เลือกตั้งซ่อมหลักสี่: ข้อมูล ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องทำอะไรบ้าง

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก สำนักงานเขตหลักสี่

ประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งซ่อม 167,649 คน ในเขตหลักสี่-จตุจักร จาก 70,675 หลังคาเรือน เตรียมไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 30 มกราคม 2565 

วันที่ 28 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2565 เวลา 08.00-17.00 น. จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร (ส.ส.กทม.) เขตเลือกตั้งที่ 9 เขตหลักสี่ ประกอบด้วย แขวงทุ่งสองห้องและแขวงตลาดบางเขน และเขตจตุจักร (บางส่วน) ประกอบด้วย แขวงลาดยาว แขวงเสนานิคม และแขวงจันทรเกษม แทนตำแหน่งที่ว่าง

โดยมีผู้สมัคร 8 ราย ได้แก่

  • หมายเลข 1 นายพันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ พรรคไทยภักดี
  • หมายเลข 2 นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี พรรคกล้า
  • หมายเลข 3 นายสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย
  • หมายเลข 4 นางสาวกุลรัตน์ กลิ่นดี พรรคยุทธศาสตร์ชาติ
  • หมายเลข 5 นายรุ่งโรจน์ อิบรอฮีม พรรคไทยศรีวิไลย์
  • หมายเลข 6 นายกรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล
  • หมายเลข 7 นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ
  • หมายเลข 8 นายเจริญ ชัยสิทธิ์ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลและสิ่งที่ต้องรู้ก่อนเข้าคูหากาเบอร์ที่ท่านชอบ

ปมเหตุต้องเลือกซ่อม

นายสิระ เจนจาคะ นำพวงมาลัยดอกไม้เข้าขอพรพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในโอกาสรับตำแหน่งประธานกรรมาธิการกฎหมาย ยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนเมื่อปี 2563 ภาพจากเฟซบุ๊ก อภิชาติ สุขสำราญ

การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่นายสิระ เจนจาคะ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (10) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6)

จากกรณีเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวัน ในคดีหมายเลขดำที่ 812/2538 คดีหมายเลขแดงที่ 2218/2538 กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย เป็นผู้ร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา และได้เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการไต่สวนของสำนักงานเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564

โดยสมาชิกภาพสิ้นสุดลง นับแต่วันเลือกตั้งคือวันที่ 24 มีนาคม 2562 เมื่อสมาชิกภาพสิ้นสุดลง ทำให้ตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลง ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะต้องมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลง จึงให้ถือว่าวันที่ตำแหน่ง ส.ส.ว่างลง คือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังโดยชอบ

ซึ่งต่อมาก็มี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง 2564 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2564 และในวันที่ 3 มกราคม 2565  ราชกิจจานุเบกษาได้มีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง กำหนดวันเลือกตั้งและวันรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 9 แทนตำแหน่งที่ว่าง

โดยกำหนดวันเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2565 เวลา 08.00 – 17.00 น. และกำหนดวันรับสมัครผูัที่จะสมัครรับเลือกตั้งในระหว่างวันที่ 6-10 มกราคม 2565

เปิดข้อมูลผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

ตาม พ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสำหรับผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง 2561 มาตรา 31 กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  1. มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
  2. มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง (เกิดก่อน 1 กุมภาพันธ์ 2547)
  3. มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง

โดยในวันเลือกตั้งต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีรูปถ่าย และมีเลขบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ถือบัตร เช่น ใบขับขี่ พาสปอร์ต บัตรคนพิการ เป็นต้น ซึ่งบัตรประชาชนที่หมดอายุสามารถใช้ได้ แต่บัตรอื่นนอกจากนี้หากหมดอายุใช้ไม่ได้

สามารถตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่นี่

4 ลักษณะบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

นอกจากนี้ในมาตรา 32 กำหนดลักษณะบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ดังนี้

  1. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  2. อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  3. ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคําสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
  4. วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

3 ช่องทางแจ้งไม่ไปใช้สิทธิ

และเนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีกำหนดเลือกตั้งล่วงหน้า ดังนั้น หากไม่สามารถไปเลือกตั้งได้ ต้องแจ้งเหตุผลความจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ โดยมี 3 ช่องทาง คือ

  1. แจ้งด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่นดำเนินการ ณ ฝ่ายทะเบียน ชั้น 1 สำนักงานเขตหลักสี่
  2. แจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงนายทะเบียนท้องถิ่นเขตหลักสี่
  3. แจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์สำนักบริหารการทะเบียน 

สามารถทำได้ 2 ช่วงเวลาคือ ก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน ระหว่างวันที่ 23-29 ม.ค. 2565 และหลังวันเลือกตั้ง 7 วัน คือ วันที่ 31 ม.ค. – 6 ก.พ. 2565

จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

สำหรับข้อมูลจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง อัพเดตข้อมูล ณ วันที่ 26 มกราคม 2565 ว่า ในเขตพื้นที่ที่ต้องเลือกตั้งซ่อมทั้งหมด มีจำนวนประชากร 199,577 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 167,649 คน จำนวนหน่วยเลือกตั้ง 280 หน่วย

หากจำแนกเฉพาะรายละเอียดจำนวนของผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น แบ่งเป็น

  • เขตหลักสี่ มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 83,890 คน
  • เขตบางเขน มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 22,739 คน
  • เขตจตุจักร มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 83,759 คน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง