รัสเซีย-ยูเครน ประยุทธ์ เกาะติด สุพัฒนพงษ์ สำรองพลังงานฉุกเฉิน

ประยุทธ์ สั่ง เตรียมความพร้อมรับมือวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ยืดเยื้อ สุพัฒนพงษ์ สำรองพลังงาน – ประชาชนประหยัด

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เรียกประชุมด่วนรองนายกรัฐมนตรีทุกด้าน นำโดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามสถานการณ์เร่งด่วน และได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมในการกำหนดมาตรการรับมืออย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมในวันนี้เพื่อเป็นการติดตามสถานการณ์ และพัฒนาการในยูเครน ซึ่งทวีความตึงเครียดขึ้นด้วยความห่วงกังวลอย่างยิ่ง ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบไม่มากก็น้อยต่อทุกประเทศ เนื่องจากทุกประเทศมีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับไทย ซึ่งสิ่งที่เห็นได้ชัด คือราคานํ้ามันที่สูงขึ้น และราคาหุ้นและคริปโตที่ลดลง และเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบแน่นอนหากสถานการณ์ยืดเยื้อ

ด้านนายดอนกล่าวว่าในส่วนของไทยได้ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วง และสนับสนุนความพยายามที่ยังคงดำเนินอยู่ เพื่อการแก้ไขสถานการณ์อย่างสันติผ่านการหารือ ในขณะที่อาเซียนก็ได้ออกถ้อยแถลงรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่ามีความห่วงกังวลอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ที่ผันผวนและความขัดแย้งกันด้วยอาวุธในยูเครน

พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุด และใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ในการหารือผ่านทุกช่องทางรวมถึงช่องทางการทูต เพื่อควบคุมสถานการณ์ ลดความตึงเครียด ซึ่งไทยยินดีต่อความคืบหน้าที่ทั้งสองฝ่ายตกลงนัดที่จะเจรจา ทั้งนี้ ไทยพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ

โดยในเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศหาช่องทางช่วยเหลือ และขอให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป นอกจากเตรียมแผนอพยพคนไทยออกจากยูเครนแล้ว ยังได้สั่งการให้เตรียมแผน/มาตรการรองรับผลกระทบอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย

ทั้งสถานการณ์น้ำมัน ตลาดหลักทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยน และการค้าและการลงทุน โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการต่าง ๆ อย่างรอบด้าน โดยที่ประเทศไทยมีความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ ดังนั้นการดำเนินการใด ๆ ขอให้ทำด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง เหมาะสม และพร้อมรับมือหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น

ขณะที่นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า แม้ไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการนำเข้าพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว แต่ทางกระทรวงพลังงานได้ติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง เพื่อประเมินและเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้น

โดยได้เตรียมความพร้อมด้านปริมาณสำรองพลังงานไว้ รวมทั้งได้เตรียมมาตรการในการบรรเทาให้เกิดผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด พร้อมขอให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์วิกฤตนี้ และร่วมกันใช้พลังงานอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด