อัดฉีดแพ็กเกจจูงใจซื้อ EV ค่ายรถขานรับประเดิมภาษีใหม่ปี’65

 

รัฐบาลบิ๊กตู่เตรียมคลอดแพ็กเกจชุดใหญ่หนุนรถยนต์ไฟฟ้า “ลวรณ” แจงเคาะแล้วทั้งภาษีสรรพสามิต ภาษีนำเข้าและมาตรการจูงใจให้คนไทยซื้อรถอีวี พร้อมดีเดย์มีผลบังคับใช้ปี’65 เตรียมแถลงความชัดเจนปลายปีนี้ ค่ายรถเฮเร่งทำคลอดเร็วขึ้น ยันภาษีสรรพสามิต 0% แบบมีเงื่อนไขรับได้ แย้มปลายปี’65 ได้ยลโฉม อีวีจีนลั่นพร้อมขึ้นไลน์ผลิตทันที

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการผลักดันแจ้งเกิดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเเห่งชาติได้เสนอรัฐบาล คาดว่าในช่วงปลายปี 2564 นี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งอัตราภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร กรณีที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศมาจำหน่ายก่อนในช่วงแรก รวมถึงมาตรการอุดหนุนผู้บริโภคเพื่อให้เป้าหมายใหญ่ที่ตั้งไว้ภายในปี 2573 จะมียอดจดทะเบียนใหม่ภายในประเทศที่เป็นยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) เกือบทั้งหมด และผลักดันการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทราว ๆ 1.5 ล้านคัน ใกล้ความจริงมากขึ้น

แจกชุดใหญ่ครบเครื่อง

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการตอนนี้คือ ภาษีสรรพสามิต แต่ยังตอบไม่ได้ และอาจจะไม่ได้เป็นศูนย์อีก เหมือนที่เคยผ่านมา เพราะที่ผ่านมากำหนดภาษีอัตรา 0% ไปแล้ว แต่ยังไม่มีค่ายใดผลิตรถยนต์อีวีในประเทศ ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็ต้องมีรายได้จากภาษีด้วย อย่างไรก็ดี ทางกรมสรรพสามิตจะมีการกำหนดอัตราภาษีที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย

แต่ที่สำคัญคือในปีหน้าจะมีมาตรการจูงใจให้คนซื้ออีวีออกมาหลากหลาย ซึ่งน่าจะประกาศได้ภายในปลายปีนี้ หลังผ่านงานมอเตอร์เอ็กซ์โปไปแล้ว อย่างในต่างประเทศ รัฐบาลจะซัพพอร์ตเป็นเงินก้อนให้กับคนซื้ออีวีโดยตรง หรือสามารถนำใบเสร็จการซื้ออีวีไปลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ซึ่งแนวทางก็คงไม่ต่างกันมาก นอกจากนี้ ในช่วงเริ่มต้นของการลงทุน ผลผลิตที่ยังไม่ออกมาก รัฐบาลก็มีออปชั่นให้สามารถนำเข้ามาจำหน่ายได้ก่อน โดยแหล่งที่มาของสินค้า ถ้าเป็นประเทศที่ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าก็สามารถใช้สิทธิ์นั้นได้เลย

“ตอนนี้พูดได้เต็มปากว่า รัฐบาลชุดนี้พร้อมที่จะคลอดมาตรการจูงใจแบบชุดใหญ่ เพื่อแจ้งเกิดรถยนต์ไฟฟ้าแน่นอน” แหล่งข่าวกล่าว

คลังยันภาษีสรรพสามิตจบ

ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมได้หารือร่วมกับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อรายงานความคืบหน้ามาตรการกระตุ้นแรงจูงใจให้ประชาชนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา

โดยทิศทางในการใช้มาตรการภาษีในส่วนของกรมสรรพสามิตชัดเจนแล้ว แต่ให้กรมกลับมาพิจารณาในรายละเอียดย่อย ๆ ที่ต้องปรับเพิ่มเติมเล็กน้อย ซึ่งรองนายกฯจะแถลงรายละเอียดอีกครั้ง คาดว่าปลายเดือน พ.ย.-ต้นเดือน ธ.ค. จะมีความชัดเจนมากขึ้น

“เร็ว ๆ นี้จะมีการแถลงทิศทางในการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อเริ่มใช้จริงจังในปี 2565 ซึ่งในปีนี้จะเตรียมการทุกอย่างให้เสร็จ ซึ่งในเรื่องการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้ามีหน่วยงาน
ที่เกี่ยวข้องเยอะ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของกระทรวงการคลังฝ่ายเดียว ยังรวมถึงสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงพลังงาน เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องดูรายละเอียดให้รอบคอบด้วย” นายลวรณกล่าว

อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวด้วยว่า ในด้านของผู้ประกอบการไม่ได้มีปัญหาในการดำเนินงาน หากมีการดำเนินมาตรการจูงใจให้คนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือร่วมกันมาโดยตลอด และได้ข้อสรุปแล้ว ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความพร้อมในการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้า และกรมก็รับฟังทุกข้อห่วงใยจากผู้ประกอบการด้วย

“ผู้ประกอบการรถยนต์แต่ละค่ายก็มีข้อห่วงใยไม่เหมือนกัน กรมก็จะมาดูรายละเอียดว่าส่วนใดที่สามารถปรับได้ให้สมเหตุสมผล ก็จะแก้ไขให้ลงตัวมากที่สุด เพื่อให้สามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้” อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าว

ภาษีคลอด ค่ายรถพร้อม

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการส่งเสริมยานยนต์แห่งชาติกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ก่อนหน้านี้ กรมสรรพสามิตได้มีการเรียกค่ายรถยนต์เข้าไปหารือ เรื่องแนวทางการจัดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการผลักดันรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยเฉพาะรถยนต์ประเภทต่าง ๆ โดยกรอบคร่าว ๆ จะกำหนดค่าการปล่อย CO2 ให้เข้มข้นขึ้น และสอดรับกับนโยบาย 30@30 เพื่อผลักดันไปสู่การใช้อีวี 100% ให้ได้มากที่สุด

“คาดว่าเร็ว ๆ นี้ สรรพสามิตจะมีการเรียกค่ายรถยนต์เข้าไปรับฟังข้อสรุป ก่อนที่จะมีการประกาศภายในปีนี้ เพราะทุกอย่างต้องให้เวลาผู้ประกอบการได้รับทราบและเตรียมตัว แต่เท่าที่คุยกับค่ายรถ ส่วนใหญ่รอภาษีคลอด คลอดเมื่อไหร่ก็พร้อมทำทันที”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า อีกส่วนหนึ่งที่ค่ายรถเรียกร้องไป คือ อัตราภาษีสำหรับไฮบริด และปลั๊ก-อิน ไฮบริด ไม่ควรเท่ากัน เพราะในแง่ของการปล่อย CO2 ต่างกัน ปลั๊ก-อิน ไฮบริดควรต้องนำหลักเกณฑ์ของขนาดแบตเตอรี่ และระยะทางที่รถวิ่งได้จากแบตเตอรี่มาเป็นตัววัด เพื่อผลักดันให้มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจากมอเตอร์ไฟฟ้าจริง ๆ และลดค่า CO2 จากการใช้งาน ส่วนรถยนต์อีวีขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า 100% ที่ถ้าได้อัตรา 0% ก็น่าจะดีมาก ๆ

รับได้ 0% แบบมีเงื่อนไข

แหล่งข่าวผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รัฐบาลเคยพูดหลายครั้งว่า การจะผลักดันให้ประเทศไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นต้องมีมาตรการจูงใจ ซึ่งกรมสรรพสามิตเคยบอกว่า อัตราภาษี 0% จะใช้ใน 2 ปีแรก คือ ปี 2564-2565 ก่อน และจะขยับเป็น 2% ในปี 2566-2567 ตรงนี้ค่ายรถรับได้ แต่สิ่งที่ค่ายรถต้องการคือต้องผลักดันให้ครบถ้วนทั้งองคาพยพ สร้างสังคมรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้นด้วย สถานีชาร์จต้องพร้อมและใช้งานได้จริง ทุกอย่างต้องไปพร้อม ๆ กัน

และรัฐบาลต้องโฟกัสสิ่งที่ค่ายรถร้องขอด้วย ตัวอย่าง เช่น กลุ่มรถยนต์พีเอชอีวี ในเชิงเทคนิคแล้วมีค่ายรถบางค่ายใช้แบตเตอรี่ซึ่งมีขนาดเล็กกำลังไฟน้อย เพื่อขอใช้สิทธิประโยชน์ทำราคาได้ต่ำลงจริง แต่ประสิทธิภาพการใช้งานยังไม่ดีพอ พลังงานไฟฟ้า
จากแบตเตอรี่แทบไม่มีเลย ซึ่งภาครัฐน่าจะเล็งเห็นช่องว่างดังกล่าวและเพิ่มความเข้มข้นให้มากขึ้น

“ปัจจุบันอีวีมีผู้ทำตลาดอย่างจริงจังคือ ค่ายเอ็มจี ส่วนค่ายญี่ปุ่นนั้นยังไม่เห็นความชัดเจน ขณะที่ค่ายยุโรปเริ่มมีการทำตลาดบ้างแล้ว โดยอัตราภาษีนำเข้าปัจจุบันคิดอยู่ 8% สำหรับรถซีบียู ขณะที่รถจีนภาษีเป็นศูนย์ เนื่องจากได้ใช้สิทธิประโยชน์ข้อตกลงระหว่างจีน-อาเซียน”

ค่ายยุโรปลั่นขึ้นไลน์ผลิตปีหน้า

นายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ได้เตรียมความพร้อมเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากโรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ในประเทศไทย หลังจากได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ และลงทุนสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่กับการผลิตรถกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่ประกอบในไทยหลายรุ่น แต่เป้าหมายที่สำคัญของโรงงานนี้ก็คือ การรองรับแผนการประกอบอีวีในไทย

โดยในช่วงปลายปี 2564 เมอร์เซเดส-เบนซ์จะเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า อีคิวเอส และเริ่มส่งมอบได้ในช่วงต้นปี 2565 ทั้งนี้ อนาคตยังมีแผนขึ้นไลน์ประกอบอีคิวเอส ที่ผลิตในประเทศ (CKD) จากโรงงานธนบุรีประกอบรถยนต์ สำโรง สมุทรปราการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ได้เตรียมความพร้อมรองรับการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า โดยได้ลงทุนตั้งโรงงานแบตเตอรี่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ใช้เม็ดเงินลงทุน 100 ล้านยูโร เป็นโรงงานแห่งที่ 6 ใน 3 ทวีป ใช้เทคโนโลยีใหม่ลิเทียม-ไอออน ป้อนเฉพาะแบรนด์เมอร์เซเดส-เบนซ์ และส่งออกในภูมิภาคนี้เป็นหลัก

ส่วนค่ายบีเอ็มดับเบิลยู ก่อนหน้านี้ได้ประเดิมทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า 3 รุ่น อาทิ BMW iX, BMW iX3 และมินิคูเปอร์ เอสอี ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงเตรียมความพร้อมสำหรับโรงงานแบตเตอรี่ที่จังหวัดระยอง ภายใต้ความร่วมมือกับแดร็คเซิลไมเออร์ กรุ๊ป ผู้นำด้านการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ระดับโลก ซึ่งเป็นพันธมิตรกับบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ใช้เงินลงทุนไปกว่า 400 ล้านบาท

ด้านนายกฤษณะกร เศวตนันทน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาวดี้ ประเทศไทย กล่าวถึงความคืบหน้าว่า บริษัทได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนกับทางบีโอไอ แต่ขณะนี้รอความชัดเจนจากบริษัทแม่ คือ ออดี้ เอ.จี. ว่าจะพร้อมขึ้นไลน์เมื่อใด ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่ออดี้นำเข้ามาจำหน่ายอย่าง ออดี้ อีตรอน นั้นยังคงได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าชาวไทยทั้งกลุ่มลูกค้าทั่วไป และลูกค้าองค์กรที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้า

รถจีนทยอยบุกตลาดอีวี

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการลุยตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ค่ายรถจีนถือว่ามีบทบาทมาก โดยเริ่มต้นจากค่ายเอ็มจี ตามมาด้วยเกรท วอลล์ฯ และเร็ว ๆ นี้ยังมีอีกหลายยี่ห้อมีแผนเปิดตัวในไทยปีนี้ เพียงแต่ต้องชะลอไปจากสถานการณ์โควิด อาทิ รถยนต์นั่งของบีวายดี ซึ่งกลุ่มสยามกลการจับมือกับกลุ่มเอสซีจี (ปูนซิเมนต์ไทย) หรือ “เฌอรี่” ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มยนตรกิจนำเข้ามาขาย ก็มีข่าวว่าจะเปิดตัวเพื่อทำตลาดอีกครั้ง รวมถึง “ฉางอัน ออโตโมบิล” ที่ถึงขั้นเข้ามาเจรจาหารือกับนิคมอุตสาหกรรมย่านปราจีนบุรี

สำหรับความเคลื่อนไหวในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดกลุ่ม ปตท.ประกาศความชัดเจนว่า นโยบายการพัฒนาธุรกิจอีวีได้ลงนามตั้งบริษัทร่วมทุนกับ “ฟ็อกซ์คอนน์” ยักษ์ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของจีน เพื่อตั้งโรงงานผลิตแพลตฟอร์มชิ้นส่วนสำคัญของรถอีวี รวมถึงการเป็นโรงงานประกอบรถอีวี โดยจะถือเป็นฐานผลิตอีวีแห่งที่ 2 ของฟ็อกซ์คอนน์ที่อยู่นอกประเทศจีน

เกรท วอลล์ฯลั่น 2 ปีขึ้นไลน์อีวี

นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ รองประธานฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย เคยกล่าวในงานสัมมนา ZEV Thailand Policy : Road to EV ASEAN Production Hub ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ว่า เกรท วอลล์ฯ มีแผนนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (อีวี) รุ่นแรก เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยภายในปีนี้ แบรนด์โอร่า (ORA) รุ่นกู๊ดแคต

และในปี พ.ศ. 2566 บริษัทจะเริ่มสายการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าระยะทางวิ่งไกล (long-range BEV) เพื่อจำหน่ายในตลาดประเทศไทย และส่งออก รวมทั้งนำเสนอกลุ่มผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคตให้กับทั้งผู้บริโภคชาวไทยและตลาดรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียน

ไม่ต่างจาก นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การดำเนินงานของเอ็มจีขณะนี้ยังคงเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ หลังจากก่อนหน้านี้มีการแนะนำรถยนต์พีเอชอีวีอย่าง เอ็มจี เอชเอส พีเอชอีวี ที่ผลิตจากโรงงานประเทศไทยออกสู่ตลาดแล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

ทั้งนี้ เอ็มจีอยู่ระหว่างการดำเนินงาน โดยเฉพาะการพิจารณารุ่นของรถยนต์อีวีที่จะนำเข้ามาผลิตในโรงงานประเทศไทย ทุกอย่างยังคงเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้

เร่งอนุมัติส่งเสริมลงทุน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า จากการตรวจสอบการขออนุมัติลงทุนของผู้ประกอบการเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดจำนวน 26 โครงการ ที่ยื่นขอส่งเสริมลงทุนปี 2562 ตอนนี้มีผู้ทำการตลาดรถยนต์ไฟฟ้า BEV แล้ว 2 ราย คือ FOMM กับ Tacano กระบะเล็ก ส่วน PHEV มีเมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู มิตซูบิชิ และนิสสัน

ทั้งนี้ ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเรื่อง นโยบายส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า กำหนดให้กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่เป็นหลัก (Battery Electric Vehicles : BEV) จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม

แต่ถ้ามีขนาดการลงทุนน้อยกว่า 5,000 ล้านบาท จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และจะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้น หากดำเนินการได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เริ่มผลิตรถยนต์ภายในปี 2565 มีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญเพิ่มเติมจากข้อกำหนดพื้นฐาน มีปริมาณการผลิตจริงมากกว่า 10,000 คันต่อปี

และมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา และถ้ามีโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Plug-in Hybrid Electric Vehicles หรือ PHEV ด้วย จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี แต่ต้องผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าอย่างน้อย 3 ชิ้น


ส่วนสิทธิประโยชน์ของประเภทกิจการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า จะเพิ่มเติมรายการชิ้นส่วนสำคัญอีก 4 รายการ ได้แก่ 1) high voltage harness 2) reduction gear 3) battery cooling system และ 4) regenerative braking system พร้อมทั้งปรับปรุงสิทธิประโยชน์ให้จูงใจมากขึ้นสำหรับกิจการผลิตแบตเตอรี่ที่มีการลงทุนในขั้นตอนที่ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น โดยให้รับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนอากรขาเข้าวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นที่ไม่มีการผลิตในประเทศ ในอัตราร้อยละ 90 เป็นระยะเวลา 2 ปี ในกรณีที่มีขั้นตอนการผลิต module หรือ cell เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิต