โครงสร้าง ศบค.ใหม่ ล็อกในล็อก ‘ประยุทธ์’ ติดอาวุธ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉุกเฉิน

รายงานพิเศษ

1 มกราคม 2565 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปักหมุด “เปิดประเทศ” เต็มรูปแบบ ทั้งเศรษฐกิจ-การเมือง-ความมั่นคง และการต่างประเทศ

1 พฤศจิกายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เศรษฐกิจ-ลดระดับความเข้มข้นกฎเหล็ก-ห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) จากเดิมตั้งแต่เวลา 22.00 น.-04.00 น. เป็นตั้งแต่เวลา 23.00 น.-03.00 น.ของวันรุ่งขึ้น

1 ธันวาคม 2564-ดีเดย์ “ปลดแอก” ธุรกิจกลางคืน หลังจากถูก “แช่แข็ง” ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 “ระลอกสาม” ช่วงเดือนเมษายน 2564 เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาช่วงเคานต์ดาวน์ ส่งท้ายปีเก่า-ขึ้นศักราชใหม่

คู่ขนานไปกับการเปิดประเทศ-รับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดย “ไม่ต้องกักตัว” โดยยกเลิกกลุ่ม “ประเทศเสี่ยงต่ำ” อาทิ อังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน และสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ขยายพื้นที่นำร่อง “เมืองท่องเที่ยว” หรือ “พื้นที่สีฟ้า” เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 64 จำนวน 4 จังหวัด ภายในวันที่ 
30 พฤศจิกายน 64 เป็น 17 จังหวัด และภายในวันที่ 31 ธันวาคม 64 เป็น 33 จังหวัด

โดยเตรียมแผนรองรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว-ไม่จำกัดพื้นที่ ให้ทันวันที่ 1 มกราคม 2565 จะเพิ่มจำนวนประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น

ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2565 จึงเป็นช่วง “เปลี่ยนผ่าน” อำนาจถ่ายโอนของ พล.อ.ประยุทธ์-ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

ตั้งแต่การประกาศยกเลิกการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เพื่อ “คืนอำนาจ” รัฐมนตรี-ผู้รักษาการตามกฎหมาย 31 ฉบับ

และทันทีที่การประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 14 สิ้นสุดในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 “อำนาจพิเศษ” ของ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ “ผู้อำนวยการ ศบค.” ก็จะสิ้นสุดลง

ทว่า แม้ ศบค.จะถูกยุบไปโดยอัตโนมัติ แต่จะไปสู่การ “รวมศูนย์อำนาจ” ที่เป็น “กลไกพิเศษ” อีกกลไกหนึ่ง และ “เหนือชั้นกว่า” ศบค.ในปัจจุบัน ภายใต้ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ. …

แม้ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อฉบับใหม่ยัง “ลูกผีลูกคน” ตัดสินใจไม่ได้ว่าจะออกเป็น “จำเป็น-ฉุกเฉิน-เร่งด่วน” หรือจะออกเป็น พ.ร.บ. เพื่อรอจังหวะ-เวลาทางการเมืองในพรรคร่วมรัฐบาลที่ยัง “คุกรุ่น” อยู่ให้ “เย็นลง”

ภายหลังเกิด “เอฟเฟ็กต์” ศึกการอภิปรายไม่ไว้วางใจ จนทำให้เกิด “รอยร้าว” ภายในพรรคแกนนำรัฐบาล-พลังประชารัฐ รวมถึงเป็นช่วงที่ ส.ส.พรรครัฐบาล ลงพื้นที่-ฐานเสียงในการช่วยเหลือประชาชนช่วงน้ำท่วม สุ่มเสี่ยงอาจทำให้ “สภาล่ม”

ดังนั้น ในช่วง 1 ปี 8 เดือน อายุรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่เหลืออยู่ จึงละเมียดกับการออกกฎหมาย โดยเฉพาะการออก พ.ร.ก. หากไม่ “คอขาดบาดตาย” นายวิษณุ เครืองาม เนติบริกร จะ “เตะออก” นอกประชุม ครม.-พ้นตึกไทยคู่ฟ้า

การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ยุบ ศบค. และการจุติ พ.ร.ก.โรคติดต่อฉบับใหม่-ตั้งศูนย์อำนวยการโรคติดต่อแห่งชาติ (ศรช.) จึงเป็นการ “คลายล็อก” จากล็อกหนึ่ง ไป “ติดล็อก” อีกล็อกหนึ่งเท่านั้น

โดย ศรช.จะมี “พล.อ.ประยุทธ์” หรือ “รองนายกรัฐมนตรี” ที่ได้รับมอบหมายหรือ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข” นั่ง “หัวโต๊ะ” หากจำเป็นต้องประกาศสภาวะฉุกเฉินร้ายแรงในการป้องกันโรคอุบัติใหม่ (โควิด-19)

โครงสร้าง ศรช.ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นเลขานุการ และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด 76 จังวัด-คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นมือไม้-แขนขา

สำหรับอำนาจ-หน้าที่ “ไม่น้อยไปกว่า” และ “ทรงประสิทธิภาพ” มากกว่า ศบค. เช่น การออกมาตรการต่าง ๆ ในการปิด-เปิดสถานที่ กิจการ-กิจกรรมต่าง ๆ การกำหนดพื้นที่-โซนสีความเข้มข้นได้เอง รวมไปถึงมีอำนาจในการประกาศเคอร์ฟิว และห้ามการจัดกิจการที่เป็นการรวมตัวกันจำนวนมาก

“ศบค.ในปัจจุบันต้องดึงอำนาจของส่วนราชการต่าง ๆ มาอยู่ใต้ ศบค. เช่น การออกกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทยต้องให้กระทรวงมหาดไทยไปทำ ของกระทรวงการต่างประเทศก็ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศไปทำ แต่ศูนย์ใหม่ (ศรช.) ที่จะมาแทน ศบค.มีอำนาจที่จะทำได้ โดยมีกฎหมายของกระทรวงต่าง ๆ อยู่ภายใต้กฎหมายโรคติดต่อฉบับใหม่” แหล่งข่าว ศบค.ชุดเล็กระบุ

สำหรับร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 พ.ศ. ….. ได้เพิ่มหมวด 6/1 สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข มาตรา 44/1 ให้อำนาจคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ประกาศให้เป็นโรคติดต่อร้ายแรง

มาตรา 44/2 ให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั่งราชอาณาจักรหรือบางเขตท้องที่ โดยให้บังคับใช้ไม่เกิน 3 เดือน 
และขยายได้เป็นคราว ๆ คราวละไม่เกิน 3 เดือน

มาตรา 44/3 เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขแล้วให้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติประกอบด้วย 1.นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ 2.รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย ไม่เกินสองคน เป็นรองประธาน

3.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรรมการ 4.รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นกรรมการ (ถ้ามี)

5. 15 ปลัดกระทรวง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการ 6.กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นสมควรแต่งตั้งไม่เกิน 4 คน เป็นกรรมการ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐคนหนึ่งเป็นกรรมการและเลขานุการร่วมและผู้ช่วยเลขานุการร่วมอีกตามที่จำเป็นก็ได้

มาตรา 44/8 กรณีจำเป็น คณะกรรมการจะจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเป็นการชั่วคราว เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการกำหนดก็ได้ และจะให้มีหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อเพิ่มเติมตามจำเป็น

มาตรา 44/11 เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย 1.รองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีคนหนึ่งซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน

2.ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธาน คนที่หนึ่ง 3.ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธานคนที่สอง 4.7 ปลัดกระทรวง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เป็นกรรมการ และให้ปลัดกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการและเลขานุการ

จาก ศบค.สู่ ศรช. “ล็อกในล็อก” ล้างครหา “โควิดการเมือง”