ย้อนรอย คลองด่าน ผ่าน 4 คีย์แมน จากวันแรกถึงวันรัฐต้องจ่ายเอกชน 9.6 พันล้าน

ภาพจากกรมประชาสัมพันธ์

ย้อนรอยคดี “คลองด่าน” ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ผ่าน 4 คีย์แมน “สุวัจน์ – วัฒนา – ประพัฒน์ – ประยุทธ์” หลังศาลปกครองสูงสุดยกคำร้องคลัง-กรมควบคุมมลพิษ มีผลให้รัฐต้องจ่ายค่าโง่ 9.6 พันล้านตามเดิม 

วันที่ 7 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับศาลปกครองชั้นต้น ยกคำร้องของกระทรวงการคลังและกรมควบคุมมลพิษ กรณีขอรื้อฟื้นคดีค่าโง่โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งศาลให้เหตุผบว่าพยานหลักฐานที่ยื่นเข้ามา ล้วนเป็นพยานหลักฐานเก่าที่มีอยู่แล้วทั้งนั้น ไม่เป็นเหตุให้พิจารณาคดีใหม่

ทำให้ความภาคภูมิใจที่เคยฉลองเมื่อคราวศาลปกครองชั้นต้นตัดสินไม่ต้องจ่ายค่าโง่ร่วม 9.6 พันล้านบาทเมื่อปี 2561 มลายหายไปหมดสิ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” พาย้อนที่มาของโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์นี้

“สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา และอดีต รมว.กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯปี 2538

ปฐมบท : สุวัจน์ ลิปตพัลลภ

โครงการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย จ.สมุทรปราการ หรือที่รู้จักกันในโครงการ “คลองด่าน” คาดการณ์มูลค่าโครงการเมื่อศึกษาแล้วเสร็จช่วงทศวรรษ 2530 ที่ 24,000 ล้านบาท บุคคลที่มีบทบาทในการผลักดันโครงการนี้มากที่สุดคือ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ”

รายงานข่าวระบุว่า ในสมัยที่นายสุวัจน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (ปัจจุบันคือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) เมื่อปี 2538 ยุครัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นผู้ที่ผลักดันโครงการนี้ผ่านเข้าเชือกที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2538 ได้เป็นผลสำเร็จ

หลังจากนั้นในปี 2539 มีการจัดคัดเลือกบริษัทผู้รับเหมาโครงการนี้ ซึ่งสุดท้ายเหลือ 2 ราย คือ กลุ่มฮุนไดและกลุ่ม NVPSKG (ประกอบด้วย 5 บริษัท ได้แก่ บจ.นอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รัฐวิสาหกิจจากประเทศอังกฤษ, บจ.วิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง, บจ.ประยูรวิศการช่าง, บจ.สี่แสงการโยธา, บจ.กรุงธนเอนยิเนียร์ และ บจ.เกตเวย์ ดิเวลลอปเมนท์)

กระทั่งท้ายสุดเป็นกลุ่ม NVPSKG ที่ยื่นเสนอราคาเพียงรายเดียวและคว้าชัยในโครงการนี้ได้ในที่สุด จนจดปากกาลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2540

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างการประกวดราคาและการเซ็นสัญญา มีข่าวลือถึงความไม่ชอบมาพากลต่าง ๆ ทั้งการปรับแบบก่อสร้างและงบประมาณ ซึ่งมีการขอกู้กับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) และ ADB ปล่อยกู้ให้โครงการนี้เป็นเงินจำนวน 3,440 ล้านบาท ดอกเบี้ย 6% ระยะเวลาคืนเงินกู้รวม 25 ปี แต่ภายหลังมีการสั่งหยุดการกู้เงินจาก ADB ในที่สุด

วัฒนา อัศวเหม อดีตรมช.มหาดไทย

วัฒนา อัศวเหม : คีย์แมนที่ดิน

อีกหนึ่งคีย์แมนสำคัญที่เมื่อพูดถึงโปรเจ็กต์นี้ ก็มักจะมีชื่อนี้ตีคู่เสมอ นั่นคือ “วัฒนา อัศวเหม” อดีตเจ้าพ่อเมืองปากน้ำ ซึ่งในกรณีนี้มีรายงานข่าวว่า บจ.ปาล์มบีช ดีเวลลอปเม้นท์ เข้าไปกว้านซื้อที่ดินของประชาชนที่ถือเอกสารสิทธิ สค.1 และ น.ส. 3 รวมถึงที่ดินบางส่วนของ บจ.มารีน่า อินเตอร์คลับ และ บจ.เหมืองแร่ลานทอง รวมทั้งหมด 1,903 ไร่ 31 ตารางวารวม 17 โฉนด วงเงินรวม 1,956 ล้านบาท ตกไร่ละ 1.028 ล้านบาท

ถือเป็นราคาที่สูงมากจากในยุคนั้นที่ราคาที่ดินย่านนั้นประเมินไว้ที่ 4.8 แสนบาทเท่านั้น ถือเป็นราคาที่ก้าวกระโดดมาก

กล่าวกับ บจ.ปาล์มบีช ก่อตั้งเมื่อวันที่  5 ก.ย. 2531 ซึ่งในช่วงตั้งไข่ปรากฏนาม “สมศักดิ์ เทพสุทิน” และ “มนตรี พงษ์พานิช” ร่วมถือหุ้นด้วย โดยในบริษัทมี “สมพร อัศวเหม” น้องชายวัฒนาผู้ล่วงลับถือหุ้นด้วย

ส่วน บจ.เหมืองแร่ลานทอง ปรากฏชื่อ “วัฒนา อัศวเหม” และ “สมพร” น้องชายร่วมถือหุ้น ทำให้การแลกเปลี่ยนไปมาของที่ดินต่าง ๆ เกิดความน่าฉงนขึ้น และมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า การกว้านซื้อที่ดินดังกล่าวมีการข่มขู่ชาวบ้าน

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ : นับหนึ่งพิพาท

ต่อมาในยุครัฐบาลไทยรักไทย มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการตรวจสอบความไม่โปร่งใสและการทุจริต, ด้านบริหารสัญญา และด้านความเหมาะสมที่จะเดินหน้าโครงการต่อหรือไม่ ?

ซึ่งบทสรุปมาจบเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2546 เมื่อ “ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น มีมติสั่งหยุดการก่อสร้างโครงการนี้ เพราะกิจการร่วมค้า NVPSKG ไม่มีส่วนของผู้เชี่ยวชาญด้านการบำบัดน้ำเสียคือ บจ.นอร์ทเวสท์ วอเทอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล  อาจทำให้สัญญาที่ทำไว้เกิดความเสียเปรียบกับประเทศไทยได้ จึงให้ถือว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ

จึงมีคำสั่งให้หยุดการก่อสร้าง เบิกจ่าย และกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องทันที พร้อมกับให้หาตัวผู้กระทำความผิด จนนำมาสู่ข้อพิพาทระหว่างเอกชนและรัฐบาลในเวลาต่อมา

กระทั่งเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2554 คณะอนุญาโตตุลาการ จึงมีคำชี้ขาดตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 50/2546 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 2/2554 ให้กรมควบคุมมลพิษ ชำระเงินค่าจ้าง ค่าเสียหาย รวมดอกเบี้ย ตามข้อเรียกร้องของกลุ่มกิจการร่วมค้า NVPSKG เป็นวงเงินรวม 9,058 ล้านบาท

แต่รัฐบาลไม่ยอมจ่าย NVPSKG จึงเดินหน้าฟ้องศาลปกครองกลางต่อ และศาลมีคำสั่งให้บังคับคดีตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

ต่อมากรมควบคุมมลพิษ ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางให้ศาลปกครองสูงสุด แต่ศาลพิพากษายืนตามคำตัดสินของศาลปกครองชั้นต้น (ศาลปกครองกลาง) ที่มีคำสั่งให้บังคับคดีตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีต รมว.ทรัพย์ฯ ภาพจากมติชน

ประยุทธ์ จันทร์โอชา : รื้อค่าโง่

อย่างไรก็ตาม แม้จะพ่ายแพ้ในคดีทางเพ่ง แต่ต่อมาเมื่อปลายปี 2558 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาคดีทุจริตโครงการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ลงโทษนายปกิต กิระวานิช อดีตอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์พิบูรณ์ อดีตรองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนางยุวรี อินนา ผอ.กองจัดการคุณภาพน้ำ ฐานสมคบกับเอกชนทุจริต ทำให้ราชการได้รับความเสียหายร้ายแรง โดยให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 20 ปี

จากจุดนี้ ทำให้รัฐบาลยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นช่องทางในการรื้อฟื้นคดี โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สั่งอายัดสิทธิเรียกร้องเงินชดเชยค่าผิดสัญญาก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่รัฐบาลยังค้างจ่ายอีก 2 งวด เป็นเงินกว่า 4,700 ล้านบาท และ 32 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเป็นเงินรวมประมาณ 5,800 ล้านบาท เพราะสัญญาก่อสร้างโครงการเกิดขึ้นจากการทุจริต

ต่อมาพลเอกประยุทธ์มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2559 ให้กระทรวงการคลังหาทางรื้อฟื้นคดีเพื่อไม่ให้รัฐต้องจ่ายค่าเสียหายตามที่เอกชนร้อง จนนำมาสู่การยื่นศาลปกครองกลางเมื่อปี 2560 ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้รัฐจ่ายค่าเสียหาย 9,600 ล้านบาท และประสบชัยชนะเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2561 ในที่สุด

ก่อนจะมาคดีพลิกอีกรอบในศาลปกครองสูงสุดตามคำพิพากษาที่ระบุในวันนี้ (7 มี.ค. 2565) ถือเป็นการปิดฉากการพยายามที่จะไม่จ่ายค่าโง่ในที่สุด

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภาพจากเว็บไซต์ ThaiGov