เข้าไทยไม่ต้องตรวจ PCR ลุยยกเลิก Thailand Pass

ต่างชาติ สนามบิน

ประยุทธ์ ประกาศกระตุ้นท่องเที่ยว สั่ง ศบค.ยกเลิกตรวจ RT-PCR เหลือ ATK ด้วยตัวเอง เพิ่มพื้นที่ท่องเที่ยว 14 จังหวัด รวมเบตง บางอำเภอในอยุธยา ดื่มเหล้าในร้านอาหารได้ถึง 24.00 น. กลุ่มเสี่ยง-ติดเชื้อโควิด กักตัวแค่ 5 วัน มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค.65

เผยนักท่องเที่ยวเข้าไทยเดือนเม.ย. 2.75 แสนคน ติดเชื้อแค่ 1,364 คน เอกชนขานรับเป็นจังหวะที่ดี รุกยกเลิก Thailand pass ภูเก็ตคึกโรดโชว์ทั่วโลก

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 อนุมัติมาตรการควบคุมโรค ทั้งพื้นที่ในประเทศ ทั่วราชอาณาจักร และการเข้าประเทศไทยของนักเดินทางต่างชาติ ทุกมาตรการมีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 65 เป็นต้นไป

นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ว่า “ไทยปรับ ยกเลิก Test and Go ให้ตรวจเพียง ATK เพื่ออำนวยความสะดวกให้รวดเร็วขึ้น เพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว ซึ่งหลายประเทศผ่อนคลายไปมากพอสมควร ในฐานะที่ไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวพอสมควร เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ เป็นมาตรการที่ปลดล็อกในวันนี้ ทั้งทางบก ทางเรือและทางอากาศ มาตรการการตรวจ การดูแลและการรองรับผู้โดยสาร”

เข้าไทยยกเลิกตรวจ RT-PCR

สำหรับมติ ศบค.ให้ปรับมาตรการเข้าประเทศด้วยการยกเลิกตรวจ RT-PCR ทั้งหมด กรณีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดส ตรวจแค่ ATK ด้วยตัวเองหลังเข้าพัก ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ ให้ตรวจ RT-PCR ในวันที่ 4-5 ที่เดินทางถึงไทย และลดวงเงินประกันจาก 20,000 เหลือ 10,000 เหรียญสหรัฐ

และให้ลดวันกักตัวสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงกับผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโควิด-19 โดยลดเป็นกักตัว 5 วัน และสังเกตอาการอีก 5 วัน พร้อมทั้งตรวจหาเชื้อด้วย ATK

โดยกระทรวงการท่องเที่ยวรายงานว่า จำนวนผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศสะสม 20 วันในเดือน เม.ย. จำนวน 1,364 คน จากทั้งหมด 275,559 คน

ยกเลิก 20 จังหวัดควบคุมโรค

ศบค.ยังได้ปรับพื้นที่ควบคุมโรค โดยการปรับพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ทั้งหมด 20 จังหวัด และเพิ่มจังหวัดจากพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 47 เป็น 65 จังหวัด

ทั้งนี้ มาตรการป้องกันควบคุมโรค สำหรับพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (สีฟ้า) 12 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูง 65 จังหวัด รวม 77 จังหวัด ดังนี้

1.คงมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 แบบบูรณาการ ตามระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร 1 พฤศจิกายน 2564 ทั้งนี้ทุกพื้นที่ ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง และสถานบริการอื่นในลักษณะอื่นในลักษณะคล้ายกัน

2.ปรับมาตรการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร หรือสถานที่ที่มีลักษณะเดียวกัน ทั้งในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว และพื้นที่เฝ้าระวังสูง โดยเปิดให้บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จากไม่เกิน 23.00 น. เป็นไม่เกิน 24.00 น. และให้คงการจำกัดประเภทร้านอาหารที่บริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ ต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่าน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus เท่านั้น และตามมาตรการ COVID Free Setting

3.คงมาตรการสำหรับสถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ให้ผู้ประกอบการเปิดดำเนินการในรูปแบบร้านอาหารได้ตามมาตรการที่กำหนด โดยขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.ได้ เมื่อมีความพร้อมโดยไม่กำหนดระยะเวลา

4.มาตรการ work from home ให้เป็นไปตามความเหมาะสม และการพิจารณาของหน่วยงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมตามมติ ศบค.ล่าสุด พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (สีฟ้า) จำนวน 12 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) จำนวน 65 จังหวัด หรือเกือบทั้งประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป มีดังนี้

พื้นที่เฝ้าระวังสูง 65 จังหวัด

จังหวัดกาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชัยภูมิ ชุมพร เชียงราย ตรัง ตราด ตาก นครนายก นครปฐม นครพนม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นราธิวาสน่าน บึงกาฬ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยาพะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่

มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ยะลา ร้อยเอ็ด ระนอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี อุบลราชธานี

เพิ่มพื้นที่ท่องเที่ยว 14 จังหวัด

สำหรับจังหวัดสีฟ้า หรือพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว รวม 14 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร กระบี่ กาญจนบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี พังงา เพชรบุรี ภูเก็ต โดยในการประชุมครั้งนี้ มีการขยายเพิ่มอีก 2 จังหวัด คือ ระยองและสงขลา และเห็นชอบตามข้อเสนอจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้พื้นที่นำร่องท่องเที่ยวอีก 2 จังหวัด บางพื้นที่ในพระนครศรีอยุธยา คือ อ.บางปะอิน ภาชี อุทัย และ อ.เบตง ยะลาด้วย

เอกชนย้ำเป็นเวลาที่ดีที่สุด

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เห็นด้วยกับการประกาศปลดล็อก ศบค.ครั้งนี้ เพราะเป็นแนวทางที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งยังเป็นการเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจภายในของประเทศด้วย

“ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ดีที่สุดในการยกเลิกเงื่อนไขการเข้าประเทศทั้งหมด เพราะที่ผ่านมาทุกภาคส่วนได้เรียนรู้ในการปรับตัวอยู่ร่วมกับเชื้อโควิดแล้ว ขณะเดียวกันประเทศอื่น ๆ รวมถึงสิงคโปร์เพื่อนบ้านของไทยเราก็ได้ปลดล็อกไปหมดแล้ว หากเปิดแล้วไม่ดีก็สามารถกลับไปใช้ Test & Go เหมือนเดิมก็ได้”

อย่างไรก็ตาม หากรูปแบบดังกล่าวทำให้คนในประเทศเกิดความไม่สบายใจก็สามารถปรับเป็นใช้ ATK & Go โดยใช้ professional ATK ในสนามบิน หรือกำหนดให้ตรวจ professional ATK ก่อนเดินทางเข้ามาเหมือนในอีกหลายประเทศก็ยังอยู่ในเงื่อนไขที่รับได้เช่นกัน

ลุ้นยกเลิก Thailand Pass

เช่นเดียวกับนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) และรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มโรงแรมเครือสุโกศล กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ ศบค. เนื่องจากปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ติดเชื้อในอัตราที่ต่ำมาก

หลักการดังกล่าวเหมือนจะปลดล็อกเงื่อนไขให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้สะดวกขึ้น แต่ก็ยังปลดไม่หมด ดังนั้น จึงอยากขอเสนอให้รัฐบาลยกเลิกระบบ Thailand Pass ซึ่งเป็นระบบลงทะเบียนเข้าประเทศไปพร้อม ๆ กันด้วย เพราะต่อไปหน้าที่ของ Thailand Pass จะเหลือเพียงแค่ตรวจสอบการฉีดวัคซีนและประกันภัยเท่านั้น ซึ่งการตรวจสอบวัคซีนนั้นที่ผ่านมาสายการบินต่าง ๆ ได้ตรวจสอบอยู่แล้ว

“สิ่งที่เป็นห่วงคือ เมื่อพบนักท่องเที่ยวต่างชาติมีผล ATK เป็นบวก แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วยจะบริหารจัดการต่ออย่างไร ต้องเข้าสู่ระบบ hotel isolation หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาโรงแรมทั่วไปไม่ได้มี hotel isolation ทุกแห่ง”

ปีนี้ได้นักท่องเที่ยว 7-13 ล้านคน

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงมีความพยายามที่จะเสนอขอปรับลดมาตรการการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวเร็วขึ้น

“การปรับลดมาตรการการเดินทางเข้าประเทศ ช่วยอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว และกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยในช่วง 7-8 เดือนข้างหน้า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยได้ที่ 7-13 ล้านคน สร้างรายได้ราว 7 แสนล้านบาท”

ส่วนเป้าหมายนักท่องเที่ยวชาวไทยคาดว่าจะมี 160 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 6.5 แสนล้านบาท ทำให้รายได้ท่องเที่ยวในปี 2565 รวม 1.3-1.5 ล้านล้านบาท

ภูเก็ตคึกโรดโชว์ทั่วโลก

นายธเนศ ตันติพิริยะกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การยกเลิกตรวจ RT-PCR คาดว่าในเดือน พ.ค.นี้ จะทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเฉลี่ยวันละ 2,500-3,000 คน

ในช่วง พ.ค. 65 สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตจะนำผู้ประกอบการภูเก็ตไปโรดโชว์ที่ออสเตรเลีย 3 เมือง ได้แก่ ซิดนีย์บริสเบน และเมลเบิร์นและจะไปทำตลาดที่ซาอุดีอาระเบียกับอิสราเอล จากนั้นช่วง มิ.ย. ททท.เป็นเจ้าภาพการจัดงาน TTM โดยภูเก็ตเป็นเจ้าภาพจะมีผู้เข้าร่วมงานอย่างน้อย 350 คน

“จากที่ได้ประเมินการท่องเที่ยวของภูเก็ตเปรียบเทียบกันกับช่วงที่ผ่านมา ถ้าเราเปรียบเทียบตั้งแต่เริ่มภูเก็ตแซนด์บอกซ์ 1 ก.ค. 64 ถ้าครบ 1 ปี มีนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น รายได้เติบโตขึ้นประมาณ 30-40%”

ทางด้านนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การดำเนินโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 64-20 เม.ย. 65 มีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสม 479,204 คน

“ภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ตอนแรกไปได้ด้วยดี แต่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเปิดให้บริการ 70,000 ห้องจากทั้งหมด 1 แสนห้อง มีนักท่องเที่ยว 188,245 คน ทำรายได้ 3,441 ล้านบาท กระตุ้นเศรษฐกิจดีพอสมควร” นายณรงค์กล่าว

หอการค้ามั่นใจเศรษฐกิจฟื้น

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าการยกเลิกตรวจ RT-PCR ทั้งหมดในวันที่ 1 พ.ค.นี้จะช่วยดึงบรรยากาศการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักได้ ภาคการค้าและบริการจะได้กลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งภาคเอกชนก็จะช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการช่วยทำตามมาตรการต่าง ๆ ที่ช่วยดูแลและป้องกันการระบาดเพิ่ม รวมถึงรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย เพื่อสนับสนุนการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตามจากนี้รัฐบาทควรเร่งกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโมเมนตัมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น จากการคำนวณ คนละครึ่งเฟส 5 รอบนี้ หากมีการให้คนละ 1,500 บาท อีกรอบ รัฐบาลก็จะใช้งบประมาณ ประมาณ 45,000 ล้านบาท (30 ล้านคน) ซึ่งส่วนนี้ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเงินเข้าระบบ 90,000 ล้านบาท ตรงนี้จากการคำนวณแล้วจะมีการทำให้ GDP ตัวเลขดีขึ้นได้ถึง 0.63-0.65% ในปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้การเติบโตของ GDP ประเทศไทยนั้นได้อยู่ช่วงเกิน 3% แน่นอน