อธิบดีทางหลวงชนบท ยื่นหนังสือลาออก หลังโดนเด้งเข้ากรุผู้ตรวจฯ

อธิบดีลาออก
ภาพจากเฟซบุ๊ก กรมทางหลวงชนบท กระทรวงคมนาคม

อธิบดีทางหลวงชนบท ยื่นหนังสือลาออก ให้เหตุผล ปัญหาสุขภาพ-ดูแลครอบครัว หลังโดนเด้งเข้ากรุ นั่งตำแหน่งผู้ตรวจคมนาคม “ศักดิ์สยาม” ยัน โยกย้ายตำแหน่งเป็นเรื่องปกติ 

วันที่ 16 กันยายน 2564 กรณี คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 กันยายน มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอขอโยกย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการระดับสูงหมุนเวียน จำนวน 3 ราย ซึ่ง 1 ใน 3 ราย คือ นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จากตำแหน่งอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ให้มาดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ตามที่รายงานข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด มติชน รายงานว่า คำสั่งดังกล่าวนั้น ทำให้ นายปฐม เฉลยวาเรศ ตัดสินใจเขียนหนังสือขอลาออกจากราชการ โดยหนังสือดังกล่าว เขียนที่กรมทางหลวงชนบท ลงวันที่ 14 กันยายน 2564  แจ้งความประสงค์ขอลาออกจากราชการเพราะมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป

ด้าน นายปฐม ยืนยันว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจริง โดยให้ทางเจ้าหน้าที่ส่งที่กระทรวงคมนาคมเมื่อวันที่ 15 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งการลาออกนั้นส่วนหนึ่งมีปัญหาทางด้านสุขภาพจริง ๆ เนื่องจากสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ไปตรวจสุภาพ พบว่าร่างกายมีโรคประจำตัว และมีอาการรุนแรงขึ้นทั้งเรื่องของหัวใจ ความดันสูง ดังนั้นจึงใช้โอกาสนี้ต้องกลับไปรักษาตัวและพักผ่อน ประกอบกับจะได้กลับมาดูแลครอบครัวจริงจัง ทั้งบิดาและลูก ๆ

“ยอมรับว่าทุ่มเทการทำงานมาโดยตลอดอายุราชการกว่า 37 ปี พอมาอยู่ระดับผู้บริหารสูงสุดของกรมทางหลวงชนบทก็ได้ปูพื้นฐานภายใน ทช. หลาย ๆ อย่างให้แข็งแกร่ง นำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงาน เนื่องจากในปีหน้า 65 ผู้บริหาร ทช. ระดับผู้อำนวยการสำนักต้องเกษียณอายุราชการรวมกว่า 10 คน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ข้าราชการ พนักงานของ ทช.รวมกันพันกว่าคน”

ขณะที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องการลาออกของอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ส่วนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ ตนมองว่าเป็นเรื่องปกติ และการมาดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ไม่ใช่ว่าจะไม่มีงานทำ

ส่วนจะยับยั้งใบลาออกของนายปฐมหรือไม่นั้น ขอให้ ปลัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา เป็นผู้ดำเนินการ เพราะตนยังไม่เห็นหนังสือลาออก และยังไม่มีใครรายงานแต่อย่างใด

เหลืออายุราชการอีก 1 ปี

มติชน รายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนหน้านี้ นายปฐม ถือเป็นกลุ่มลูกรักของ นายศักดิ์สยาม เนื่องจากมีสายสัมพันธ์กับบ้านบุรีรัมย์ และยังเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบ อีกทั้งยังเหลืออายุราชการเพียง 1 ปี โดยจะเกษียณอายุราชการในปี 2565

ระหว่างดำรงตำแหน่งอธิบดี นายปฐม พยายามนำนโยบายของนายศักดิ์สยาม โดยเฉพาะในเรื่องการนำยางมาแปรรูปทำแบริเออร์ยางครอบคอนกรีต และโครงการติดตั้งเสาหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการอำนวยความสะดวกปลอดภัยให้กับผู้ใช้ทาง เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงในการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน

รวมถึงเดินหน้าโครงการใช้ความเร็วของรถไม่เกิน 120 กม.ต่อชั่วโมง บนถนนทางหลวงชนบท มาสู่การปฏิบัติ ซึ่งทั้ง 2 โครงการหลักได้มีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่อาจจะมีติดขัดบ้าง อีกทั้งการดำเนินการตามนโยบายทั้ง 2 นโยบายสำคัญ ไม่คืบหน้าตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม จึงอาจเป็นสาเหตุที่ถูกโยกย้ายหรือไม่