ม.ล.ชโยทิต ผู้แทนการค้าไทย ดึงเงินลงทุนรอบใหม่ล้านล้าน ไม่ได้ขายชาติ

ม.ล.ชโยทิต กฤษดากร
ม.ล.ชโยทิต กฤษดากร
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ปิยะ สารสุวรรณ

 

“ม.ล.ชโยทิต กฤษดากร” ผู้แทนการค้าไทยใหม่ถอดด้าม เปิดวงให้สัมภาษณ์นักข่าวเศรษฐกิจประจำทำเนียบรัฐบาลครั้งแรก หลังจากอยู่เบื้องหลังการทาบทามบริษัทนักลงทุนต่างชาติ

3 อุตสาหกรรมใหม่เรือธง

“ม.ล.ชโยทิต” เริ่มบทสนทนาความยาวกว่า 1 ชั่วโมง ว่า 12 อุตสาหกรรม S-curve ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจแห่งอนาคต อุตสาหกรรมที่ต้องการความช่วยเหลือจากชาวต่างชาติในอุตสาหกรรมหลัก หากไม่สามารถดึงดูดชาวต่างชาติเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ในไทยได้ จะก้าวไม่ทันประเทศคู่แข่ง ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ทุกประเทศทำการบ้านเพื่อปรับเปลี่ยนโฉมของตัวเอง ทิศทางเดียวกันกับโลก

3 อุตสาหกรรมที่เป็น “เรือธง” ลำดับต้น ๆ ได้แก่ 1.ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 2.อิเล็กทรอนิกส์ 3.ท่องเที่ยวคุณภาพ (tourism) หาก EV และอิเล็กทรอนิกส์เป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทย ถ้าเอา EV อิเล็กทรอนิกส์ และ tourism มาบวกกันจะส่งผลต่อ GDP ร้อยละ 50

“วันนี้ประเทศคู่แข่งตื่นหมดแล้ว ประเทศที่น่ากลัวที่สุด คือ อินโดนีเซีย เป็นคู่แข่งที่สำคัญ โดยเฉพาะ EV”

“ม.ล.ชโยทิต” ได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามบริษัทเอกชนไทยและต่างชาติ เริ่มทำงานตั้งแต่ต้นปี 2564 ได้เดินทางไปคุยกับสถานทูตเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป สหรัฐอเมริกา และหอการค้าต่างประเทศ รวมถึงบริษัทที่ลงทุนในไทย ได้ “ปลดล็อก” อุปสรรคในการตัดสินใจลงทุน คือ วีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (long-term resident visa : LTR) ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาทั้งสิ้น 10 ปี

ใบอนุญาตทำงาน (work permit) เพื่อให้ต่างชาติเห็นว่า ไทยเป็นประเทศที่ welcome investment และต้อนรับต่างชาติเกษียณอายุทั่วโลกหลายร้อยล้านคน ที่ต้องการหาประเทศที่สามในการใช้ชีวิต นอกเหนือจากปัจจุบันที่มีคนต่างชาติเข้ามาอยู่ไทยแล้ว 4 แสนคน

“ไทยเป็น first choice retire การปฏิรูปวีซ่าครั้งนี้ นอกจากจะนำเอาความรู้พิเศษจากผู้ชำนาญพิเศษ จะนำคนที่มีศักยภาพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โดยตั้งเป้า 1 ล้านคน”

“ม.ล.ชโยทิต” ดีดลูกคิด คนต่างชาติ 1 ล้านคน 1 ปีใช้จ่าย 1 ล้านล้านต่อหัว “แก้เรื่องวีซ่าได้ เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว แก้เรื่ององค์ความรู้ที่ไทยไม่มีในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ กับการมีผู้พำนักระยะยาวมาเสริมธุรกิจ tourism ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งจะนำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศได้”

ไทยจะเป็น “เจ้าอีวี”

“ม.ล.ชโยทิต” เปิดเผยเบื้องหลังการผลักดัน EV ว่า “บอร์ดอีวี” ได้คุยกับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรถยนต์ในไทย เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป เยอรมนีเป็นส่วนใหญ่ สหรัฐ คือ ฟอร์ด ประมาณ 15 ราย และจีน 3-4 ราย ก่อนจะตกผลึก “แพ็กเกจอีวี” รอให้ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ซึ่งอยู่ระหว่างถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“เรา welcome ทุกประเทศ คุยกับเขาว่าจะออกมาตรการส่งเสริม EV เพื่อผลักดันดีมานด์ในการเปลี่ยนรถยนต์สันดาปไปเป็น EV ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดี อุตสาหกรรม EV สดใส”

ล่าสุด “รัฐมนตรีเมติ” แห่งญี่ปุ่น ยืนยันใช้ไทยเป็นฐานการผลิต EV นับเฉพาะ EV เท่ากับ 15% ต่อ GDP

“วันนี้ไทยเป็นเจ้าของรถยนต์น้ำมัน เป็น 1 ใน 10 ของโลก ในแง่ของฐานการผลิตไทยก็จะเป็น 1 ใน 10 ของอีวีโลกเช่นกัน ไทยจะกลายเป็นเจ้าของอีวีในภูมิภาคนี้”

อินโดฯคู่แข่ง EV

“อินโดนีเซียไม่มีอุตสาหกรรมรถยนต์ใหญ่เท่าไทย เราใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นเบอร์ 10 ของโลก ถ้าเราอยู่เฉย ๆ อีก 5 ปี เราก็ยังผลิตรถยนต์น้ำมันได้อยู่ แต่หลังจาก 5 ปีแล้ว คนอื่นย้ายไป EV หมดแล้ว เราจะกลายเป็นฐานผลิตสุดท้ายของรถยนต์น้ำมัน แล้วอุตสาหกรรมนี้ก็จะหายไป”

“อินโดนีเซียพยายามคุยกับบริษัทรถยนต์ทุกรายให้มาใช้อินโดนีเซียเป็นฐานการผลิต มาตั้งโรงงานแบตเตอรี่ มีสัดส่วน 40% ของรถยนต์ไฟฟ้า เราจะเอาอะไรไปสู้ เราไม่มีโคบอลต์ ไม่มีนิกเกิล เรามีความเป็นแชมป์การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ในปัจจุบัน องค์ความรู้ที่มีนำเอามาใช้ได้ เช่น โช้กอัพ เบาะ สปริง ดีมานด์ในประเทศจะเป็นแรงดึงดูดสำคัญ”

“EV เป็น computer on wheels มีความอัจฉริยะ Apple car Google car จะขับเอง สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์จะเข้ามาเกี่ยวข้อง EV และอิเล็กทรอนิกส์จะผนวกกันเพื่อให้มีพลังดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ต้นน้ำ ในอาเซียนที่จองไปแล้ว คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย ต้องไปแข่งขันเอามา ทุกอุตสาหกรรมไทยมีคู่แข่ง ระหว่างนี้ที่เรา คุยกันอยู่ คู่แข่งของเราก็คุยกับบริษัทที่เราคุยด้วย เพื่อแย่งไปประเทศเขา”

“ม.ล.ชโยทิต” ออกตัวว่า สำหรับอุตสาหกรรมยาถือว่า “หินที่สุด” เพราะมีปัญหาที่หมักหมมมานาน และมีไม่กี่ประเทศในโลกที่ผลิตยา เช่น สิงคโปร์ รวมถึงอินเดีย จะทำอย่างไรที่จะคุยกับบริษัทยาระดับโลกที่จะเอามาเมืองไทย จะโน้มน้าว แก้ไขอุปสรรคและมีสิทธิประโยชน์

“ส่วนเรื่องดิจิทัล พล.อ.ประยุทธ์ต้องการเห็นบริษัทระดับโลกเข้ามาทำเรื่องดาต้าเซ็นเตอร์กับคลาวด์เซ็นเตอร์ให้เมืองไทยพลิกโฉมเป็นดิจิทัล 4.0 จริง ๆ”

“เป็นมิติใหม่ในการทำงานปฏิบัติการเชิงรุก ไม่ใช่รอนักลงทุนมาสมัครลงทุนเฉย ๆ แต่เราจะออกไป proactive เช่น การตั้งเป้า กับ 15 บริษัท ให้มาไทยลงทุน EV รวมถึงระบบนิเวศของ EV เช่น สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์”

โดยมีบีโอไอจะเป็นเจ้าภาพจูงมือบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนในไทยไปคุยกับสถาบันศึกษาไทย เพื่อกำหนดหลักสูตรในการพัฒนาแรงงานไทยให้เข้ากับตลาดอุตสาหกรรมใหม่ที่ต้องการได้

1 ล้านล้านเงินลงทุนรอบใหม่

เขาคาดหวังว่า หากสามารถผลักดัน 3 เซ็กเตอร์หลัก EV-อิเล็กทรอนิกส์-tourism จะมีเม็ดเงินลงทุนรวมกันกว่า 1 ล้านล้านบาท นอกจากจะรักษา GDP ได้ ไม่หายไป 50% แล้ว จะเป็นโอกาสที่ GDP จะเติบโตในอนาคต

“ถ้าทุกคนทำตามที่สัญญากับเราไว้ จะใช้เมืองไทยเป็นฐานการผลิตต่อ เราหวังผลลัพธ์ว่า EV เรื่องเดียวจะมีเงินลงทุน 3.6-4 แสนล้านบาท ไม่นับสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ แน่นอน wafer semiconductor ไลน์เดียวเป็นแสนล้านแล้ว tourism จะนำเงินเข้ามาล้านล้าน จะสามารถเพิ่มยอดการลงทุนของเดิม 6.4 แสนล้านบาทได้”

“เมืองไทยยังเป็นที่หอมหวานสำหรับต่างชาติอยู่ ถ้าอุตสาหกรรมใหม่สามารถเดินไปได้จะสามารถดึงดูดเงินลงทุนกว่า 1 ล้านล้านได้ เทียบกับ GDP ประมาณ 6-7% ภายใน 2 ปี (66-67) หรือเฉลี่ย 3% ต่อปี เป็นเงินลงทุนรอบใหม่จริง ๆ ที่จะมาปรับฐานอุตสาหกรรมไทย”

“ม.ล.ชโยทิต” แจงเม็ดเงินลงทุนรอบใหม่ 1ล้านล้านบาทเร็ว ๆ นี้ว่า EV 3.6-4 แสนล้านบาท ต้องมาทำโรงงานภายในปี’66 หรือปี’67 smart electronic wafer หากเอามาไทยได้ 2 ไลน์ 4 แสนล้านบาท ไม่นับรวม tourism ที่จะเอาเงินมาใช้จ่ายปีละล้านล้าน”

ไม้เด็ดดึง Foxconn

“ม.ล.ชโยทิต” อดีตกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทหลักทรัพย์ เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) ใช้วิชาที่มีทั้งหมดที่เรียนรู้มา 50 กว่าปี ในการดึง “Foxconn” ซึ่งเป็นผู้ผลิตไอโฟนที่ใหญ่ที่สุดของโลกให้กับ Apple มาร่วมลงทุนกับบริษัท ปตท. เขาบอก “ไม้เด็ด” ว่า “พูดให้ความมั่นใจว่า ไทยมีนโยบายอีวีที่ชัดเจน”

“ดีใจมากที่ดึงมาได้ และจะเข้ามาลงทุนจริงจังในเดือนหน้า (มี.ค.) เราคาดหวังสูงมาก ถ้าหาก Foxconn มาตั้งโรงงานที่เมืองไทย รถอัจฉริยะอาจจะมาทำที่เมืองไทย แต่ที่แน่นอนว่าจะมาลงทุนในไทยเต็ม max ทั้งองคาพยพ เบื้องต้นมีอยู่ 3 ไซต์ ต้องถาม ปตท.”

“เราต้องไปแย่งจากปากคนอื่น (เวียดนาม) เขามา นอกจากรัฐมนตรีกระทรวงเมติของญี่ปุ่นได้ตอกย้ำว่ายังใช้ประเทศไทยเป็นฮับต่อไป” นอกจากนี้ยังมี Hitachi/Arcelik ซึ่งประกาศย้าย headquarters เข้ามาในไทย ประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะมาตั้ง R&D Center ที่ไทย

“เราอยากจะเห็นเมืองไทยเป็นศูนย์กลางของการกินอยู่ของชาวต่างชาติ ศูนย์กลางของการค้า ศูนย์กลางของ innovation จึงหนีไม่พ้นที่เราต้องมีสัมพันธไมตรีที่ดีกับต่างชาติที่เราต้องพึ่ง”

รวมถึง “พล.อ.ประยุทธ์” ต้องการจะผลักดัน soft power ให้ประเทศไทยเป็น hub soft power เหมือนเกาหลีใต้ รวมถึง gamming animation

ไม่ขายชาติ-ดินทรายขนไปไม่ได้

“ม.ล.ชโยทิต” เข้าใจได้ว่า มาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่ขอไปได้ไม่เต็ม 100 เช่น การให้สิทธิชาวต่างชาติเช่าจากเดิม 30 ปี เป็น 50 ปี แม้ไม่สมบูรณ์แบบ อย่างน้อยที่สุดตอบโจทย์ผู้ประกอบการต่างประเทศในการนำองค์ความรู้เข้ามา

“ขอไป 10 ได้มา 5 ก็ดีกว่าไม่มี ถ้าเมื่อไหร่คนไทย เข้าใจได้ว่า ให้เข้ามาซื้อ ให้เข้ามาอยู่เป็นประโยชน์ ไม่ได้ขายชาติ ดินทรายขนไปไม่ได้ กฎหมายก็กฎหมายไทย เมื่อไหร่พร้อมค่อยว่ากัน แต่อย่างน้อยที่สุด เราก็เปิดให้แล้ว อย่างน้อยมีวีซ่า 10 ปีแล้ว work permit ขอได้แล้ว ส่วนเรื่องถือครองสิทธิก็เป็นไปตามครรลอง เพราะเป็นเรื่องการเมือง”

“เราเอาฝรั่งมาอยู่ เอามาพัฒนาประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ต้นรัตนโกสินทร์ก็มี พระยา เจ้าพระยาที่เป็นฝรั่งมาอยู่ตั้งเยอะตั้งแยะ”

“ขึ้นอยู่กับกระแสสังคม เมื่อไหร่ประเทศไทยจะก้าวข้ามว่าชาวต่างชาติไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ากลัว เราไม่ใช่สิงคโปร์ที่มีประชากร 2 ล้านคน แต่เอาต่างชาติเข้ามา 5 ล้านคน”

Mark ตัว-ตัดสูทใส่ให้นักลงทุน

“ม.ล.ชโยทิต” ที่มีอายุการทำงานแปรผันอายุขัยของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 18 เดือน บอกว่า แผนงานต่อไปจะไปร่วมงานกับสถานทูต ร่วมงานกับบริษัทต่าง ๆ และบริษัทไทยที่รู้จักกับบริษัทต่างประเทศเพื่อ mark ตัว อยากจะได้ใครเข้ามา ไปตัดสูทให้เขา เหมือนที่เวียดนามทำ อินโดนีเซียทำ ต้องการอะไรบ้างถ้าจะมาประเทศไทย

“หน้าที่ของผม คือ ดูแลชาวต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างมีความสุข และสร้างผลผลิตมวลรวมให้กับไทย ทำให้ประเทศไม่ตกรถ สนองและสานนโยบายนายกรัฐมนตรี อยากมาช่วยประเทศ”

ส่วนปัจจัยนอกเหนือการควบคุม-ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากแผนงานต่าง ๆ ที่วางไว้อาจจะไม่ได้ทำ ?

“ผมมาช่วยประเทศ ผมไม่สนใจ ผมมีงานทำอยู่ข้างหน้า ผมก็ทำไป จะยุบเมื่อไหร่ เลิกเมื่อไหร่ ก็เลิกครับ ผมมาทำงานครับ ผมสละงานจากเอกชนมา เพราะผมอยากจะมาช่วยชาติเท่านั้นเอง แต่ลูกหลานของเราที่นั่งอยู่ก็เจ๊งหมด จีดีพีหายไป 50% จะไปตามคืนจากไหน”

“อุตสาหกรรมที่เรามีอยู่เป็นที่น่าอิจฉาของคู่แข่งเราในอาเซียนตั้งเยอะแยะ เพียงแต่เขา (คู่แข่ง) ต้องการจะล้มช้างเท่านั้นเอง ถ้าเราไม่ให้เขาล้ม เราก็ต้องลุกขึ้นมาสู้ ต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปตัวเอง ทำตัวให้พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง”

“ม.ล.ชโยทิต” ทิ้งท้ายว่า “ผมหวังเศรษฐกิจไทย ต่างชาตินำเงินก้อนใหม่เข้ามาสะพัดในประเทศ”