โคโรน่าไวรัส “เอฟเฟ็กต์” ทำ “จีน-สหรัฐ” แยกกันมากกว่าเดิม

คอลัมน์ ชีพจรเศรษฐกิจโลก
โดย นงนุช สิงหเดชะ

ในเชิงเศรษฐกิจและการค้า การอุบัติขึ้นของโรคเกิดใหม่อย่างปอดอักเสบอันเนื่องจากโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จะไม่เขย่าโลกได้มากเท่านี้ หากศูนย์กลางการระบาดจะไม่อยู่ที่จีน แต่ในเมื่อแหล่งกำเนิดเริ่มต้นที่จีน ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก และมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก หรือมีสัดส่วนจีดีพี 17% ของทั้งโลก ความวิตกกังวลจากผลกระทบของมันจึงสูงมาก ในขณะที่ยังไม่แน่ชัดว่าจะควบคุมการระบาดได้เมื่อใด ท่ามกลางยอดผู้เสียชีวิตที่ไต่ขึ้นไปเกิน 1,000 ราย

ปัญหาที่เกิดขึ้นในจีนขณะนี้ หลีกไม่พ้นที่สุดท้ายแล้วก็ต้องวนกลับมาเกี่ยวพันกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ของโลกในแง่เศรษฐกิจ และยังเป็นคู่พิพาทอันดับ 1 ของจีนด้วยเช่นกันจากสงครามการค้าที่เพิ่งสงบลงชั่วคราว ที่ว่าเกี่ยวพันก็เพราะเริ่มมีนักวิเคราะห์มองเห็นว่าปัญหาการระบาดของไวรัสจะเป็นสาเหตุให้สหรัฐและจีนจำเป็นต้องแยกจากกันมากกว่าเดิม

ผู้วิเคราะห์ในประเด็นนี้ก็คือ เคอร์ติส ชิน นักวิชาการอาวุโสด้านเอเชียแห่งสถาบันมิลเคน ซึ่งระบุว่าการระบาดของไวรัสจะเร่งให้จีนและสหรัฐแยกตัวออกจากกันเร็วขึ้นมากกว่าสงครามการค้าเสียอีก เนื่องจากขณะนี้เห็นแล้วว่าการพึ่งพาวัตถุดิบและซัพพลายเออร์จากจีนมากเกินไป ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลายธุรกิจ หลังจากจีนจำเป็นต้องปิดหลายเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลให้เกิดการชะงักงันในการผลิต ทั้งนี้ไม่เพียงแต่สหรัฐเท่านั้นที่ต้องกระจายความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานไปยังที่อื่น ๆ แต่คู่ค้าของจีนตลอดจนนักลงทุนจากหลาย ๆ ประเทศ ก็ต้องทำแบบเดียวกัน

“อันที่จริงเศรษฐกิจสหรัฐและจีนจะยังเกี่ยวพันกันในอีกหลายปีข้างหน้า ทั้งด้านห่วงโซ่อุปทาน การลงทุน และการไหลเวียนทางการค้า แต่วิกฤตไวรัสได้เน้นย้ำให้สหรัฐและคู่ค้าอื่น ๆ ของจีนเห็นว่าจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงไปที่อื่น ไม่ควรกระจุกตัวที่จีน” ผลกระทบอีกอย่างจากวิกฤตไวรัสก็คือ การค้าระหว่างจีนกับสหรัฐดูเหมือนกำลังถูกแช่แข็งในขณะนี้ แม้ว่าจะมีการเซ็นข้อตกลงเฟส 1 ไปแล้วก็ตาม หากคู่สัญญาคือจีนไม่สามารถทำตามที่ตกลงกันไว้ ก็เป็นที่รับรู้ว่าสาเหตุเกิดจากไวรัส

ตามข้อมูลของโนมูระระบุว่า จีนเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจโลกค่อนข้างลึก โดยในปีที่แล้วจีนมีสัดส่วนในการค้าโลกถึง 12% บริษัทจำนวนมาก รวมทั้งภาคธุรกิจของสหรัฐพึ่งพาการผลิตในจีนสูงมาก

การปิดโรงงานผลิตในจีนเพื่อควบคุมไวรัสซึ่งยาวนานกว่าที่คาดไว้ ส่งผลกระทบต่อธุรกิจระดับโลกทั้งรถยนต์และโทรศัพท์มือถือ เช่นกรณีของแอปเปิลอิงก์ ซึ่งมีบริษัทฟอกซ์คอนน์ในจีนเป็นผู้ผลิตไอโฟนให้ ก็ต้องปิดโรงงานหลายแห่ง หรือบริษัท นิสสัน มอเตอร์ ของญี่ปุ่น ก็ได้ออกมาประกาศว่าจำเป็นต้องผลิตรถยนต์ในคิวชู จังหวัดฟูกูโอกะ เพราะขาดแคลนชิ้นส่วนที่ต้องนำเข้าจากจีน นับเป็นครั้งแรกที่บริษัทแห่งนี้ต้องหยุดการผลิตของโรงงานภายในประเทศ

คำว่าแยกตัวออกจากกันหรือ decoupling เริ่มถูกนำมาใช้ตั้งแต่ตอนที่สหรัฐอเมริกาเปิดศึกการค้ากับจีนด้วยการจัดเก็บภาษีสินค้า โดยอ้างว่าเพื่อลดขาดดุลและต้องการการค้าที่เป็นธรรม การกระทำดังกล่าวของสหรัฐสวนทางกับโลกาภิวัตน์และการค้าเสรีที่เคยทำให้เศรษฐกิจของอเมริกาและจีนเกี่ยวพันกันอย่างสูง กลับกลายมาเป็นการเริ่มแยกตัวออกจากกัน ธุรกิจอเมริกันและอีกหลายประเทศที่ดำเนินกิจการในจีนระส่ำระสาย เริ่มย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อเลี่ยงการถูกเก็บภาษี และยิ่งเมื่อสหรัฐประกาศแบนสินค้าโทรคมนาคมหัวเว่ยของจีนโดยอ้างว่าเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคง ยิ่งก่อให้เกิดความปั่นป่วนด้านห่วงโซ่อุปทานของโลก

และสุดท้ายเกรงว่าแม้แต่ระบบอินเทอร์เน็ตของโลกนี้ ก็จะถูกแยกออกเป็น 2 สายคือ สายอเมริกากับสายจีน ที่อาจทำให้คนทั้งโลกพกโทรศัพท์มือถือ 2 เครื่องหากต้องเดินทางไปต่างประเทศ