อนุทินยืนยัน ไม่ขัดแย้งกับ กทม.-สาธารณสุขพร้อมเป็นผู้สนับสนุน

อนุทินยืนยัน ไม่ขัดแย้ง กทม.-สาธารณสุขเป็นผู้สนับสนุน ขอให้ร้องขอมา ชง ศบค.ลดวงเงินประกันโควิดนักท่องเที่ยวต่างชาติเหลือ 30,000 เหรียญ

วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบค.) ถึงปัญหาเรื่องสายด่วน 1330 ที่ประชาชนโทร.ไปและไม่มีผู้รับสายจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำลังเร่งแก้ไขปัญหาอยู่ และขอความร่วมมือเพิ่มคู่สาย เรื่องปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นอยู่ที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงให้กรมการแพทย์ประสานกับ กทม. เพื่อเร่งแก้ปัญหา

“ต้องขอขอบคุณทุกฝ่าย กลุ่มเส้นด้ายก็ดี คุณไดอาน่าก็ดี ที่ช่วยกันสะท้อนปัญหา ซึ่งยังยืนยันว่า ยังมีเตียง ไม่ว่าจะเป็น กทม. ยิ่งต่างจังหวัดที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง ท่านปลัดสาธารณสุข เดินสายทั่วประเทศอยู่ ยังมีความพร้อมใน กทม. ขอย้ำอีกทีว่า กระทรวงสาธารณสุข ภารกิจหลัก คือ การสนับสนุน กทม. ได้ให้บริการประชาชนมากที่สุด การสั่งการระบบต่าง ๆ การบริหารจัดการอยู่ที่ กทม. ไม่ได้อยู่ที่กระทรวงสาธารณสุข แต่เราให้กรมการแพทย์เป็นผู้สนับสนุน ผู้ประสานว่าในทุกเรื่อง”

เมื่อถามว่า ให้ความมั่นใจกับประชาชนได้หรือไม่ว่า การระบาดโควิด-19 รอบนี้จะไม่เกิดปัญหาเรื่องการประสานงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับ กทม. นายอนุทินกล่าวว่า ประสานกันโดยตลอด ไม่ได้มีอะไรที่ขัดแย้งกัน

“เขา (กทม.) เป็นเจ้าภาพหลักใน กทม. เรา (กระทรวงสาธารณสุข) เป็นผู้สนับสนุน เราพร้อมที่จะให้การสนับสนุนเจ้าภาพหลักอย่างเต็มที่ ประชุมทุกวัน ท่าน รมช.สาธารณสุข สาธิต (ปิตุเตชะ) เป็นประธานการประชุมในเรื่องของการบริหารจัดการสถานพยาบาล เตียง ในส่วนที่จะสนับสนุน กทม.ได้ทุกวัน”

นายอนุทินกล่าวว่า “นโยบายรัฐมนตรี คือให้กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุน ถ้ามีการร้องขอจาก กทม. ต้องร้องขอด้วย ในระบบราชการแบบนี้ จำได้ไหมตอนนั้นจะเข้าไปทำอะไรคลองเตย ท่านยังบอกว่า นี่มันเป็นภาระความรับผิดชอบของท่าน กระทรวงสาธารณสุขต้องขอท่านก่อน เราก็ต้องเคารพกติกา”

เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะไม่เกิดภาพความขัดแย้งระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับ กทม. นายอนุทินกล่าวว่า “ไม่เคยขัดแย้ง ขัดแย้งที่ไหน เกื้อกูลกันมาโดยตลอด ไม่เคยขัดแย้งเลยแม้แต่น้อย แต่เราต้องไม่ไปก้าวก่ายหน้าที่การงาน”

เมื่อถามต่อเนื่องว่า จะไม่มีผู้ป่วยโควิดคอยเตียงอยู่ข้างถนนใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า “ต้องไปบอก กทม. กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนใน กทม. กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลเจ้าภาพเพียงโรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี หลัก ๆ มีอยู่ 3 แห่งเท่านั้นเอง เอามาสนับสนุนในพื้นที่ กทม. แต่การบริหารจัดการต้องเป็นเรื่องของ กทม.”

นายอนุทินกล่าวว่า การประชุม ศบค.ในวันนี้ ยังต้องเน้น ว่า เราต้องอย่าให้มีการเจ็บป่วยอาการรุนแรง และเสียชีวิต อย่าให้เพิ่มขึ้น โฟกัสไปในที่ที่สำคัญที่สุด สำคัญที่สุดของกระทรวงสาธารณสุข คือ ต้องไม่เจ็บป่วยรุนแรงให้มากและต้องไม่เสียชีวิต เรื่องการติดเชื้อ คนต้องทำงาน คนต้องมีกิจกรรมก็ต้องระมัดระวัง ถ้าจะควบคุมการติดเชื้อให้มากที่สุด หรือ ควบคุมความเสียหาย คือ ต้องเร่งฉีดวัคซีน เข็มบูสเตอร์

เมื่อถามว่า มีข้อเสนอให้หยุดการแถลงข่าวสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ประจำวัน นายอนุทินกล่าวว่า อยู่กับความจริงดีที่สุด มองได้ทุกมุม สิ่งที่เราไม่ทำ คือ ปรุงแต่งตัวเลข ปิดบังความจริง ส่วนรูปแบบการรายงานขึ้นอยู่กับปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่จะหารือกับอธิบดีควบคุมโรค

นายอนุทินกล่าวว่า ขณะที่การปรับมาตรการป้องกันโควิด-19 สำหรับผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเพื่อเข้าราชอาณาจักร วันนี้ กรมควบคุมโรคจะเสนอให้ที่ประชุม ศบค.พิจารณาวงเงินประกันสุขภาพลดลงเหลือ 30,000 เหรียญ ซึ่งถือว่าเหมาะสมในการรักษานักท่องเที่ยวที่เป็นคนต่างชาติหากติดโควิด-19 เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับทุกฝ่าย เพราะถ้าไปเน้นเรื่องวงเงิน ค่าเบี้ยประกันจะสูงขึ้น

“จริง ๆ ผู้ประกอบการขอมาให้เหลือ 20,000 เหรียญด้วยซ้ำ เราก็บอกว่า น่าจะ 30,000 เหรียญเกือบล้าน เราก็ดูผู้ป่วยโควิด-19 คนไทยที่ต้องถึงขั้นเข้าโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายประมาณ 200,000 ซึ่งส่วนนี้ไม่น่าจะกระทบกระเทือนงบประมาณ และใช่ว่าจะป่วยทุกคน”