Soft Power ทิม พิธา ชี้ เป็นเรื่องเดียวกับการสร้างประชาธิปไตย

Soft Power ทิม พิธา ชี้ เป็นเรื่องเดียวกับการสร้างประชาธิปไตย

ทิม พิธา ชี้ การสร้าง Soft Power เป็นเรื่องเดียวกับการสร้างประชาธิปไตย จุดเริ่มต้น คือ mindset ของผู้มีอำนาจ ประเทศที่มีประชาธิปไตยมากกว่า มีแนวโน้มจะมีดัชนีการสร้างสรรค์มากตามไปด้วย

วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคพรรคก้าวไกล (ก.ก.) โพสต์ข้อความเรื่อง “การสร้าง Soft Power ให้เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่การออกมาพูดอย่างฉาบฉวย แต่ต้องมาพร้อมกับการปลดปล่อยทางความคิด” ผ่านเฟซบุ๊ก Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมในงาน Bangkok Music City 2021 โดยเสวนาในหัวข้อ “Soft Power : Policy Maker Panel | Soft Power ไทย ผลักดันอย่างไรต่อ” ร่วมกับแขกรับเชิญอีกสองท่านได้แก่ รศ.ดร.จักรกริช สังขมณี และคุณกรณ์ จาติกวณิช

เมื่อพูดถึง Soft Power บทบาทของเรื่องนี้ไม่ได้มีแค่ด้านเศรษฐกิจแบบที่เราคุ้นเคย แต่ยังมีคุณูปการต่อทั้งด้านการเมืองและสังคมอีกมากมาย ตัวอย่างเช่นในปี 2010 ผมได้ไปเห็นกับตาถึงบ้านเกิดของตำนานดนตรีเร็กเก้อย่าง Bob Marley ที่ใช้ดนตรีที่เขาเชื่อเพื่อหยุดความขัดแย้งในระดับสงครามกลางเมืองในประเทศ ทำให้เราเห็นว่าวัฒนธรรมดนตรีของจาเมกานั้นเป็นอำนาจที่ทรงพลัง สามารถปลดปล่อยศักยภาพทางความคิดและนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง

แต่ในปีเดียวกัน ปี 2010 เป็นปีที่ภาพยนตร์เรื่อง Insect in the Backyard ของคุณกอล์ฟ ธัญญ์วาริน ที่พูดถึงเรื่องของคุณค่าของความหลากหลายทางเพศ ได้เข้าไปฉายและถูกเสนอเข้าชิงรางวัลที่ Vancouver ประเทศ Canada แต่กลับถูกห้ามฉายในประเทศไทย จากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยตัดสินว่า “มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” ทั้งที่มีเนื้อหาพูดถึงความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมก่อนที่ที่ภาพยนตร์ The Parasite ของเกาหลีใต้สร้างมาเกือบ 10 ปี

แน่นอนครับว่าการจะพัฒนา Soft Power ของไทยให้ได้นั้นจะต้องมีเรื่องเรื่องของงบประมาณ โครงสร้างหรือ infrastructure และวิสัยทัศน์ แต่ถ้าจะให้เล่าแบบ Quentin Tarantino ก็คือเล่าจากตอนจบย้อนกลับมาตอนเริ่ม ก็ต้องบอกว่า เราต้องเริ่มที่ mindset ของผู้มีอำนาจว่า วัฒนธรรมมีไว้ควบคุม หรือมีไว้ปลดปล่อย?

ถ้าเราจะพัฒนา Soft Power ของไทยให้พัฒนาตามแบบประเทศอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จ เป็นไปได้อย่างไรที่จะมีการที่นักศึกษาวิจิตรศิลป์ถูกฟ้องหมิ่นประมาท ฟ้อง ม.112 จากการแสดงของของพวกเขาผ่านงานศิลปะ?

จะเป็นไปได้ยังไงถ้า mindset ที่ต้องการควบคุมของผู้มีอำนาจ ถูกส่งผ่านมายังกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.ภาพยนตร์, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯลฯ ที่ต้องควบคุมอิสระและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการไม่ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ศิลปินไม่ได้รับการปกป้อง ส่งผลให้ไม่มีความมั่นคงในชีวิต

สำหรับผม เรื่องของวิสัยทัศน์ โครงสร้างและงบประมาณก็มีความสำคัญ แต่จุดเริ่มต้น คือ mindset ของผู้มีอำนาจ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด ถ้าเราไปดูที่ต่างๆ ในโลก ประเทศที่มีประชาธิปไตยมากกว่า มีแนวโน้มจะมีดัชนีการสร้างสรรค์หรือ Soft Power มากตามไปด้วย

กรณีนี้เราสามารถศึกษาได้จากเกาหลีใต้ ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเกาหลีใต้ มีองค์กรสำคัญหนึ่งชื่อ The Korea Creative Content Agency หรือ KOCCA

วิธีการทำงานของ KOCCA ก็คือการทำหน้าที่เหมือนเป็นทูตพาณิชย์ คือไม่ได้คิดแค่ว่า เกาหลีใต้มีดีอะไร? แต่มีการมองจากข้างนอกเข้ามาข้างใน คือเมื่อ ต้องการส่งออกสินค้า ก็ต้องไปดูว่าข้างนอกต้องการอะไร? สนใจอะไร? แล้วก็เชื่อมโยงการผลิตให้ตรงกับความต้องการ

ครั้งหนึ่ง เกาหลีใต้เคยมาศึกษาวิธีการดูแลศิลปินจาก Grammy-RS ประเทศไทย ศึกษาท่าเต้นจากไทย จีน และสหรัฐอเมริกา ทุกท่าเต้นที่ออกมาผ่านการออกแบบด้วยการทำ Customer Insight และ Big Data ดังนั้น เราจะเห็นว่าการทำงานสร้าง Soft Power ไม่ใช่แค่การอนุรักษ์ของเดิม แต่เป็นการปรับตัวตามยุคตามสมัย

เมื่อมองกลับมายังประเทศไทยของเราก็มีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ซึ่งผมเชื่อว่าก็เต็มไปด้วยบุคลากรที่มีวิสัยทัศน์และความสามารถ แต่ว่างบประมาณที่ได้รับมีเพียง 310 ล้าน และมีเพียงร้อยกว่าล้านเท่านั้นที่ถูกแบ่งมาเพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ ซึ่งต่างจาก KOCCA ที่มีอยู่กว่า 15,000 ล้านบาทอย่างมาก

เช่นเดียวกับงบประมาณของกระทรวงวัฒนธรรมที่ได้รับกว่า 7,000 ล้านบาท มีเพียง มีเพียง 190 ล้านบาทเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับศิลปะร่วมสมัย จากงบประมาณ ทั้งหมดของกระทรวงวัฒนธรรมของกระทรวงวัฒนธรรม

จะเห็นได้ว่าการสร้าง Soft Power ไม่ใช่แค่การที่ออกมาพูด Buzzword หรือมีงบประมาณส่งเสริมอย่างฉาบฉวย แต่เราต้องการสังคมที่เอื้อต่อการคิดและสร้างสรรค์ และการบริหารประเทศที่กล้าเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเดิมอย่างแท้จริง

การสร้าง Soft Power คือเรื่องเดียวกับการสร้างประชาธิปไตย ผมคิดว่าถ้าเราพูดถึง K-pop ของเกาหลีใต้ เราไม่สามารถแยกออกจากเปลี่ยนไปสู่การเป็นประชาธิปไตยได้ กลุ่มบริษัทเอกชนและภาครัฐของเกาหลีใต้จะไม่สามารถผลักดันวัฒนธรรม K-Pop หรือสามารถสร้างสรรค์อุตสาหกรรมบันเทิงแบบที่เราเห็นภายใต้โครงสร้างทางการเมืองในระบอบเผด็จการได้เลย ถ้าไม่มีการปลดปล่อยและเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยครับ