สติธร วิเคราะห์คู่แข่งประยุทธ์ จุดแข็งแคนดิเดตนายกฯ พรรคใหม่ไม่เกิด

สติธร ธนานิธิโชติ
สติธร ธนานิธิโชติ
สัมภาษณ์พิเศษ
ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

การเมืองปี 2565 ในสายตานักการเมืองแบ่งเป็น 2 ข้าง ฝ่ายรัฐบาลมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะนำพารัฐนาวาไปได้ครบเทอม 2566

ฟากฝ่ายค้านก็มั่นใจว่ารัฐบาลประยุทธ์มีทั้งปัจจัยภายใน-ภายนอกเข้ามาปั่นป่วน อยู่ไม่ครบเทอม

แต่ในสายตาคนกลาง “สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า นักวิเคราะห์กลเกมการเมือง-สูตรการเลือกตั้งตัวท็อปมองว่า ปี 2565 จะเป็นปีที่พรรคการเมืองชูความหวังใหม่ ๆ เป็นทางเลือก ส่วนรัฐบาลถ้าเอาแค่ประคองตัว…เตรียมตัวพัง

รัฐบาลประคองเข้าป้าย

“สติธร” เริ่มต้นวิเคราะห์การเมือง 2565 ว่าเป็นปีที่รัฐบาลประคองตัวเข้าป้าย ฝ่ายค้านไม่มีแรงจูงใจอะไรแค่แซะรัฐบาลไปเรื่อย ส่วนรัฐบาลก็จะตีกรรเชียงไป จะดูไม่หวือหวา สมมุติฝ่ายค้านเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วยังไงต่อในเมื่อรัฐบาลจะครบวาระอยู่แล้ว คำถามคือ พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลเองพร้อมหรือยังที่จะเลือกตั้ง ถ้าไม่จำเป็น อยู่อย่างนี้สบายดี สมประโยชน์ด้วยกัน

แต่ “สติธร” ออกโรงเตือนรัฐบาลว่า โดยธรรมชาติของรัฐบาลในระบบรัฐสภา ช่วงปีท้าย ๆ ถ้าคิดว่าตัวเองจะตีกรรเชียงรอเข้าป้าย ระวัง…พอไปเลือกตั้งจริงแล้วจะแพ้

อยู่กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์มา 8 ปี ถ้าทรง ๆ ไม่มีอะไรตื่นเต้น คนจะรู้สึกว่าจะต้องเปลี่ยน รัฐบาลอาจดีใจว่าม็อบสงบ แต่คำถามคือวาทกรรมเลือกความสงบจบที่ลุงตู่จะขายได้ต่อเหรอ ถ้าคนรู้สึกว่าสงบแล้ว ไม่มีจุดขาย

ถ้ารู้สึกว่าบ้านเมืองวุ่นวาย เรายังต้องการรัฐบาลแบบลุงตู่มาคอยกำราบ ในมุมอนุรักษ์นิยมเขาอาจจะมองว่ารัฐบาลแบบลุงตู่จำเป็น แต่ถ้า ปี 2565 ทำให้รู้สึกว่าสถานการณ์ปกติ เราอยู่ได้ หลังโควิดเราอยู่รอด แล้วรัฐบาลประคองตัว คนจะรู้สึกว่า ถ้าอย่างนั้นเป้นจังหวะที่เราต้องเปลี่ยนไปสู่อะไรที่ดีกว่าแล้ว

ถ้าเป็นอย่างนี้รัฐบาลเก่าจะเสียเปรียบ เพราะไม่มีตัวอะไรจะมาบอกคนว่าจะเปลี่ยนอะไรได้ ทำให้พรรคการเมืองตัวเลือกใหม่ๆ ก็จะรู้สึกว่าถ้าเราเสนออะไรใหม่ๆ โดนใจคน เราก็มีโอกาสชนะ คนอยากเปลี่ยน อยากลองของใหม่ หรือ ลองของเก่าอย่างพรรคเพื่อไทย เพราะรู้สึกว่าชั่วโมงนี้ต้องสไตล์เพื่อไทย เหมือนในอดีต เพื่อเราจะดันเศรษฐกิจขึ้น

ดังนั้น ปี 2565 จะเป็นปีที่พรรคการเมืองชูแคมเปญหวือหวา สร้างความหวังอะไรใหม่ ๆ แล้ว

อ่านสูตรเลือกตั้ง 2 ใบ

อีกด้านหนึ่งที่จะเป็นตัวกำหนดเกมการเมืองปี 2565 คือ “กติกาเลือกตั้ง” ที่เปลี่ยนระบบจากบัตรใบเดียว แบบจัดสรรปันส่วนผสม มาเป็นบัตร 2 ใบ วันแมนวันโหวต

“สติธร” วิเคราะห์ทิศทางว่า เกมจะเปลี่ยนไปเยอะ เพราะพรรคการเมืองอันดับ 1 อันดับ 2 ไม่ต้องมาไล่บี้ เก็บทุกคะแนนมีความหมาย แต่จะไล่กันที่เขตเลือกตั้ง

“พรรคใหญ่ต้องสู้กันหนักแน่ที่เขต เพราะเดิมพันคือการจัดตั้งรัฐบาล ทีนี้…ต้องอัดเต็มที่ และคะแนนเป็นกอบเป็นกำอยู่ที่เขต ส่วนปาร์ตี้ลิสต์คู่ชิงได้เปรียบอยู่แล้วโดยธรรมชาติ”

สำหรับพรรคเล็กรอปาร์ตี้ลิสต์อย่างเดียว ตามรัฐธรรมนูญใหม่มีเงื่อนไขแค่ต้องมีผู้สมัครสักเขต สองเขต เพื่อให้สามารถส่งปาร์ตี้ลิสต์ได้ ซึ่งบัตรปาร์ตี้ลิสต์ถูกส่งไปทุกเขต 400 เขต เผลอๆ ได้ ส.ส. โดยลุ้นให้จับเบอร์ผู้สมัครได้เลขตัวเดียว เดี๋ยวมีคนกามั่วมาโดนเอง เบอร์ 1-3 การันตีเลยว่าต้องได้ ส.ส. 1 ที่นั่ง

เหมือนกรณีพรรครักประเทศไทย ของนายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้เบอร์ 5 ส่วนพรรคประชาธิปไตยใหม่ ได้ ส.ส.เพราะได้เบอร์ 3 เพราะได้มาแสนกว่าคะแนนเพราะคนกาผิด

ส่วนพรรคระดับกลางต้องเปลี่ยนไปเล่นที่เขตเน้น ๆ ไม่ต้องมาเก็บคะแนนตกน้ำ “ภูมิใจไทยฉลาดที่สุด ปรับตัวเร็ว ชัดเจน เจาะแล้ว เลือกแล้ว บุรีรัมย์ โคราช อันดามัน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ภาคกลาง อุทัยธานี อ่างทอง ส่วนสุรินทร์ ศรีสะเกษ ที่พอได้ลุ้น ก็ลุยต่อ และหาฐานเพิ่มช่วงที่ตัวเองเนื้อหอม”

ดังนั้น พรรคกลาง ๆ ต้องหาพันธมิตรร่วม อย่ามาทับเส้นกันเยอะ เพราะแย่งกันเองยิ่งตาย ถ้าเป็นเพื่อนกับพรรคใหญ่ยิ่งดีให้เขาหลีกทางให้ แล้วเราไปร่วมรัฐบาลกัน ต้องเล่นกันสูตรนี้

พปชร.แข็งที่คนกับฐานเสียง

“สติธร” แยกการเตรียมต่อสู้ของพรรคการเมือง เป็นรายพรรค เริ่มจาก “พรรคพลังประชารัฐมั่นใจว่าแข็งแกร่งระบบเขต ตอนนี้ก็ยังแข็งอยู่ มีแค่ตัวแปรนิดเดียวคือ ความสัมพันธ์ระหว่างลุงตู่ (พล.อ.ประยุทธ์) กับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า แต่ตราบใดที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคนำธง แล้ว ร.อ.ธรรมนัสช่วยเต็มแรง ก็สู้ได้”

“ปัจจัยกระแส พล.อ.ประยุทธ์ติดลบ ไม่มีผลต่อเขตในหลายพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคอีสาน เขาไม่ได้ขายลุงตู่เป็นหลัก แต่ขายตัวคนในเขต ขณะเดียวกัน คู่แข่งก็ตัดคะแนนกันดุเดือด เพื่อไทย-ก้าวไกลก็เหยียบขากันอยู่ พลังประชารัฐก็ยิ่งมั่นใจ”

“สมมติพรรคพลังประชารัฐเชื่อว่าได้ 3.5 หมื่น – 4 หมื่นคะแนนในเขตเลือกตั้งนั้น เขาก็มีตามนั้น ขณะที่พรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล คะแนนไหล เช่น พรรคเพื่อไทย บอกว่าจะได้ 3.5 หมื่น – 4 หมื่นคะแนน แต่พอถึงเวลาจริงคะแนนอาจไหลไปก้าวไกล”

“จุดแข็งของพรรคพลังประชารัฐแข็งที่คนกับฐานเสียงและตัวจ่าย คนที่ไปดีล ตัวผู้สมัครก็ประมาณหนึ่ง มีเครือข่ายระดับหนึ่ง แต่แรงหนุนที่มาจากพรรคหนุนหลังให้ทำงานกับฐานเสียงได้ นี่คือจุดแข็งของพรรคพลังประชารัฐ หากฐานเสียงขออะไร ได้แน่ เพราะพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาล เอาโครงการมาลงได้ เอื้อประโยชน์ให้ท้องถิ่นได้ ”

ส่วนการขายชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ในการเลือกตั้ง ปี 2562 พรรคขายเฉพาะภาคใต้กับ กทม.อยู่แล้ว เป็นที่มาที่พรรคประชาธิปัตย์เละเทะใน กทม.กับภาคใต้ ส่วนอีสานกับเหนือเขาไม่ขาย เพราะผู้สมัครเชื่อว่าขายไม่ออก

“ไม่มีผล ไม่มีผลกับภาคกลาง อีสาน เหนือ มีผลแค่กรุงเทพ กับใต้ พรรคประชาธิปัตย์จึงหวังว่าเขาจะกลับมาเป็นพรรคใหญ่กว่านี้ได้ เพราะถ้าลุงตู่คะแนนนิยมตกเห็นๆ อยู่แล้ว คนก็ไม่จำเป็นต้องเลือกลุงตู่ คนก็จะกลับมาหาพรรคประชาธิปัตย์ แต่เงื่อนไขคือพรรคประชาธิปัตย์ต้องมีตัวเลือกดีๆ ให้เขา  เป็นความหวังให้เขาว่าถึงอย่างไรพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้เป็นรัฐบาล”

จับตา ประยุทธ์เทหมดหน้าตัก

“สติธร” ให้จับตาช่วงปลายปี 2565 ว่ารัฐบาลจะมีทีเด็ดเรื่องนโยบายหรือไม่ เพื่อแก้เกมเศรษฐกิจ-ปากท้อง

ขึ้นอยู่กับช่วงปลายๆ รัฐบาลจะมีทีเด็ดอะไรหรือเปล่า ถ้าพรรคพลังประชารัฐอ่านออกว่าถ้าไม่ทำอะไรเลยในเชิงนโยบาย…เสร็จแน่ แต่ถ้าเขาคิดได้เหมือนก่อนเลือกตั้ง 2562 ช่วงท้ายๆ ของรัฐบาล คสช.จะมีโครงการ สวัสดิการทั้งหลายออกมาตอนท้าย มันชัดเจน

จริงๆ พรรคเพื่อไทยเห็นจุดอ่อนของรัฐบาลลุงตู่ ยุค คสช. ที่รู้สึกว่าเงินมาไม่ถึงประชาชน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (ครั้งยังเป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อไทย) ก็พูดอยู่บ่อยๆ ว่าเงินไม่มีในกระเป๋า ถ้าเลือกเพื่อไทยกระเป๋าตุง พอท้ายๆ ลุงตู่ก็ส่งเงินลงกระเป๋าคน คนก็รู้สึกว่าโอเค เลือก พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังได้ประโยชน์ตรงนี้อยู่

“สติธร” ประเมินแต้มพรรคพลังประชารัฐอาจจะได้เท่าเดิมหรือน้อยลงหน่อย โดย กทม.และใต้น่าจะลด น่าจะได้ ส.ส.120++

“จริงๆ พรรคพลังประชารัฐ ควรได้มากกว่าเดิม แต่ปัจจุบันเริ่มไม่แน่ ข้างในพรรคเริ่มไม่แน่ ไม่ชัด แต่ความขัดแย้งเริ่มชัด อาจมีคนที่อยู่ไม่ไหวเริ่มแตกตัวออก อาจมีบางกลุ่มที่มีฐานเสียงกระเด็นออกไปอยู่กับพรรคเล็ก พรรคกลาง แล้วกลับมารวมเป็นรัฐบาลในตอนท้าย ประเภทขอเป็นหัวหมา ก็ได้กลับมาเป็นรัฐบาล”

เพื่อไทยไม่แลนด์สไลด์

ส่วนพรรคเพื่อไทย เขาวิเคราะห์ว่า เดิมได้ ส.ส. 137 เสียง ตอนนี้เขตเลือกตั้งเพิ่มขึ้นเป็น 400 เขต น่าจะได้ ส.ส.เพิ่ม ส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์จะได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับตอนทำแคมเปญคร่าว ๆ เพื่อไทยน่าจะมีไม่ต่ำกว่า 150 เสียง

แต่วาทกรรม “แลนด์สไลด์” 200 เสียงขึ้นไปของพรรคเพื่อไทย “สติธร” มองว่า ไม่ง่าย…เพราะคนอายุต่ำกว่า 30 ไม่จำเป็นต้องเลือกเพื่อไทยอยู่แล้ว ต้องยอมทำใจว่า อายุต่ำกว่า 30 ต้องยกให้พรรคก้าวไกล อย่าตีกันเอง…เหนื่อยเปล่า

ฐานคนมีอายุที่พรรคเพื่อไทยพอฟัดพอเหวี่ยงกับพรรคพลังประชารัฐคืออายุ 55 ขึ้นไปแย่งกันตรงนี้ ส่วนประชากรกลุ่มใหญ่สุดของผู้มีสิทธิเลือกตั้งคืออายุ 31-50 ปี ประมาณ 20 ล้านเสียงต้องแย่งกันเยอะเพราะเป็นเป้าหมายของทุกพรรค

“เพื่อไทยเอาแค่ 10 ล้านเสียงกำลังดี 10 ล้านเสียงจากปาร์ตี้ลิสต์ก็คือ ส.ส. 25 คนอยู่แล้ว และถ้าบริหารเขตดี ๆ ได้ ส.ส. 140 บวก ส.ส.บัญชีรายชื่อ 25 คน ก็เป็น 165 เสียง พอแล้ว”

แคนดิเดตนายกฯต้องใช่

“แคนดิเดตนายกฯ” เพื่อไทยคือใครนี่คือปัญหาหลัก แล้วมันโดนแค่ไหน เป็นปัจจัยสำคัญมาก

เพราะ “สติธร” เชื่อว่าถ้าพรรคเพื่อไทยมีนโยบายและมีแคนดิเดตนายกฯจะเป็น 2 แรงบวก เหมือน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เสริมด้วยนโยบายของพรรคตุนมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทยแล้ว=แลนด์สไลด์

แต่ถ้ามีนโยบายอย่างเดียว แต่แคนดิเดตธรรมดา ก็อารมณ์คล้าย ๆ พรรคพลังประชาชน+นายสมัคร สุนทรเวช

“อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เป็นแคนดิเดตนายกฯ “สติธร” บอกว่า ช่วยได้เฉพาะกำลังใจของผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคกับแฟนคลับดั้งเดิม แต่ไม่ได้ช่วยตอบโจทย์ กลุ่มหลักคือกลุ่ม 31-50 เขาเห็นอุ๊งอิ๊งแล้วกระโดดเข้าใส่ไหม…ก็ไม่ได้ขนาดนั้น หรือจะมา ขอแชร์คะแนนกับพรรคก้าวไกล ก็ไม่น่าจะได้

“อุ๊งอิ๊งมาได้ แต่ต้องมีมือเศรษฐกิจของแท้มาช่วย ขายเดี่ยวไม่ได้ ต้องมีเหมือนขุนพลเศรษฐกิจ หรือสมัยก่อนที่ขายเป็นแพ็ก”

“ภาพแคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยจะต้องสายตรง OK และต้องมีลุคแบบมีภาวะผู้นำ อย่าไปดูว่า พี่โทนี่บงการอย่างเดียว..ไม่พอ คุณสมบัติแบบ อาจารย์ชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ มีความเป็นสายตรงอยู่ในตัวเอง คุณสมบัติดูดีทุกอย่าง ภาพลักษณ์ต่อสาธารณะ อย่างน้อยภาพจำทางการเมืองของคุณชัชชาติมีแล้ว”

“ส่วนคนอื่นต่อให้มีแบ็กกราวด์ดี ทำธุรกิจประสบความสำเร็จ แต่ภาพลักษณ์ไม่ได้ขนาดนั้น ต้องมาสร้างอีก ต้องมาสร้างอีก..1 ปี ไม่ทัน”

ถามแย้งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้เวลาแค่ 49 วัน ก็เป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทย ได้ “สติธร” ตอบทันทีว่า “เพราะเขาคือยิ่งลักษณ์ ชินวัตรไง ดูเป็นคนรุ่นใหม่ ขายหน้าตาสวย เป็นน้องคนเล็ก สายตรง มันชัดยิ่งกว่าชัด เปิดมาแบบนี้เฮกันทั้งประเทศ เลยทำแบบเดียวกันยากในคราวนี้ ถ้าจะคิดถึงโมเดลแบบคุณยิ่งลักษณ์ ถ้าอุ๊งอิ๊งได้ ทำไมไม่ใช้เหมือนเดิม แปลว่าเขาต้องประเมินแล้วว่าไม่ขนาดนั้น จะมาใช้มุกเก่า ไม่ได้”

โทนี่ คิดถูกสู้ไปกราบไป

ส่วน “ทักษิณ ชินวัตร” จะเป็นจุดขายหนึ่งของพรรคเพื่อไทยให้กลับมาเป็นรัฐบาลได้หรือไม่ “สติธร” วิเคราะห์ว่า ช่วยแฟนคลับเก่าๆ ที่เคยประทับใจกับไทยรักไทย พลังประชาชน กลับมา แต่คนรุ่นใหม่ๆ แกก็ได้เท่านี้

ทุกวันนี้คลับเฮาส์พี่โทนี่ คนฟังลดลง ตอนนี้คนฟังระดับหมื่นต้น ๆ แต่ก่อนหน้านี้ 3-4 หมื่น ถ้าจะให้คนรุ่นใหม่มาเลือกพรรคเพื่อไทยเพราะพี่โทนี่ ต้องขับเคลื่อน 2 เรื่องด่า พล.อ.ประยุทธ์ และเรื่องสถาบัน ให้ดูเข้าทางคนรุ่นใหม่ด้วย แต่พิสูจน์แล้วว่าที่ผ่านมา พี่โทนี่ไม่แตะ ดังนั้น ส่วนแบ่งการตลาดที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเลือกพี่โทนี่จึงไม่เยอะ

สู้ไปกราบไป เป็นชนักติดหลังของพี่โทนี่ แต่มีผลต่อคนอายุน้อยอย่างเดียว แต่กับอายุกลาง 30-50 ปี เลือกสู้ไปกราบไปถูกแล้ว การประนีประนอมแบบพี่โทนี่เป็นบวก คนกลุ่มนี้ต้องยอมรับว่าจินตนาการไปไม่ถึงขนาดที่เด็กคิด ถ้าพี่โทนี่เลือกไปกับเด็ก ก็อาจจะได้เด็ก 10-20% แต่เสียกลุ่มอายุกลางไปซึ่งมีจำนวนมากกว่า บวกกับคนอายุ 50 ขึ้น แต่ต้องทำใจว่าไม่แลนด์สไลด์

ก้าวไกลต้องคืนคะแนน

ส่วน “พรรคก้าวไกล” สติธรอ่านว่า เสียเปรียบเห็น ๆ ในระบบเลือกตั้งใหม่ โอกาสชนะที่เขตเลือกตั้งน้อยลงแน่

รอบนี้อย่างมากก็แบ่งคะแนนพรรคเพื่อไทยมาอีกหน่อยหนึ่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ได้ไม่เกิน 25 คน เมื่อแนวโน้มได้ ส.ส.เขตไม่ถึง 30 คน ก็น่าจะประมาณ 50 ส.ส.อยู่แล้ว ต้องลุ้นเขตเมืองใหญ่ เขตที่ผู้สมัครเพื่อไทยอ่อน จะมีโอกาส เพราะพรรคเพื่อไทยคงไม่แข็งทุกที่

ส่วนการขายผลงานในสภาของพรรคก้าวไกล ช่วยตอกย้ำให้คนที่เลือกเขารู้สึกไม่ผิดหวัง ดูจากสภาพที่โดนถล่มจากรัฐบาลด้วยวิธีการต่าง ๆ นา ๆ แล้วยืนหยัดได้ขนาดนี้ คนที่เลือกมองว่าไม่เสียของ ดังนั้น คะแนนที่ได้จะมาจากฐานคะแนนเก่า บวกกับ First Voter แต่ของเก่าที่ได้มาจากไทยรักษาชาติก็ต้องเทให้กลับไปให้บางส่วน ดังนั้น จะเห็นว่าคนที่เลือกพรรคก้าวไกลจริง ๆ เท่าไหร่

ปชป.พระรองที่มีซีน

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะพ้นจุดต่ำสุดได้หรือไม่นั้น “สติธร” เชื่อว่า ได้…แต่เงื่อนไขต้องอยู่ที่ตัวเองดีพอด้วย

เวลานี้เหมือนโอกาสเปิด เพราะความพ็อปของลุงตู่ลดลง ฐานเสียงเก่าอาจจะกลับมา ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ส่งผู้สมัครที่ดีพอมาให้ประชาชนเลือก และสร้างความหวังเชิงนโยบายบ้าง มีแคนดิเดตนายกฯประมาณหนึ่งที่จะไปเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญ ๆ

ถ้าหาบทนำได้ก็จะเป็นพระรองที่มีบทเด่น เป็นเพื่อนพระเอกที่มีซีน เพราะยังไม่ถึงเวลาที่จะเป็นพระเอก

“ดังนั้น เสียงของพรรคประชาธิปัตย์อาจจะเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ 50-60 เสียงไม่เกินนี้ แต่สามารถหวังลึก ๆ ได้ถ้าจังหวะพลิกไป 70-80 เสียง แต่ต้องผันแปรกับเสียงของพรรคพลังประชารัฐ เพราะ 2 พรรคนี้จะไปคู่กัน เพราะเป็นฐานเดิมของกันและกัน”

ส่วนพรรคภูมิใจไทย หลังจากปรับตัวสู้ในเขตเลือกตั้งที่เอาชัวร์-เอาตาย น่าจะมาประมาณหนึ่งไม่น้อยกว่าเดิม แต่ไม่มากกระโดด เพราะด้วยระบบเลือกตั้ง 2 บัตร พรรคภูมิใจไทยเลือกพื้นที่

4 กุมาร เกิดยาก

พรรคใหม่ ๆ ในสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป เช่น ไทยสร้างไทย พรรคกล้า รวมถึงพรรคใหม่ 4 กุมาร ที่ใช้ชื่อว่า “พรรคสร้างอนาคตไทย” จะไปรอดไหม…สติธรวิเคราะห์ว่า ยาก…โมเดลแตกพรรคไป อย่างไทยสร้างไทย พรรคกล้า ด้วยระบบบัตร 2 ใบ

พรรค 4 กุมารตั้งได้ แต่ต้องเป็นพรรคทางเลือกให้ผู้มีอำนาจมาลง ก็จะไปได้ ถ้าตั้งภายใต้บารมีลุงตู่ แต่ถ้ากลุ่มสี่กุมารมากับสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นพรรคอิสระ ขอ 7-10 ที่หลังเลือกตั้ง เอาไปต่อรองเป็นรัฐบาล…ไม่ง่าย

เพราะกระแสสร้างยาก เต็มที่ก็จะเป็นพรรครักประเทศไทย ของชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่ได้ 5 เสียง เราก็เห็นอยู่ สุดท้ายคนอยากได้รัฐบาล อยากได้นายกฯว่าใคร คุณไม่มีแคนดิเดตนายกฯ และแคนดิเดตคนไม่มีโอกาสเป็นนายกฯ…ใครจะมากา เขตก็ไม่แข็ง เพราะถ้าไม่มีแคนดิเดตนายกฯต้องแข็งที่เขตแบบพรรคภูมิใจไทย

พรรคกล้า ก็ไม่ไหว ทำหน้าที่ได้เป็นพรรคอะไหล่ได้อย่างเดียว ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เอาพรรคพลังประชารัฐแล้ว มาเอาพรรคกล้า..เป็นไปได้ และโยกทุนที่หนุนตัวเองมาหนุนพรรคกล้าให้หมด แล้วไปควบรวมพรรคอื่นมาอีกถึงจะได้ แต่ถ้าเกิดมาเพื่อพรรคกล้า ก็ได้แค่นี้แหละ

เพราะมีกรณ์ จาติกวานิช คนเดียวไม่พอ ในแง่ว่าคุณมี ส.ส.เขตเหรอ ไปปราศรัย 400 เขต จะได้กี่คะแนน เป็นแบบโมเดลชูวิทย์ โด่งดังจะตายยังได้แค่ 5 เสียง ม่ีคนโหวตให้เขา 9 แสนคะแนน แล้วเขาสร้างตัวตั้งแต่สมัครผู้ว่า กทม. เป็น ส.ส.ชาติไทย และมาตั้งพรรคประกาศตัวว่าเป็นฝ่ายค้าน สุดท้ายได้ 9 แสนคะแนน ได้ ส.ส. 5 ที่นั่ง