู่ 8 ปีแบบ พล.อ.เปรมสามารถเป็นได้แต่รัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ต้องตระหนักว่าไม่ใช่ 8 ปีของนายกฯเปรม แต่เข้าปีที่ 7-8 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ภาระที่แบกบนบ่าของรัฐบาลจะหนักขึ้น ๆ จนสุดท้ายภาระชุดนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ทางการเมืองได้”


“เพราะปีที่ 7 ปีที่ 8 เราไม่พูดถึงปีที่ 6 ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 แต่เรากำลังเห็นประสิทธิภาพของรัฐในปี 2564 ซึ่งปี 2563 รัฐบาลอยู่ได้โดยความประมาทคิดว่าคุมแล้วคงไม่มีอะไร แต่ระลอก 3-4 สะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพของรัฐ และปีที่ 7 ไม่ใช่ของขวัญ แต่เป็นทุกขลาภ และปีที่ 8 จะเป็นทุกขลาภอันแสนสาหัสของ พล.อ.ประยุทธ์” สุรชาติปิดท้าย