ประยุทธ์ ปราบกบฏ รัฐมนตรีตกสวรรค์ ปมร้อนการเมืองปี 2564

การเมืองปี 2564 ผ่านไปไวเหมือนโกหก 

เช่นเดียวกับวาระของรัฐบาล พล.อ.ประยทธ์ จันทร์โอชา เผลอแป๊บเดียวมาเกินครึ่งเทอม 

อีกเพียงสิบกว่าเดือนวาระรัฐบาลจะครบ 4 ปี ในปี 2566 

ตบอดเส้นทางในปี 2564 ของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจกล่าวได้ว่าผันผวนที่สุด ถูกท้าทายอำนาจหนักที่สุด ขึ้นขั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลงมือ “ปราบผู้ทรยศ” 

ประชาชาติธุรกิต รวบรวมสถานการณ์ร้อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องฝ่าฟันในปี 2564 

ประยุทธ์ ปราบกบฏ

ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 31 สิงหาคม -4 กันยายน 2564 แทนที่จะเป็นเวทีของฝ่ายค้านโชว์ฟอร์มไล่ถล่มรัฐบาล แต่กลับกลายเป็นเกมเลื่อยขากันเองภายในรัฐบาล เมื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ กลับรวมรวมไพร่พล โหวตคว่ำ พล.อ.ประยุทธ์ หวังเปลี่ยนตัวผู้นำในสภา 

แต่แผนการ “รัฐประหารเงียบ” ในสภา ข่าวดันรั่วไปถึงหู พล.อ.ประยุทธ์ ไหวตัวทันจึงต้องแก้เกม พร้อมกับให้สัมภาษณ์ดังๆ ผ่านสื่อว่า 

“ถ้ามันจริง ผมถือว่าไม่เป็นสุภาพบุรุษ เพราะเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่จะทำอย่างนั้น ทำไปเพื่ออะไร ผมเข้ามาก็ทำงาน 100% ในทุกเรื่อง เพราะฉะนั้นการที่จะไปรวมคะแนนเสียงโหวต ซึ่งจริงหรือไม่จริง ผมไม่ทราบ แต่ถือว่าไม่ใช่สุภาพบุรุษ ถ้าทำแบบนั้น” 

“การแอบอ้างเบื้องสูง ถือว่าผิดอย่างร้ายแรง ผมคนเดียวเท่านั้น ที่ได้มีโอกาสถวายข้อราชการ คนอื่นไม่มี” 

พล.อ.ประยุทธ์ เปิดปฏิบัติการตอบโต้ด้วยการ ดีลกับรัฐมนตรีขั้วตรงข้ามกับ ร.อ.ธรรมนัส กวาดต้อน ส.ส. เข้ามาคุยเรียงตัว กระทั่ง วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย เพื่อไทย ประกาศกลางสภาว่า นายกฯ เรียก ส.ส.ไปจ่ายเงินหัวละ 10 ล้าน! 

มีข่าวลือว่า ระหว่างที่ ร.อ.ธรรมนัส เดินเกมโค่น พล.อ.ประยุทธ์ เปิดดีลกับฝ่ายค้านเปลี่ยนรัฐบาลในสภา สลับขั้วจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มีข่าวว่า พรรคเพื่อไทยก็เตรียมวางคนเป็นรัฐมนตรีไว้แล้วเช่นกัน  แม้ที่สุดแล้ว “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เปิดบ้านป่ารอยต่อเคลียร์ใจ ศึกในพรรคพลังประชารัฐ 

กระทั่งถึงวันโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ กุมชัยชนะเอาไว้ได้ แม้จะถูกไม่ไว้วางใจสูงสุด แต่เสียงไว้วางใจก็เกินครึ่ง 

ทว่าเมื่อเสร็จศึก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่อาจปล่อยให้คนคิดการใหญ่ได้อยู่ต่อไป ร.อ.ธรรมนัส จึงถูกปลดออกจากรัฐมนตรีในฐานะ “กบฏ” ที่คิดโค่นล้ม พล.อ.ประยุทธ์ 

รวมพลนักการเมืองตกสวรรค์ 

ปี 2564 เป็นปีของนักการเมืองตกสวรรค์ มีทั้งถูกศาลสั่งให้หยุดการปฏิบัติหน้าที่เป็น ส.ส. ร้ายที่สุดหลุดออกจากการเป็น ส.ส.ตัวอย่างเช่น แก๊งนกหวีด กปปส. สังเวยคดีชุมนุมที่ปูทางไปสู่การรัฐประหาร 2557 พิษแห่งคดีทำให้  ชุมพล จุลใส จำคุก 9 ปี 24 เดือน  พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ จำคุก 7 ปี  อิสสระ สมชัย จำคุก 7 ปี 16 เดือน  วิทยา แก้วภราดัย จำคุก 1 ปี รอลงอาญา ปรับ 13,333 บาท  ถาวร เสนเนียม จำคุก 5 ปี  ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ จำคุก 6 ปี 16 เดือน คนที่เป็นรัฐมนตรีอย่าง ถาวร ณัฏฐพล พุทธิพงษ์ ต้องตกเก้าอี้รัฐมนตรีแบบฟ้าผ่า 

ส่วน ส.ส.ที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ที่หยุดการทำหน้าที่ ส.ส.เป็นพวง “วิรัช รัตนเศรษฐ” อดีตประธานวิปรัฐบาล พร้อมด้วย นางทัศนียา รัตนเศรษฐ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ภรรยาของนายวิรัช และนางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ คือกรณีทุจริตสนามฟุตซอล ที่ จ.นครราชสีมา 

นอกจากนี้ยังมี “ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์” ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเสียบบัตรแทนกัน เช่นเดียวกับ “ฉลอง เทอดวีระพงศ์” และ “ภูมิศิษฎ์ คงมี” ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย

กับกรณีล่าสุดศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ “สิระ เจนจาคะ” พ้นจากตำแหน่ง ส.ส. เพราะเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดถูกศาลสั่งจำคุกเมื่อปี 2538 ทำให้ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง ส.ส. พร้อมสั่งให้จัดการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ กทม. 

ยุทธการเด็ดปีกแกนนำม็อบ 

การเมืองนอกสภาในปี 2564 ยังคุกรุ่นต่อเนื่อง ม็อบราษฎรที่เคลื่อนไหวต่อเนื่องมาจากปี 2563 แต่อาจจะไม่ร้อนแรงเท่า เพราะมีสถานการณ์โควิด-19 ระบาดใหญ่เข้าแทรกซ้อน แม้แกนนำม็อบรุ่นเด็กจะสู้ยิบตา แต่ก็สะบักสะบอม 

บรรดาแกนนำก็ถูกสังเวยด้วยคดีความต่างๆ เข้า-ออก เรือนจำกันเป็นว่าเล่น กว่าจะถูกปล่อยตัวชั่วคราวก็ต้องนอนคุกยาว แกนนำอย่าง “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก อานนท์ นำภา “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล “ไผ่ ดาวดิน”จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา  เบนจา อะปัญ โดนคดีตั้งแต่ 19 คดี – 30 กว่าคดี อ่อนแรงไปตามๆ กัน 

นอกจากนี้ วันที่ 2 ธันวาคม 2564  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 วินิจฉัยว่าการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม วันที่ 10 สิงหาคม 2563 อันเป็นจุดเริ่มต้นของคณะราษฎร เป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองฯ และมีคำสั่งห้ามการกระทำดังกล่าวในอนาคตด้วย  ทำให้นักการเมืองฝ่ายค้านที่เป็นแบ็คอัพต้องโดดหนี ผวาถูกหางเลข-ยุบพรรค

นายใหญ่ เข็น “อุ๊งอิ๊ง” ลงสนาม 

28 ตุลาคม 2564 ในการประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทย ที่จังหวัดขอนแก่น เกิดเรื่องที่เซอร์ไพรส์คนการเมือง เมื่อ “อุ๊งอิ๊ง” แพรทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กสุดหวงของ “ทักษิณ ชินวัตร” หรือ พี่โทนี่ ถูกเข็นลงสนามการเมืองอย่างเป็นทางการ ในฐานะประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม 

เกิดขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนผู้บริหารพรรครุ่นเก่า “ถอยฉาก” ไปอยู่ด้านหลัง ดันคนรุ่นใหม่ ลูกนักการเมืองในเพื่อไทย – นัการเมืองรุ่นใหม่เข้ามาเป็นกรรมการบริหาร เปลี่ยนหัวหน้าพรรคจาก “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” มาเป็น “หมอชลน่าน ศรีแก้ว” ซึ่งเป็นดาวสภา ปรับภาพลักษณ์ให้ดูทันสมัย 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด การเข็น “อุ๊งอิ๊ง” ลงสนาม “พี่โทนี่” ส่งสัญญาณว่าการเลือกตั้งรอบหน้า “เขาเอาจริง” แม้ยังไม่เปิดท่อน้ำเลี้ยงให้บรรดา ส.ส. แต่ก็ถือเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ “ห้ามเลือดไม่ให้ไหล” ออกจากเพื่อไทย หลังพรรคเครือข่ายลุงตู่ – พรรคฝ่ายรัฐบาล มีการเปิดดีลช็อปตัว ส.ส.เพื่อไทย ให้ย้ายไปสังกัด 

อีกทั้ง มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนกติกาเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ยังดึงคนเก่า กลับมาอยู่กับพรรคได้อีก เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง – สามารถ แก้วมีชัย 

ด้วยกติกาเลือกตั้งที่เข้าทาง โทนี่ และ พลพรรคเพื่อไทย จึงมั่นรอบหน้า “แลนด์สไลด์”

การเมือง 2564 ปูทางไปสู่การเลือกตั้ง 2565 ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จะครบวาระ