ถอดรหัสสัญญาณ กกต. เป่านกหวีด พรรคการเมือง สตาร์ตเลือกตั้ง

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ส่งหน่วย “ม้าเร็ว” การเมือง คือ “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกรัฐบาล

ออกมาดับข่าว ยุบสภา-ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)-ย้ายพรรค

ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคพลังประชารัฐ

แต่ข่าวลือการ “ยุบสภา” เลือกตั้งใหม่ของรัฐบาลเรือเหล็ก ถูกร่นเวลาจากอยู่ครบวาระมีนาคมปี 2566 ถูกขยับมาไม่เกิน ปี 2565 เพราะสภาพภายในรัฐบาลเรือเหล็ก กำลังกลายเป็น “สนิม” กินเนื้อในถึงโครงสร้างใจกลางอำนาจ ก็ดังอื้ออึงมากขึ้นทุกลมหายใจ

ถึงขนาด “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” (กกต.) ทำหนังสือเรื่อง “การเตรียมความพร้อมในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป” ถึงหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค 4 ข้อ

ข้อ 1.ให้พรรคการเมืองอัพเดต “สมาชิกพรรคการเมือง” ให้เป็นปัจจุบัน เพื่อตรวจสอบความซ้ำซ้อนของสมาชิกพรรคการเมือง เพราะอาจมีบุคคลที่สมัครเป็นสมาชิกหลายพรรคการเมือง ตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้าม และตรวจสอบการจ่ายค่าบำรุงสมาชิกพรรค เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการประชุมพรรคเกี่ยวกับการสรรหาผู้สมัครลงเลือกตั้ง

2.การจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้งในจังหวัดนั้น จะต้องมีสาขาพรรคการเมืองอยู่ในเขตเลือกตั้งนั้น และต้องมีสมาชิกพรรคการเมืองที่มีภูมิลำเนาในเขตเลือกตั้งนั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป

3.การตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด อันเป็นองค์ประกอบของที่ประชุมใหญ่พรรคการเมือง และกรรมการสรรหาผู้สมัคร ซึ่งเป็นกระบวนการไพรมารี่โหวต

ข้อ 4 เกี่ยวข้องกับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งเป็นกระบวนการ “ไพรมารี่โหวต” ซึ่งพรรคการเมืองต้องปฏิบัติ

แม้ว่า “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ชี้แจงการออกหนังสือดังกล่าวว่า เป็นไปตามปกติ ไม่เกี่ยวกับกระแสยุบสภาก็ตาม

โดยเป็นขั้นตอนการประสานงานกับพรรคการเมืองให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เคยมีหนังสือแจ้งให้พรรคการเมืองได้เตรียมความพร้อมไปหลายฉบับแล้ว และออกมาอย่างต่อเนื่องตลอด เนื่องจากพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกพรรคทั้งใหม่และเก่า

แต่นักเลือกตั้ง และผู้จัดเลือกตั้ง ย่อมรู้ดีว่า หากไม่เตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ ไม่มีทางส่งผู้สมัครได้ทัน เพราะกติกาตามรัฐธรรมนูญ 2560 อีนุงตุงนัง

มิเช่นนั้น “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชารัฐ หัวหมู่ทะลวงฟันเกมแก้รัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐบาล คงไม่เตรียมแผนแก้กฎหมายลูก 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (เพื่อแก้ให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่ผ่านรัฐสภาวาระ 3)

กับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งจะแก้ไขเรื่องการทำไพรมารี่โหวต โดยให้คณะกรรมการสรรหาฯรับฟังความคิดเห็น จากหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด และสมาชิก มาประกอบการพิจารณาสรรหา ไม่มี “การโหวตเลือกผู้สมัครในระดับพื้นที่”

และยังมีแผนปลด “เงื่อนไข” การส่งผู้สมัคร ส.ส.เขต ของพรรคการเมืองที่จากเดิมจะต้องมี “ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด” อยู่ใน “ทุกเขตเลือกตั้ง” ที่จะส่งผู้สมัคร ส.ส. ปรับให้ เป็นตัวแทนพรรคประจำจังหวัด จังหวัดละ 1 คนแทน ยกเว้นเฉพาะจังหวัดซึ่งเป็นที่ตั้งของสาขาพรรค

ดังนั้น หากอุปสรรคทั้งไพรมารี่โหวต-ตัวแทนพรรคการเมือง-การตั้งสาขาพรรค ทุกอย่างปลดล็อกไม่ทันตามแผน แต่บังเอิญลมการเมืองเปลี่ยนทิศขึ้นมา พรรคการเมืองหลายพรรคอาจจอดป้าย ตายน้ำตื้น ไม่อาจส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ครบทุกเขต

ในช่วงปิดสมัยประชุมสภา หลายพรรคการเมืองเร่งสปีดทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างเข้มข้น ทั้งพรรคใหม่-พรรคเก่า

เริ่มจากโครงสร้างใหญ่ พล.อ.ประยุทธ์สั่งรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วม เช็กกระแส-เรตติ้ง

โดยเฉพาะตัวนายกฯเองลงพื้นที่ถี่ยิบ ไม่ต่างกับช่วงก่อนเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ทว่าบรรยากาศแตกต่างกัน มีเสียงด่า มากกว่าดอกกุหลาบที่มาคอยต้อนรับ แต่มิอาจทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เลิกลงพื้นที่ เพราะคิวการลงพื้นที่ของนายกฯ ทยอย ๆ ออกมาเรื่อย ๆ หลังจากนี้

สับหลีกคิวกับ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่หนีบลูกพรรคไปตรวจน้ำท่วม กลายเป็นภาพวัดพลัง-แตกพรรคใหม่ ของกลุ่ม 3 ป.

พรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ นอกจากพลังประชารัฐ ก็ลงพื้นที่แข็งขันควบคู่กับการทยอยเปิดตัวผู้สมัคร เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ที่มี จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ เป็นหัวหน้า สั่งลูกพรรคลงพื้นที่ทั้ง 350 เขตเลือกตั้ง

ส่วนพรรคภูมิใจไทย พิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา จากพรรคภูมิใจไทย นายทุนภาคใต้ก็เร่งทำพื้นที่อย่างแข็งขัน มีการเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.ไปบ้างแล้ว ขณะเมืองหลวงของพรรคถิ่นอีสานใต้ ก็เตรียมดีล ส.ส.เพื่อไทย ไว้หลายรายเตรียมย้ายค่าย นอกจากก่อนหน้านี้ มีงูเห่าจากก้าวไกลไหลมาซบนับสิบราย

พรรคเพื่อไทย หัวขบวนฝ่ายค้าน สั่ง ส.ส. 134 คนลุยพื้นที่ รับฟังปัญหาของประชาชนในแต่ละพื้นที่เพื่อเตรียมกลับเข้ามาทำงานในสภา โดยย้ำให้ ส.ส.เตรียมความพร้อมสำหรับการยุบสภาที่อาจจะเกิดขึ้น ในช่วงที่ยังคาดเดาสถานการณ์ไม่ได้ แถมยังมีส่วนผสมสำคัญ “พานทองแท้ ชินวัตร” ลูกชายของ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกฯ หรือ “พี่โทนี่” ลงพื้นที่เรียกเรตติ้งด้วย

สำคัญที่ว่า 28 ตุลาคมนี้ พรรคเพื่อไทย เตรียมจัดประชุมใหญ่พรรคที่ จ.ขอนแก่น เตรียมประกาศวาระความพร้อมโชว์ศักยภาพในการสู้ศึกเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ หลายนโยบายที่เตรียมเผยโฉม ถูก “พี่โทนี่” เอ่ยปากกลางรายการ “คลับเฮาส์” ของกลุ่มแคร์ไว้แล้วบางส่วน

ตำแหน่งหัวหน้าพรรค-แคนดิเดตนายกฯของเพื่อไทย อาจใช้วิธีเดิมที่เป็นคนละคนกัน แต่เริ่มเผยสเป็กแล้วว่าเป็น “นักธุรกิจ” เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป แต่ถ้าเปิดเผยชื่อก่อนอาจถูกสอยร่วงก่อนเวลาอันควร

ด้านพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พาแกนนำพรรคตระเวนพบปะโหวตเตอร์คนรุ่นใหม่ที่เป็น “ทาร์เก็ตกรุ๊ป” ของพรรค ลงพื้นที่เหนือ-อีสาน ชู “พิธา” เป็นนายกฯคนต่อไป พร้อมเปิดตัวผู้สมัครคนใหม่ที่ จ.เชียงใหม่ ถึง 3 คน

ส่วนพรรคใหม่เปิดตัวแรง-อีเวนต์ไม่แผ่ว “ไทยสร้างไทย” ที่มีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นประธานพรรค ประกาศนโยบายเลือกตั้งไว้ก่อนใครเพื่อน หยิบโครงการ “บำนาญประชาชน” จำนวน 3 พันบาทต่อคน/เดือนให้ผู้สูงอายุ เดินหน้า “หวยบำเหน็จ”

พรรคกล้า เปิดแคมเปญรวมพล ผู้กล้า รับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ก. เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน ประกาศพร้อมชู กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคเป็นนายกฯ

ความเคลื่อนไหวพรรคการเมืองต่าง ๆ เริ่มปรากฏ เมื่อข่าวการยุบสภาดังหนาหูขึ้นเรื่อย ๆ