สุรชาติ วิเคราะห์ พรรคประยุทธ์ แยกวงพลังประชารัฐ ย้อนยุค “สฤษดิ์-เผ่า”

สัมภาษณ์พิเศษ
ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐ เพื่อมร่วมรุ่นเตรียมทหาร 12 ประกาศร่วมพรรคบิ๊กฉิ่ง ฉัตรชัย พรหมเลิศ ที่ว่ากันว่าเป็นพรรคใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเจอรัฐประหารเงียบในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ในทางตรงกันข้าม พล.อ.ประยุทธ์ไม่อาจปฏิเสธ “ตัวตน” และการมีอยู่ของ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐไปได้ หลังกลายเป็นศัตรู-ผู้ก่อกบฏ ถูกเขี่ยทิ้งจากรัฐมนตรี

ที่สำคัญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และพี่ใหญ่นอกไส้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังให้การสนับสนุน ร.อ.ธรรมนัส

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข” นักวิชาการด้านความมั่นคง จากรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ผู้เกาะติดกองทัพมานานหลายทศวรรษ อ่านศึกประลองกำลัง พลเอก ปะทะ ร้อยเอก และการตั้งพรรคใหม่ของเครือข่าย พล.อ.ประยุทธ์ ไว้ดังนี้

เกมวัดพลัง (มือ) เพชรบุรี-อยุธยา

“ศ.ดร.สุรชาติ” วิเคราะห์ว่า ทุกพรรคการเมืองมีปัญหา คือการแย่งชิงอำนาจของกลุ่มต่าง ๆ ภายในพรรค เป็นเรื่องปกติ พรรคพลังประชารัฐที่มีผู้นำทหารเป็นหัวหน้า หนีวังวนการเมืองไทยไม่พ้น

เรามักเชื่อว่าผู้นำทหารมีเอกภาพ ไม่แตกแยกกัน แต่อดีตของรัฐประหารไทย เมื่อรัฐบาลหลังรัฐประหารอยู่ยาวมาก ๆ จะเห็นความขัดแย้งภายใน เช่น หลังปี 2490 เราเห็นการกวาดล้างภายในของคณะรัฐประหาร

ยุคจอมพลถนอมมีความแตกแยกระหว่าง จอมพลถนอม กิตติขจร กับ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา แม้กระทั่งยุคทหารที่อยู่ไม่ยาวอย่าง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็เห็นปัญหาความขัดแย้งของผู้นำทหารไม่แตกต่างกัน

ดังนั้น พรรคพลังประชารัฐ คือ ภาพสะท้อนการแข่งขันเชิงอำนาจของผู้นำทหารหลังรัฐประหาร

แล้วสาเหตุที่ผู้นำทหารหลังรัฐประหาร มักขัดแย้งทุกยุคคืออะไร “ศ.ดร.สุรชาติ” ตอบว่า เพราะกลุ่มผู้นำทหารที่ขึ้นไปมีอำนาจ ใช้อำนาจกระทำผ่านกองทัพ ไม่ได้กระทำด้วยกระบวนการปกติ

ความขัดแย้งทางการเมืองในระดับปกติ จบลงด้วยการเลือกตั้ง เพราะทุกคนรู้ว่าครบวาระ 4 ปี อาจจะมีการแยกตัวออกจากกลุ่มไปตั้งพรรคใหม่ หรือตั้งกลุ่มใหม่ที่แข่งขันกันในพรรค ซึ่งสุดท้ายก็ต้องจบ

แต่ระบบทหารผ่านการรัฐประหาร คัดเลือกตัวผู้นำกันตอนทำรัฐประหาร แต่หลังจากนั้น ระบบไม่มีคำตอบในเรื่องพวกนี้

หัวหน้ามุ้ง พลเอก VS ร้อยเอก

ส่วนเกมวัดพลัง (มือ) ส.ส.ในการลงพื้นที่ “ศ.ดร.สุรชาติ” อ่านเกมนี้ว่า ในรูปพรรคการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ก็เหมือนหัวหน้าก๊วน หัวหน้ามุ้ง ร.อ.ธรรมนัสก็เป็นตัวแทนอีกกลุ่มหนึ่ง คำถามที่ค้างคาใจ แล้วเราตอบไม่ได้ชัดว่า ตกลงก๊วนของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังรวม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค อยู่หรือไม่ รวม พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ไว้แค่ไหน

เมื่อพลเอกมีมุ้งหนึ่ง ร้อยเอกมีมุ้งหนึ่ง พอมาอยู่ในพรรคการเมืองไม่ได้วัดกันที่ชั้นยศ ไม่ได้บอกว่า พลเอกจะใหญ่กว่าร้อยเอกในพรรคการเมือง แต่วัดกันด้วยบารมี และขีดความสามารถในการควบคุม ส.ส.

ตอนการทำรัฐประหาร ผู้นำทหารอาจเชื่อว่าพวกเขามีพลังจากปืน แต่ในพรรคจริง ๆ แล้วมีทั้งเงื่อนไขทางเศรษฐกิจและเงื่อนไขของมือ เพราะเมื่อไหร่ที่เข้าไปอยู่ในสภา พลังจริงไม่ใช่พลังปืน แต่เป็นพลังมือที่จะยกสนับสนุนรัฐบาล

ถามว่า “บารมี” ของ พล.อ.ประยุทธ์ น้อยกว่า ร.อ.ธรรมนัส หรือไม่ “ศ.ดร.สุรชาติ” กล่าวว่า ตัวบารมีในพรรควัดที่เงื่อนไขการคุม ส.ส. ฐานเสียงภายใน แต่ต้องไม่ลืมว่า บารมีที่ พล.อ.ประยุทธ์มีคนเดียว คือ บารมีของการเป็นนายกฯ เป็นผู้นำฝ่ายบริหารสูงสุด

อย่างน้อยเป็น “แต้มต่อ” ที่คนอื่นไม่มีขนาดนี้ แม้ว่า ร.อ.ธรรมนัส อาจจะคุม ส.ส.ได้มาก แต่ไม่ได้อยู่ในอำนาจฝ่ายบริหารที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็น

3 เส้นทางประยุทธ์

“ศ.ดร.สุรชาติ” มองว่า สถานการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังอยู่ในช่วงท้าทาย เช่นเดียวกับยุครัฐบาลจอมพลถนอมที่ไม่สามารถคุมพรรคสหประชาไทยได้ กระทั่งรัฐประหารตัวเองปี 2514

“สภาวะของรัฐบาลจอมพลถนอม ไม่สามารถคุมสภาที่มาจากการเลือกตั้งได้ และอีกส่วนหนึ่งในยุคนั้นมี ส.ส.อิสระจำนวนมากกว่าฝ่ายค้าน เป็นรองพรรครัฐบาลอยู่นิดหนึ่ง รัฐบาลขณะนั้นจำเป็นต้องเอา ส.ส.อิสระเข้ามาร่วม ยิ่งทำให้การควบคุม ส.ส.ลำบาก”

“จึงเห็น ส.ส.พรรคเล็กปัดเศษในปัจจุบันก็จะมีตัวแบบคล้าย ๆ ส.ส.อิสระ เพียงแต่ ส.ส.ปัดเศษ อาจจะน้อยกว่า ส.ส.อิสระ แต่เห็นภาพอย่างนั้นอยู่ ย้อนหลังไป 50 ปี และภาพรวมมีอาการคล้ายกันคือ ผู้นำทหารคุม ส.ส.ไม่ได้ และใหญ่ที่สุด คือ คุมสภาไม่ได้”

ในปี 2514 จอมพลถนอมเลือกเส้นทางรัฐประหารตัวเอง แต่ปี 2564 พล.อ.ประยุทธ์ รัฐประหารตัวเองแบบจอมพลถนอมคงไม่ง่าย สังคมไทยเงื่อนไขเปลี่ยนไปเยอะแล้ว

ก็คงเหลือกระบวนการรัฐสภา พื้นฐานที่สุด คือ การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือนายกฯลาออก ในระดับที่สูงขึ้น หรือประกาศยุบสภา

คงไม่มีคำตอบชัดทีเดียวว่า สุดท้ายจะอย่างไร แต่คำถามที่ยังค้างคาในบรรดานักวิเคราะห์ที่เชื่อว่าสุดท้ายรัฐบาลทนแรงกดดันไม่ไหวและประกาศยุบสภา เพราะรัฐบาลอยู่มาพอสมควร ผ่าน 2 ปี เข้าปีที่ 3 โอกาสยุบสภาเป็นไปได้

ส่วนการปรับ ครม. จะกลายเป็นการเขย่ารัฐบาล และอาจนำไปสู่การไร้เสถียรภาพของรัฐบาลเอง เพราะจะมีความขัดแย้งที่มากขึ้น ยังเชื่อว่าการปรับ ครม.จะเป็นอัตราเสี่ยงอีกแบบหนึ่ง แต่เรายังไม่รู้ว่าในใจของผู้นำรัฐบาล และขณะเดียวกัน เกมการเมืองที่เดินไปอย่างไม่หยุดจะเปิดช่องทางอย่างไร

“แต่เชื่อว่าผู้นำรัฐบาลคงจะไม่ตัดสินใจลาออก”

ในอดีตมีการเปลี่ยนนายกฯทหารอีกคนมาสู่ทหารอีกคนในสภา เช่น พล.อ.เกรียงศักดิ์ สู่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จะเป็นไปได้ไหมในบริบทปัจจุบัน “ศ.ดร.สุรชาติ” ตอบว่า

“การเปลี่ยนผู้นำทหาร เปลี่ยนคือ 1. ถ้าเป็นการรัฐประหารแล้วมีการชิงอำนาจกัน คือถูกทหารอีกฝ่ายหนึ่งโค่นล้ม คือ การเปลี่ยนระหว่างจอมพล ป. กับจอมพลสฤษดิ์ 2.รัฐประหารเงียบ คือถูกทหารบางกลุ่มจี้ให้ลาออกกลางสภา คือ กรณีของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ 3.ยอมยุติบทบาท คือ พล.อ.เปรม และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ รวมถึง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์”

สิ่งที่เราเห็นจะยุติด้วยการโค่นกันเอง รัฐประหารเงียบ ลาออกเอง หรือสุดท้ายคือถูกไล่ออก ในเคสจอมพลถนอม กับ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เราเห็นตัวแบบในอดีต ซึ่งไม่ชัดว่าจะจบอย่างไรกับการเมืองไทยยุคปัจจุบัน เพราะยังมองยาก ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจน

เพราะเรายังไม่เห็นบทบาทของผู้นำทหารสายที่ไม่เอากับรัฐบาล แม้ว่าดูหน้าฉากเหมือนมีความสัมพันธ์ที่ดี ระหว่างสายจอมพลถนอม กับ พล.อ.กฤษ หรือระหว่างสายจอมพลถนอม กับ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ก็ตาม ดังนั้น ปัจจุบัน อาจจะต้องนั่งดูว่าการเมืองจะพัฒนาไปถึงจุดไหน

ยกเว้นจะมีอีกอย่างหนึ่งคือ การแตกในระบบ ก็จะย้อนรอยการแตกในพรรคประชาธิปัตย์ และอีกหลายๆ พรรคที่ออกมาตั้งพรรคใหม่

“น่าสนใจว่าพรรคพลังประชารัฐจะเดินในแนวทางที่เราเห็น คือการแตกตัวออกไปตั้งพรรคใหม่อีกพรรคหนึ่ง เพราะในยุครัฐบาลทหาร เราเห็นผู้นำทหารสู้กันด้วยพรรคการเมืองก็มี เช่น ในยุคจอมพลสฤษดิ์ กับ พล.ต.อ.เผ่า ใช้เครื่องมือพรรคการเมืองในการต่อสู้”

วิเคราะห์พรรคทหาร

“ศ.ดร.สุรชาติ” วิเคราะห์ต่อว่า ถ้าฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจมีพรรคการเมืองใหม่ของตัวเองจริงๆ ไม่พึ่งสายเดิมในพรรคพลังประชารัฐ ก็จะเกิดอาการเดียวกันก่อนยุค 2500 คือการสู้กันระหว่าง สายจอมพลสฤษดิ์ กับ พล.ต.อ.เผ่า ที่ได้รับการสนับสนุนจากจอมพล ป. ก็จะเหมือนกับเราย้อนประวัติศาสตร์จริงๆ แล้ว

ย้อนกลับไปยุคการแข่งกันระหว่างพรรคเสรีมนังคศิลาของ พล.ต.อ.เผ่า กับ พรรคสหภูมิของจอมพลสฤษดิ์ โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านที่ไม่เข้มแข็งพอ เพราะอำนาจทางการเมืองและเสียง ส.ส.อยู่กับพรรคทหาร 2 พรรค

ประวัติศาสตร์มีคำตอบที่เป็นทางเลือก และอาจเป็นการย้อนรอยสำหรับปัจจุบันว่า การเมืองไทยจากปี 2564 ต่อ 2565 จะจบแบบใด โอกาสจบแบบรัฐประหารตัวเองปี 2514 คงไม่ง่าย แต่ขณะเดียวกันถ้าตัดสินใจมาตั้งพรรคใหม่ ย้อนรอยการเลือกตั้งปี 2500

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ประวัติศาสตร์อย่างหนึ่งว่า พรรคทหารจะเป็นพรรคชั่วคราว ผูกโยงอยู่กับบารมี และผู้นำรัฐประหารเป็นหลัก เช่น พรรคเสรีมนังคศิลา เมื่อไม่มีจอมพล ป. พล.ต.อ.เผ่า พรรคก็ค่อยๆ หมดบทบาทไป พรรคของจอมพลสฤษดิ์ พอหมดบทบาทเข้าจริงๆ พรรคสหภูมิก็ไม่มีสถานะ

พรรคสหประชาไทย พอจอมพลถนอมล่มสลายไปกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็จบ เหลือพรรคสามัคคีธรรมปี 2535 ก็หมดบทบาทไปกลุ่มผู้นำทหารรุ่น 5 และเราเห็นคำถามใหญ่ว่าพรรคพลังประชารัฐจะอยู่ในสถานะเดียวกับพรรคต่างๆ เหล่านี้หรือไม่

ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ถ้าตั้งพรรคการเมือง โดยบารมีผู้นำทหาร ที่มาจากนายกฯ เป็นอะไรที่น่าสนใจว่าพรรคจะมีบทบาทจริงๆ ได้แค่ไหน และตัวเขาจะนำพรรคจริงๆ ได้แค่ไหน มีคำถามที่ท้าทายว่า ผู้นำทหารที่เป็นผู้นำพรรคการเมือง ก็แทบไม่เห็นว่ามีใครประสบความสำเร็จในยุคหลังไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ชวลิต พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก

ทำไม “ผู้นำทหาร” ไม่สรุปบทเรียน “ศ.ดร.สุรชาติ” มองว่า ผู้นำทหารไทยไม่อ่านหนังสือและไม่เรียนประวัติศาสตร์ ฝ่ายอำนวยการทีอยู่ใกล้ชิดก็ไม่ใช่คนที่มีความรู้ประวัติศาสตร์ แต่ผู้นำทหารทุกยุคเชื่อเหมือนกันหมดว่า อำนาจปืนที่มีอยู่ในมือจะคุมสังคมการเมืองไทยได้ แล้วสุดท้ายความเชื่อเช่นนี้จะล้มเหลวที่ใหญ่ที่สุด

พอสังคมมีพัฒนาการมากขึ้น หรือ สังคมช่วงหลังการรัฐประหารเริ่มเห็นต่างจากผู้นำรัฐประหาร ภาระแรงกดดันไปอยู่ที่คณะรัฐประหาร การตัดสินใจลงจากอำนาจของ พล.อ.สุรยุทธ์ หลังรัฐประหาร 2549 กลายเป็นรัฐบาลที่อยู่เพียงช่วงสั้นๆ เป็นคำตอบว่า รัฐบาลทหารที่อยู่ภายกติกาที่ทหารเป็นคนร่างกติกาก็อยู่ได้ลำบาก ในระยะสั้นผู้นำทหารชุดปัจจุบันน่าเรียนรู้คือ บทเรียนยุค พล.อ.สุรยุทธ์

ผู้มีอำนาจนอนใจ พรรค ส.ว.

หรือเป็นเพราะผู้นำรัฐบาลปัจจุบัน นอนใจ ส.ว.250 ที่อุ้มให้อยู่ในตำแหน่งหรือไม่ “ศ.ดร.สุรชาติ” วิเคราะห์ว่า

ปัจจุบันมีเงื่อนไขพิเศษ ผลจากรัฐธรรมนูญ 2560 พวกเขาสามารถคุมการเมืองผ่าน ส.ว. 250 ได้ เพราะถ้าวันหน้าเขาถูกเปลี่ยนตัวออกอย่างไร ส.ว.250 ก็เลือกกลับเข้ามา วันนี้ต้องเรียกว่าพรรค ส.ว. เป็นพรรคการเมืองพรรคใหญ่อยู่ในสภา

ดังนั้น ในสภาวะพรรค ส.ว.ก็จะโหวตตามคนที่ตั้งพวกเขาได้รับประโยชน์หลังการเลือกตั้ง ส.ว.เป็นลูกพรรค หรือเป็นลูกพรรคทหารอีกแบบหนึ่ง

ต่างจากยุค ส.ว.ยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ ที่โหวตสวนนายกฯ เพราะปีกทหารมีท่าทีชัดเจนแล้วว่ามีท่าทีไม่เอารัฐบาล แต่ ส.ว.ปัจจุบัน ผู้แต่งตั้งยังเป็นผู้คุมทิศทาง ส.ว. ดังนั้น น่าสนใจว่า พรรค ส.ว. จะทำหน้าที่อย่างไรในอนาคต

การทำหน้าที่ ส.ว. ขึ้นอยู่กับการแตกหักกันเองของ 3 ป.หรือไม่ “ศ.ดร.สุรชาติ” ตอบว่า เป็นโจทย์ที่ผู้นำทหารต้องตอบ แต่ความสัมพันธ์ของผู้นำรัฐประหารหลังการมีอำนาจยาวๆ มันคือการเดินย้อนรอยประวัติศาสตร์ความแตกแยกของผู้นำทหารไทยในอดีตหรือไม่

ถ้าใช่.. อาการแก้วร้าวในรัฐบาลวันนี้ก็จะกลายเป็นแก้วแตก และการแก้วแตกไม่ยุติด้วยตัวมันเองในทางการเมือง น่าดูว่าอาการแก้วแตกจะจบอย่างไร ทางเลือกคือ ปรับ ครม. ลาออกเพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ โดยมี ส.ว.250 คนมาค้ำจุลตั้งรัฐบาลใหม่ หรือ ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ เพราะถือว่าตัวเองยังได้เปรียบในการคุมกลไกรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ

“ไพ่ในมือใบใหญ่ที่สุดคือการเป็นนายกฯ คุมกลไกอำนาจรัฐ เป็นแต้มต่อที่ไม่มีใครมี คนอื่นอาจมีฐานเสียง กลุ่มก๊วน แต่แต้มต่อใหญ่ที่สุดอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์”

ม็อบเปลี่ยนความคิดคน

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์มิได้ถูกท้าทายอำนาจในรัฐสภา แต่ยังมีม็อบนอกสภาหลายกลุ่มที่ขับไล่ “ศ.ดร.สุรชาติ” ประเมินม็อบกลุ่มต่าง ๆ แม้ไม่อาจไล่รัฐบาล แต่ก็ “เปลี่ยน” ความคิดคนได้

ม็อบอาจเปลี่ยนรัฐบาลไม่ได้ แต่ใหญ่ที่สุดคือม็อบเปลี่ยนทัศนคติของสังคม ยิ่งทำให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ

เมื่อม็อบเป็น “ตัวเปลี่ยนความคิดคน” หากลงเลือกตั้งวันนี้ โอกาสที่รัฐบาลแพ้ก็มีสูงหรือไม่ “ศ.ดร.สุรชาติ” กล่าวว่า ตอบคำถามที่ ร.อ.ธรรมนัสพูดว่าให้ พรรคพลังประชารัฐเตรียมตัว เงื่อนไขการเลือกตั้งปัจจุบันอาจไม่เป็นบวกกับพรรคพลังประชารัฐทั้งหมด เพราะผลพวงการบริหารประเทศไม่ได้สร้างอนาคตให้คนในสังคม

แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ยังขายได้อยู่ไหม ? “ศ.ดร.สุรชาติ” กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า คนบางกลุ่มชื่นชมรัฐประหาร เชื่อว่าประเทศไทยต้องปกครองโดยผู้นำทหาร และมีบางกลุ่มเชื่อว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ และต้องใช้ระบอบอำนาจนิยมมาปกครอง

“ชุดความเชื่อเหล่านี้ยังสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ สังคมไทยยังมีสลิ่ม หรือกลุ่มขวาจัด พอสมควร ที่พร้อมเทใจ เทเสียงให้กับรัฐบาลทหาร สลิ่มที่เข้มข้น กลุ่มขวาจัดที่เข้มข้นทั้งหลาย ยังเป็นฐานเสียงที่ดีของผู้นำทหาร”

“เหมือนยุคหนึ่งที่พรรคเสรีมนังคศิลาก็ต้องชูจอมพล ป. หรือพรรคสหภูมิ ที่เปลี่ยนมาเป็นพรรคชาติสังคม ก็เชียร์จอมพลสฤษดิ์ พรรคสหประชาไทยต้องชูจอมพลถนอม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลกของพรรคทหาร ต้องเอาภาพลักษณ์ของผู้นำทหารออกมาเรียกร้องความสนับสนุนในรูปแบบของผู้นำที่เข้มแข็ง”

ถาม “ศ.ดร.สุรชาติ” ว่า พรรคพลังประชารัฐไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ จะมีจุดจบเหมือนพรรคทหารในอดีตไหม

น่าคิดว่า พรรคนี้จะแตกออก หรือรั้งกลุ่มของ พล.อ.ประยุทธ์ไว้ต่อ เพื่อให้เป็นหัวของพรรค หรือเป็นจุดขายของพรรค อย่างที่หลายฝ่ายประเมินว่า ชัยชนะปี 2562 พรรคพลังประชารัฐมีจุดยืนแบบขวาจัด และตอบจุดยืนทางการเมืองแบบสลิ่ม ด้วยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์

เป็นบททดสอบในอนาคตว่า การเลือกตั้งที่จะเกิด พลังขวาสลิ่มจะยังสามารถค้ำจุน พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐได้อีกเพียงใด ทั้งที่การวัดในหลายโพล ขวาสลิ่มลดจำนวนลงเยอะมาก

“แต่ยังมีเสียงอยู่ในเวทีสังคม แต่กลุ่มขวาอีกส่วนหนึ่งที่ยังคุมสังคมอยู่ คือ ปีกขวาจัด ที่ยังอยากเห็นประเทศไทยยืนอยู่กับระบอบอำนาจนิยม ปีกขวาจัดเหล่านี้ก็ยังเป็นอุปสรรคใหญ่ของการเมืองไทย”