ฝ่ายค้านฟ้อง ประยุทธ์-3 รัฐมนตรี รวม 8 คดี ต่อ ป.ป.ช.

ฝ่ายค้านฟ้องประยุทธ์

พรรคร่วมฝ่ายค้านลุยต่อหลังจบอภิปรายไม่ไว้วางใจ เตรียมสรุปสำนวน 8 คดี ฟ้อง ประยุทธ์ อนุทิน เฉลิมชัย ชัยวุฒิ ต่อ ป.ป.ช.

วันที่ 15 กันยายน 2564 ที่รัฐสภา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน แถลงข่าวเตรียมยื่นเอาผิด 6 รัฐมนตรี ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า พรรคฝ่ายค้านมีการประชุมร่วมกัน ในประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล 6 คน และได้สรุปคำอภิปรายร่วมกันว่าจุดไหนจะยื่นต่อ ป.ป.ช.

ขณะนี้เรารวบรวมยื่น ป.ป.ช.ทั้งหมด 8 เรื่อง ทั้งเรื่องโควิด-19 การเกษตร การระบายราคายาง กรณีดาวเทียม และมี 1 เรื่อง เกี่ยวกับเงินการแจกเงิน ส.ส. 5 ล้านบาท ซึ่งจะยื่นต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (กมธ.ป.ป.ช.) ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธาน ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านให้แต่ละพรรคกลับไปเพื่อจะไปเตรียมสำนวน โดยจะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 29 กันยายน ที่พรรคเพื่อไทย ก่อนจะยื่น ป.ป.ช.พร้อมกัน

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องที่จะยื่น ป.ป.ช.ใน 8 เรื่อง มี 6 เรื่องโควิด-19 เรื่องระบายสต๊อกยางพารา 1 เรื่อง เรื่องดาวเทียม 1 เรื่อง ทั้งหมดจะเกี่ยวกับรัฐมนตรี 4 คน

คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ส่วนรัฐมนตรีอื่น ๆ แม้มีการอภิปรายไปแล้วจะคอยติดตามดู ซึ่งก่อนหน้านี้เคยยื่นร้องนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ต่อ ป.ป.ช.ไปแล้ว

ประเด็นหลักเป็นเรื่องของการทุจริต และเรื่องการจงใจปล่อยปะละเลยทำให้มีการเสียหาย ภายหลัง 29 กันยายนที่สรุปสำนวนแล้วจะรวมตัวกันไปยื่น ป.ป.ช.อีกครั้งหนึ่ง ส่วนการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 นั้น เราจะใช้สิทธิ แต่ไม่รู้ว่ารัฐบาลจะอยู่ถึงหรือไม่

ด้านวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า การยื่นต่อ ป.ป.ช.เป็นเรื่องหลักของฝ่ายค้าน เราทราบอยู่แล้วว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีซึ่งตัดสินกันด้วยเสียงในสภา เราทราบดีว่าฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียงมากกว่า ย่อมไม่ทำให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งได้ แต่การทุจริต การเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลบางคนที่ทำให้ประเทศชาติเสียหายนั้น ก็เป็นหน้าที่ที่ต้องยื่นต่อ ป.ป.ช. เพื่อจะปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ฟ้องศาล ติดคุก ให้เว้นวรรคทางการเมือง

“ในกรณีนี้เคยมีหลายสมัย รัฐมนตรีหลายคนที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจแม้รอดพ้นจากในสภา แต่ไม่รอดพ้นจาก ป.ป.ช.หรือ ศาล ยืนยันว่าไม่ได้แก้แค้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนและหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา จะต้องร้องเกิดประโยชน์กับประชาชน” นายวันกล่าว

ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สาเหตุที่พรรคเพื่อไทยต้องยื่นเรื่องแจกกล้วย 5 ล้านในสภา ต่อ กมธ.ป.ป.ช.สอบก่อน เพราะเราเห็นว่ากรรมาธิการชุดนี้มีหน้าที่และอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงทั้งเรียกพยานบุคคล พยานเอกสาร ทั้งหมดมาตรวจสอบ เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็เป็นหน้าที่ของ กมธ.ป.ป.ช.ที่จะยื่นให้ ป.ป.ช.พิจารณาต่อไป

ส่วนเหตุที่ยังไม่ยื่น ป.ป.ช.โดยตรง นพ.ชลน่านกล่าวว่า มีประเด็นที่อยู่ในกระบวนการของสภา มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง มีการกล่าวหาพยานหลักฐานต่าง ๆ ดังนั้น สิ่งที่เราต้องการแสวงหาข้อเท็จจริง จึงต้องใช้กลไก กมธ.ในการเรียกพยานหลักฐาน พยานเชิงประจักษ์ทั้งหลายมาประกอบ คือ การหาหลักฐานมัดให้แน่นที่สุดเพื่อยื่นไปตามขั้นตอน

เรื่องกล้องวงจรปิดไม่เป็นประเด็นสำคัญ แม้ชั้น 3 ไม่มีแต่ชั้นอื่นมี มีหลักฐานเชิงประจักษ์พร้อมที่จะนำเสนอ ไม่ว่าจากกล้องตัวอื่น ๆ และประจักษ์พยานอื่น ๆ อยู่ในขั้นตอนการพูดคุย ซึ่งข้อมูลจะไปอยู่ใน กมธ.ป.ป.ช.ทั้งหมด