แก้รัฐธรรมนูญจบกลางปี’65 พปชร.ล็อกบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ รับเกมยุบสภา

รายงานพิเศษ

ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ผ่านสภาชั้นรับหลักการทั้ง 13 ร่าง

ชนิดที่พรรคพลังประชารัฐ “ผู้คุมเกม” ไม่ต้องออกแรงให้เหนื่อย

เพราะการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแบบ “รายมาตรา” เป้าใหญ่อยู่ที่ระบบเลือกตั้ง ที่ “นักเลือกตั้ง” ทั้งสภา ต้องการย้อนกลับไปใช้ “ของเก่า” ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และฉบับ 2550 แก้ไขเพิ่มเติม ไม่ว่าฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล

พรรคพลังประชารัฐ โหวตเพื่อไทย-เพื่อไทย โหวตให้พลังประชารัฐ ส่วนการโหวตของพรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.นั้น โหวตตามจ็อบเดสคริปชั่น

ไทม์ไลน์ รธน.ไพบูลย์

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มือกฎหมายตัวพ่อของฝ่ายรัฐบาล เปิดเผยไทม์ไลน์ หลังการลงมติรับหลักการว่า จะเป็นบรรยากาศที่ดี แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง ค่อย ๆ ขยับไป เป็นร่างสมานฉันท์

โรดแมปแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่น่าจะเกิน 45 วัน ก็จะพิจารณาเสร็จในวาระที่ 2 ตรงกับปลายเดือนกรกฎาคม-ต้นสิงหาคม ทิ้งไว้ 15 วัน จะพิจารณาวาระที่ 3 ในปลายเดือนสิงหาคม-ต้นกันยายน ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ทันที ไม่มีประเด็นที่ต้องทำประชามติ

จากนั้นต้องไปแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 ก็จะยื่นต่อประธานรัฐสภา

“ที่จริงเตรียมไว้อยู่แล้ว ถึงเวลานั้นก็ขัดเกลาให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่ผ่านรัฐสภา” ไพบูลย์กล่าว

เขาวางไทม์ไลน์ไว้ว่า การทำกฎหมายลูกจะต้องใช้เวลา 5-6 เดือน ที่นานเพราะกฎหมายมีหลายมาตรา พร้อมกับต้องไปรับฟังความเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 และต้องเวียนไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบว่ามีอุปสรรคอะไรหรือไม่ จากนั้นก็นำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา ทั้งกระบวนการจะต้องเสร็จภายในต้นปี 2565 ไม่เกินกลางปี 2565

บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ รับอุบัติเหตุ

“ไพบูลย์” ย้ำว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับข่าวลือการยุบสภา แม้กฎหมายลูกยังไม่เสร็จ แต่ถ้าเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองก่อนก็ต้องใช้ “กติกา” ตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้ว นำกติกามาบังคับเท่าที่ทำได้

“แต่ถ้าอะไรเกิดขึ้นในปีหน้าก็ต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ไม่มีการยุบสภาหรอก รัฐบาลอยู่ครบวาระปี 2566 อยู่แล้ว” ไพบูลย์แสดงความมั่นใจ

เพื่อไทยเดิน 2 ขา

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ประกาศกลางรัฐสภารับทั้งหมด 13 ร่าง แต่ก็จะใช้เกมคู่ขนานใน-นอกสภาแก้รัฐธรรมนูญ เน้นหนักที่แก้ไขรายมาตราเป็นหลัก โดยทิ้งร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เปิดทางให้มี ส.ส.ร.คาไว้ในระเบียบวาระของรัฐสภา เป็น “หัวเชื้อ”

“ภูมิธรรม เวชยชัย” ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เลขานุการผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประกาศ “ธง” แก้รัฐธรรมนูญของพรรคว่า ต้องทำทุกช่องทางในการลดทอนอำนาจของระบอบเผด็จการและเพิ่มเติมความเป็น “ประชาธิปไตย” เข้าไปในรัฐธรรมนูญ

1.การแก้รัฐธรรมนูญโดยผ่านการแก้มาตรา 256 ที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอ คือ กระบวนการเปิดทาง ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยจัดตั้ง ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชน เพื่อทำหน้าที่ จัดทำ รธน.ใหม่ ถือเป็นการ ยืนยัน อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญของประชาชน

2.การแก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ควบคู่ไปกับการแก้ไขทั้งฉบับ เป็นความจำเป็นที่ต้องกระทำควบคู่กันไป เพราะเราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่า การแก้ไขทั้งฉบับจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หรือเกิดขึ้นได้เร็วหรือช้าแค่ไหน หากการแก้ไขกระทำได้ไม่ลุล่วง ไม่ว่าอุบัติเหตุการเมืองใด ๆ เกิดขึ้น ตามกติกาที่พวกเขากำหนดไว้

“เราต้องกลับไปใช้กติกาที่ฝ่ายมีอำนาจเขียนไว้ ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อความเป็นประชาธิปไตย การปลดล็อกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา จึงเป็นเรื่องที่ต้องทำคู่ขนานกันไป”

3.“พลังของประชาชน” ที่ตื่นตัวและส่งเสียงอย่างมีพลัง คือ ปัจจัยหลักของความสำเร็จ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

“รัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องเขียนใหม่ รัฐธรรมนูญรายมาตราก็ต้องแก้ไข ทำทุกช่องทาง”

ก้าวไกลผนึกมวลชน

ส่วนพรรคก้าวไกล ปักหลักที่ “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ส่วนประเด็นอื่น เดินนอกสภาร่วมกับกลุ่ม Re-solution โดยใช้โอกาสที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จะมีผลบังคับใช้ในวันข้างหน้า เสนอให้รัฐสภาชงประชามติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำประชามติถามประชาชนว่าต้องการรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่

“รังสิมันต์ โรม” ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกล กล่าวว่า หนทางหนึ่งในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่รวดเร็วและตรงไปตรงมาที่สุด

“คือการจัดทำประชามติเพื่อถามประชาชนกันไปเลยว่าต้องการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย ส.ส.ร. ที่ได้รับเลือกจากประชาชนหรือไม่ หากประชาชนเห็นชอบก็จะได้ไม่เหลือข้ออ้างอะไรให้ต้องมาหาเรื่องขัดขวางกันอีก”

ด้าน “ชัยธวัช ตุลาธน” เลขาธิการพรรคก้าวไกล ประเมินสถานการณ์ว่า ถ้ารัฐสภาส่วนใหญ่เห็นชอบกับการทำประชามติ ก็ส่งให้ ครม.พิจารณา ซึ่ง ครม.จะทำหรือไม่ทำ มีผลบังคับหรือไม่ โดยกฎหมายคือไม่บังคับ จึงขึ้นอยู่กับการกดดันทางการเมือง

“ผมเชื่อว่ามันยาก แต่ทางการเมืองก็ยากเหมือนกันที่รัฐสภาจะไม่โหวตให้ ในเมื่อทั้งฝ่ายรัฐบาล ส.ว. บอกว่าคว่ำรัฐธรรมนูญ เพราะต้องไปถามประชาชนก่อน แต่ในเมื่อวันนี้มี พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ให้ไปถามประชาชน แล้วจะบอกว่าไม่ทำ ในทางการเมืองก็ไม่ควร”

“ถ้ารัฐสภาโหวตผ่านเรื่องประชามติแล้วไปค้างที่คณะรัฐมนตรี ก็ต้องช่วยกันกดดันต่อว่าอย่าเอาไปดองไว้ ไม่แน่ว่าหากมีการยุบสภาเร็ว ก็อาจจะทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไปก็ได้ ไม่ต้องเปลืองงบประมาณ”

“แต่ตอนนี้มีปัญหาทางปฏิบัติในการโหวตของที่ประชุมรัฐสภา ไม่มีระเบียบรองรับในเรื่องการทำประชามติ แต่ก็เชื่อว่าจะหาทางได้ คณะกรรมการกฤษฎีกาแนะนำให้ใช้วิธี ส.ส.โหวตก่อน ถ้า ส.ส.เห็นด้วยก็ให้ส่งไปที่ ส.ว. ถือเป็นมติของสภาผู้แทนราษฎร”

ตัดกลับมาที่พรรคพลังประชารัฐ โดย “ไพบูลย์” มองไปที่ความพยายามของ “ก้าวไกล” ว่าไม่มีทางสำเร็จ

“การเสนอทำประชามติต้องโหวตทีละสภา เริ่มจาก ส.ส.ก่อน แล้วค่อย ส.ว. และต้องมีมติเห็นด้วยทั้ง 2 สภา ดังนั้น ไม่สำเร็จ เพราะวุฒิสภาไม่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับอยู่แล้ว”

เชื่อว่า การแก้รัฐธรรมนูญรอบนี้จะไม่มีปัจจัยลบ เพราะทุกฝ่ายคำนึงถึงการแสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง

“นอกสภาก็ยิ่งไม่น่ามีปัญหา ไม่กระทบการทำหน้าที่ในสภา 700 กว่าคนหรอก เพราะเราเป็นตัวแทนของประชาชน 70 กว่าล้านคน ผู้ชุมนุมไม่กี่ร้อยคน ไม่กี่หมื่นคน จะมาเปลี่ยนแปลงอะไร” ไพบูลย์กล่าว