วิเคราะห์ตลาดหุ้นสหรัฐ หลัง “วันจันทร์เลือด”

การร่วงลงอย่างรุนแรงของดัชนีดาวโจนส์ติดต่อกัน 2 วัน เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ 665 จุด หรือ 2.54% และดิ่งลงหนักสุดในจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 1,175 จุด หรือ 4.6% จนมาปิดตลาดที่ 24,345 จุด จนทำสถิติดิ่งในวันเดียวมากที่สุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นสหรัฐ ทำให้มูลค่าตลาดหายไป 1 ล้านล้านดอลลาร์ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดในสายตาของผู้ที่ติดตามตลาดอย่างใกล้ชิด เพราะปรับขึ้นมาเร็วและมากเกินมูลค่าพื้นฐาน ตลาดจึงอยู่ในสภาพเปราะบาง

 

มีการอ้างว่า สาเหตุที่ทำให้มีการเทขายหุ้นอย่างหนัก เพราะนักลงทุนกลัวว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วและมากกว่าที่คาด หลังจากทิศทางเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับขึ้น ประกอบกับอยู่ในช่วงการเปลี่ยนประธานเฟดคนใหม่เป็น นายเจอโรม พาวเวลล์

แต่ข้ออ้างเรื่องกลัวเฟดขึ้นดอกเบี้ยอาจไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะเป็นหัวข้อเก่าที่รับรู้กันมานาน แต่ประเด็นหลักอยู่ที่ตลาดหุ้นสหรัฐวิ่งขึ้นเร็วเกินไป เพราะนักลงทุนเกิดความฮึกเหิมหลังจากเห็นตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐน่าพอใจ รวมทั้งเป็นช่วงที่ตลาดโลกฟื้นตัวพร้อมกัน แต่ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐและโลกจะเติบโตทว่ากำไรของบริษัทเหล่านี้กลับวิ่งตาม ไม่ทันแรงคาดหวังของนักลงทุน พูดอีกอย่างก็คือ นักลงทุนออกวิ่งแซงหน้ากำไรของบริษัท จนมีการซื้อในราคาสูงเกินมูลค่าพื้นฐาน

“เอริก โลเนอร์แกน” ผู้จัดการกองทุนเอ็มแอนด์จี กล่าวเอาไว้อย่างเห็นภาพว่า “อะไรก็ตามที่คุณได้ผลตอบแทนเทียบเท่า 4 ปี โดยใช้เวลาเพียง 3 หรือ 4 สัปดาห์ หมายความว่าราคาเหล่านั้นไม่ยั่งยืน ดังนั้นความผันผวนที่เกิดขึ้นก็เป็นสิ่งที่คาดหมายได้อยู่แล้ว”

ส่วน มาร์ติน กิลเบิร์ต ซีอีโอร่วมของกองทุนสแตนดาร์ด ไลฟ์ อเบอร์ดีน ระบุว่า การปรับฐานของตลาดหุ้นสหรัฐถือว่า “ช้าเกินไป” ด้วยซ้ำ สิ่งที่น่ายินดีและจำเป็นต้องเกิดขึ้นเพราะการปรับฐานทำให้ตลาดหุ้นมีสุขภาพ แข็งแรงขึ้นและกลับสู่ความจริง ดังนั้นนักลงทุนไม่ควรตื่นตกใจ

นับตั้งแต่ โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับคร่าว ๆ ก็ราว 1 ปี ดัชนีดาวโจนส์ทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำสถิติสูงสุดใหม่นับครั้งไม่ถ้วน จาก 18,000 จุด ไปสู่จุดสูงสุดที่ 26,616 จุด เมื่อปลายเดือนมกราคมปีนี้ หรือเพิ่มขึ้นราว 8,000 กว่าจุด ก่อนจะร่วงลงดังกล่าว

“ดารีล กัปปี” นักวิเคราะห์และนักค้าหุ้น ซึ่งเคยออกมาเตือนก่อนหน้านี้ว่า ดาวโจนส์อยู่ในเขตฟองสบู่แล้ว และจะร่วงลงครั้งใหญ่ ระบุว่าหากดูจากกราฟจะเห็นว่าเส้นแนวโน้มขาขึ้นระยะยาวซึ่งเริ่มในเดือน ตุลาคม 2011 เท่ากับว่ามูลค่าปัจจุบันของตลาดจะอยู่ใกล้ ๆ 22,500 จุด

ดังนั้นการเทรดกันที่ 26,000 กว่าจุด ก็หมายความว่าเทรดเกินไป 4,000 จุด ซึ่งแปลว่าตลาดอยู่ในสภาพฟองสบู่
กัปปี ระบุว่า แนวรับย่อยของดาวโจนส์น่าจะอยู่ที่ 23,200 ถึง 23,600 จุด ส่วนแนวรับหลักอยู่ที่ 22,500 จุด

แม้ตลาดหุ้นจะปรับลงมาก แต่นักลงทุนและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นฐานเพราะหากดูจากข้อมูลเศรษฐกิจทั้งของสหรัฐ ยุโรป หรือเอเชีย ยังถือว่าแข็งแกร่ง ขณะเดียวกันไม่เชื่อว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในลักษณะทำให้นโยบายการเงินตึงตัว มากเกินไป พร้อมกันนั้นเศรษฐกิจโลกจะสามารถเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ ตลอดปีนี้

หากถามว่าการปรับฐานครั้งนี้ของตลาดหุ้นสหรัฐ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อเอเชีย คำตอบจากนักวิเคราะห์ของกองทุนระดับโลกอย่างฟิเดลลิตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็คือ ครั้งนี้ไม่น่าจะทำให้เงินทุนไหลออกจากเอเชียเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปี 2013 ช่วงที่สหรัฐมีการขึ้นดอกเบี้ย เพราะปัจจุบันตลาดของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียแข็งแกร่งและน่าดึงดูด มากขึ้นในสายตานักลงทุน การปรับลงของตลาดหุ้นทั่วโลกจึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนในการซื้อหุ้นและ พันธบัตรเอเชีย เนื่องจากราคาหุ้นของเอเชียยังมีช่องให้ปรับขึ้นได้อีก รวมทั้งราคายังถูกกว่าสหรัฐมาก