งบประมาณ 2566 : สุพัฒนพงษ์โต้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. สร้างศูนย์ธุรกิจอีอีซีแห่งใหม่

สุพัฒนพงษ์

สุพัฒนพงษ์ แจงใช้ที่ดิน ส.ป.ก. 1.5 หมื่นไร่ ทำศูนย์ธุรกิจอีอีซี ไม่ผิดวัตถุประสงค์ เผย ปรับปรุงกฎระเบียบ “Soft Power” คนรุ่นใหม่ ดึงดูดไทยเป็นศูนย์ถ่ายภาพยนตร์ต่างประเทศ

วันที่ 2 มิถุนายน 2565 ที่รัฐสภา นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ลุกขึ้นชี้แจงข้อสงสัยเรื่องที่งบประมาณปี 2566 เพื่อการพัฒนาศูนย์ธุรกิจอีอีซีแห่งใหม่เมืองอัจฉริยะ ได้รับงบประมาณเพิ่มมากกว่า 2,000 ล้านบาท ว่ามีการนำงบประมาณไปจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.นับหมื่นไร่ให้นายทุน โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผิดหลักจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. ว่า

การใช้ที่ดิน ส.ป.ก.ประมาณ 1.5 หมื่นไร่ ไม่ผิดวัตถุประสงค์ โดยที่ผ่านมามีการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงเกษตรกร ซึ่งเห็นด้วยและยินดีเข้าร่วมโครงการ ท่านสามารถตรวจสอบและขอรายละเอียดจากอีอีซีได้ นอกจากนี้ พื้นที่ดังกล่าวยังเป็นที่ดินอมทราย ไม่อุ้มน้ำ จึงเป็นทางเลือกในการพัฒนาด้านอื่น ๆ

“บางท่านเป็นห่วงว่าอาจมีการนำพื้นที่นี้ไปทำอุตสาหกรรม ขอเรียนว่าไม่ได้ทำอุตสาหกรรม นี่เป็นการทำพื้นที่ธุรกิจซึ่งเป็นธุรกิจบริการเป็นส่วนใหญ่ เป็นการสร้างเมืองน่าอยู่โดยมีการคัดเลือกผู้สนใจมาพัฒนาบริการธุรกิจแห่งนี้ นอกจากนี้ สิทธิยังอยู่กับรัฐบาล เป็นการให้เช่า และเป็นที่ดินของรัฐบาล เมื่อสิ้นสุดสัญญาทรัพย์จึงตกเป็นของรัฐอยู่ดี ทั้งหมดเป็นหลักการทำงานของอีอีซี เราไม่ได้ดูประโยชน์ทางธุรกิจเท่านั้น ท่านสามารถสอบรายละเอียดได้ที่ศูนย์อีอีซี เพื่อป้องกันการเกิดความเข้าใจผิด” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว

นายสุพัฒนพงษ์กล่าวว่า ส่วนเรื่อง Soft Power ขอเรียนด้วยความภาคภูมิใจว่า ประเทศไทยมี Soft Power มีทุนวัฒนธรรมที่มีมาแต่เดิมอยู่แล้ว สามารถขยายผลไปตลาดโลกได้ในหลาย ๆ ด้าน ทั้งนี้ รัฐบาลพร้อมพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยมี 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ พัฒนาบุคลากร สนับสนุนธุรกิจสู่ตลาดโลก และปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นข้อจำกัด

“สำหรับเรื่องงบประมาณที่หลายท่านเป็นห่วง เรียนว่าเรามีงบประมาณตั้งแต่ปี’64-66 และดำเนินการทำมาอย่างต่อเนื่องร่วมกัน 3 ปี เป็นเงิน 7 พันล้านบาท ล่าสุดเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลได้ร่วมกับผู้ประกอบการจากเอกชน เพื่อดึงดูดให้ภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในไทย โดยใช้เวลาไม่นานและได้มีการปรับปรุงเงื่อนไขให้ไทยเป็นศูนย์ถ่ายทำภาพยนตร์ของต่างประเทศได้

ซึ่งเป็นที่พอใจของผู้ประกอบการด้าน Soft Power เราเห็นความสำคัญที่จะปรับปรุงกฎระเบียบต่อไป อาจจะมีงบฯเรื่องการส่งเสริมจูงใจ และการพิจารณาร่วมกันต่อไปว่าทำอย่างไรถึงจะทัดเทียมกับต่างประเทศได้ สำคัญที่สุดคือ เราต้องเห็นตรงกันว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อย่างเช่น Soft Power ที่ประเทศไทยเรามีพร้อมอยู่แล้ว จะสร้างความเข้มแข็งให้เด็กไทยต่อไปในอนาคตได้ครับ” นายสุพัฒนพงษ์กล่าว