เช็กเสียงล่าสุด ขั้วรัฐบาล – ฝ่ายค้าน งบประมาณ 2566 ผ่านวาระ 1 ฉลุย

เสียงในสภา

ศึกอภิปรายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.81 ล้านบาท ใช้เวลา 3 วัน ตั้งแต่ 31 พฤษภาคม และจะลงมือโหวตในวันที่ 2 มิถุนายน 2565

ฝ่ายค้าน 6 พรรค นำโดย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคพลังปวงชนไทย ปักหมุด “คว่ำ” งบประมาณในวาระแรก

โดยฝ่ายค้านระบุเหตุผลว่า รัฐบาลจัดงบประมาณ 66 ไม่ตรงกับสถานการณ์ในภาวะ “วิกฤต” ตั้งชื่อเรียก – ชื่อเล่น งบประมาณ 66 ว่า เป็นงบฯ สิ้นหวัง ทางตัน ส่อโกง และยังเป็นการจัดงบฯแบบ “ช้างป่วย” มีแต่อุ้มรัฐราชการ ไร้เม็ดเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ-ตัดงบฯช่วยเหลือเอสเอ็มอี

ถึงกระนั้น ฝ่ายค้านยัง “สงวนสิทธิ์” เข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 อยู่ดี

เพราะฝ่ายค้านรู้ทั้งรู้ว่า ถึงฝ่ายค้านพร้อมใจจะโหวตคว่ำ แต่ซีกรัฐบาลที่เกาะเกี่ยวผลประโยชน์ ไม่ว่าพรรคใหญ่ พรรคกลาง พรรคเล็ก หรือ พรรคปัดเศษ ต่างอยากได้งบประมาณโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง ต้องรวมพลังโหวตให้ผ่านวาระแรก

Advertisment

ดังนั้น การจัดทำงบฯปีสุดท้ายของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประหนึ่งเป็นเหมือนการ “ทิ้งทวน”

ย้อนไปในการประชุมคณะรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ที่ผ่านมา มีการเตี๊ยมคิวรับมือการอภิปรายงบประมาณของพรรคฝ่ายค้าน

ช่วงหนึ่ง “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่มีเสียงอยู่ในสภา อย่างเป็นทางการตอนนี้ 62 เสียง เอ่ยขึ้นว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณครั้งนี้อาจเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายของรัฐบาลนี้ เพราะปีหน้าอาจไม่ได้ทำ ฝ่ายค้านจะทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อรัฐบาล ดังนั้นเราไม่ใช่ทำแค่ให้ผ่าน แต่ควรทำให้เห็นว่ารัฐบาลมีเสียงเข้มแข็งเพียงพอ เพื่อให้มีความเชื่อมั่นจะได้ง่ายต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

พล.อ.ประยุทธ์ จึงเสริมนายอนุทินว่า “ตรงนี้เห็นด้วย เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อผมคนเดียว ผมอย่างไรก็ได้ พร้อมทำพร้อมไม่ทำ แต่เราทำเพื่อทุกคนในรัฐบาล ทำเพื่อประเทศ ขอให้อยู่กันในห้องประชุมให้ครบด้วย”

Advertisment

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ศูนย์รวมอำนาจการเมืองยุคปัจจุบัน จึงกล่าวด้วยน้ำเสียงมั่นใจว่า

“ขอให้มั่นใจว่าเราต้องอยู่ มั่นใจครับว่างบฯต้องผ่าน ครม.ต้องอยู่ต่อไป ผมมั่นใจว่าเราเป็น ครม.ต่อไป จนถึงอภิปรายไม่ไว้วางใจ และจะผ่านไปได้ และเป้าหมายคือทำงานหลักให้ประเทศจนครบอายุรัฐบาล”

ตัดกลับมาในรัฐสภา ระหว่างการอภิปรายงบประมาณ 66 ไปแล้วค่อนวัน “พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค” ส.ส. พรรคไทรักธรรม และสมาชิกกลุ่ม 16 กล่าวว่า สมาชิกกลุ่ม 16 ได้แก่ นายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นายดำรงค์ พิเดช ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย มีโอกาสเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ ช่วงเที่ยงวันที่ 31 พฤษภาคม

กลุ่ม 16 ได้ หารือถึงข้อเรียกร้องพรรคเล็กเรื่องโควตาการเป็นคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี’66 พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมตอบรับข้อเรียกร้องของกลุ่มพรรคเล็ก แต่คงต้องรอดูการลงมติร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าววันที่ 2 มิถุนายน ประกอบด้วย ท่าทีพรรคเล็กมีแนวโน้ม “โหวตรับหลักการ” ร่าง พ.ร.บ.งบฯปี’66

“พีระวิทย์” บอกว่า กลุ่ม 16 มีนัดทานอาหารร่วมกันวันที่ 1 มิถุนายน เวลา 15.00 น. หารือทิศทางการลงมติร่าง พ.ร.บ.งบฯปี’66 อาจมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทยร่วมด้วย

เช็กเสียง ฝ่ายค้าน – รัฐบาล

ขณะนี้ ฝ่ายค้าน – รัฐบาล ในสภาตอนนี้ มี 477 เสียง แบ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน มี 208 เสียง และพรรคร่วมรัฐบาล 269 ประกอบด้วย

พรรคร่วมฝ่ายค้าน 208 เสียง

  1. พรรคเพื่อไทย 132 เสียง
  2. พรรคก้าวไกล 51 เสียง
  3. พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง
  4. พรรคประชาชาติ 7 เสียง
  5. พรรคเพื่อชาติ 6 เสียง
  6. พรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง

พรรคไทยศรีวิไลย์ 1 เสียง (มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรค มักระบุว่าเป็นฝ่ายค้านช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่ขณะเดียวกันก็ระบุว่าอยู่ในกลุ่ม 16 )

พรรคร่วมรัฐบาล มี 269 เสียง 

1. พรรคพลังประชารัฐ 97 เสียง
2. พรรคภูมิใจไทย 62 เสียง
3. พรรคประชาธิปัตย์ 52 เสียง
4. พรรคเศรษฐกิจไทย 16 เสียง
5. พรรคชาติไทยพัฒนา 12 เสียง
6. พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง
7. พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง
8. พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง
9. พรรคชาติพัฒนา 4 เสียง
10. พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง
11. พรรคพลังชาติไทย 1 เสียง
12. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง
13. พรรคพลเมืองไทย 1 เสียง
14. พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง
15. พรรคพลังธรรมใหม่ 1 เสียง
16. พรรคไทยรักธรรม 1 เสียง

จากตัวเลข ระหว่างฝ่ายค้าน – รัฐบาล มีเสียงห่างกัน 61 เสียง

ทั้งนี้ ท่าทีก่อนการโหวตงบประมาณ กลุ่ม 16 ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มพรรคเล็ก ประกาศ “รับหลักการ” ขณะที่พรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี ร.อ.ธรรมนัส ไม้เบื่อไม้เมาทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้กำหนดเกม ประกาศว่าจะรับหลักการร่างกฎหมายงบประมาณ

ผ่านปาก “บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์” ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการนายทะเบียน พรรค ที่ระบุว่า ทางพรรคเห็นความสำคัญของเรื่องงบประมาณ พวกเรามองว่าประเทศชาติบ้านเมืองจำเป็นต้องมีงบประมาณ และงบประมาณหลายอย่างประชาชนได้ประโยชน์

สะท้อนว่าขั้วรัฐบาลไม่แตกแถว…

จะมีที่ “มงคลกิตติ์” ที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่าง “ฝ่ายค้าน” กับ กลุ่ม 16 ประกาศ “งดออกเสียง” ไปเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม และ “นพ.นิยม วิวรรธนดิฐกุล” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่ควง “สมคิด เชื้อคง” ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย มาแถลงว่าร่วมงานกับพรรคฝ่ายค้านมา 1 ปีแล้ว ก็พร้อมโหวตคว่ำงบประมาณ เช่นเดียวกับฝ่ายค้าน

ตรงข้ามกัน พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้เสียงเพิ่มขึ้นมา 1 เสียง เป็น 52 เสียง จากการที่นายชัยทิพย์ กมลพันธ์ทิพย์ ได้เป็น ส.ส.ราชบุรี เขต 3

แม้คะแนนขั้วรัฐบาลจะแตกปลาย กระเซ็นกระสาย หายไปบางเสียง แต่งบประมาณ 2566 ก็ผ่านการเห็นชอบโดยเสียงส่วนใหญ่ ในวาระรับหลักการแน่นอน….