นายกสมาคมบ้านจัดสรร ขอรัฐบาลใหม่เดินหน้าเมกะโปรเจ็กต์

วสันต์ เคียงศิริ
วสันต์ เคียงศิริ

สุญญากาศของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ภายหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ทำให้การทำธุรกิจในประเทศไทยมีปัจจัยเสี่ยงเกิดขึ้นโดยปริยาย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “วสันต์ เคียงศิริ” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธารารมณ์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เพื่อเปิดมุมมองอนาคตครึ่งปีหลัง 2566 แนวโน้มชี้ทิศไปทางไหน การปรับตัวรองรับความเสี่ยงทางการเมืองควรออกมารูปแบบใด ตลอดจนความคาดหวังของตัวแทนภาคอสังหาริมทรัพย์ ต้องการให้รัฐบาลใหม่ทำอะไรให้ใน 3 เรื่องแรก

มองเทรนด์เศรษฐกิจครึ่งปีหลังอย่างไร

แนวโน้มเรายังไม่ได้รัฐบาลเป็นเรื่องเป็นราวจนถึงเดือนสิงหาคมเป็นอย่างเร็ว ทำให้ไตรมาส 3/66 หมดไปแล้ว ไม่มีปัจจัยบวกปัจจัยลบ เศรษฐกิจคงดำเนินอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ จีดีพี 3% กว่า ถามว่าดีไหม มันก็ไม่ได้ดี แต่ก็ไม่ได้แย่ ทรง ๆ ไปเรื่อย ๆ เพราะไม่มีปัจจัยอะไรในประเทศมาให้เปลี่ยนแปลง ส่วนปัจจัยภายนอกประเทศเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า

ไตรมาส 4/66 เข้ามา ถ้าไม่มีปัจจัยลบอะไรเป็นหลัก ภาพรวมน่าจะดี เพราะเป็นไฮซีซั่นของทัวริสต์ รวมถึงการทำธุรกิจภายในประเทศ เป็นเทศกาลของการจับจ่ายใช้สอย บรรยากาศน่าจะคึกคักขึ้น

ถ้าตั้งรัฐบาลแล้ว ไม่ได้มีอะไรเป็นเรื่องที่เราไม่อยากให้เกิด เช่น การเมืองท้องถนน ผมก็มองว่าบรรยากาศน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะสิ้นปี 2566 เทียบกับสิ้นปี 2565 ที่ขนาดว่ายังมองไม่เห็นว่าโควิดจะจบหรือไม่จบ แต่ทัวริสต์แห่เข้าไทยคึกคักมาก เพราะฉะนั้น ทุกคนก็มีโปรโมชั่นเร่งให้คนจับจ่ายใช้สอย ไม่ใช่เฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ทุกธุรกิจทำกันหมด ไตรมาส 4/66 มองว่าน่าจะดีขึ้น

ครึ่งปีหลังมีความไม่แน่นอน บริษัทมีแผนตั้งรับยังไง

บริษัทอสังหาริมทรัพย์ทุกคนก็ต้องทำเรื่อง risk management (การบริหารความเสี่ยง) ซึ่งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทุกคนทำอยู่แล้ว บริษัทอสังหาฯนอกตลาดอาจมีบางบริษัทไม่ได้ทำ

ADVERTISMENT

การทำ risk management ต้องดูว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง เราจะมีหนทางในการปรับตัวแต่ละเรื่องอย่างไร ป้องกันได้ไหม บางความเสี่ยงมาจากตัวเราเองก็ป้องกันได้ แก้ไขได้ แต่บางความเสี่ยงอยู่ภายนอก เราได้แต่ run scenario ว่าถ้าเกิดขึ้นมาเราจะทำยังไง จะป้องกันอย่างไร

ฉะนั้น รัฐบาลใหม่ โดยทั่วไปไม่ได้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่เข้ามา 2-3 เดือนแรกต้องเปลี่ยนถ่ายงาน กว่าจะอยู่ตัว การออกกฎหมายยิ่งแล้วใหญ่เลย ต้องผ่านสภา ใช้เวลายาวเลย มีเวลาตั้งตัวกัน

ADVERTISMENT

แต่ก็มีมาตรการเร่งด่วนที่เขาออกมา ซึ่งผมว่าน่าจะเป็นคุณมากกว่าเป็นโทษ แต่ถ้าประกาศออกมาแล้วเป็นโทษ เช่น นโยบายค่าแรง 450 บาท จากปัจจุบัน 352 บาท ขึ้นทีเดียวเป็น 450 บาท ขึ้น 30% บวกลบ หลายคนก็อาจจะต้องลดคน เป็นวิธีการแก้ที่ง่ายที่สุด

อย่าลืมว่าช่วงโควิด รัฐบาลชุดปัจจุบัน (รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เขาพยายามขอความร่วมมือเอกชนแบกรับ แบกคนไว้ก่อน อย่าเพิ่งไปปลด เอกชนหลายคนก็พยายามให้ความร่วมมือ ทนแบกรับคน กำไรน้อยหน่อย ค่าใช้จ่ายเพิ่มบ้าง ก็ช่วยกันไป ปัญหาค่าแรงเรื่องอื่นก็ต้องมีการปรับ เช่น คนเดิมก็ต้องหนักขึ้นเพราะงานเท่าเดิม ผมจะจ่ายคุณเพิ่มขึ้น คุณก็ต้องทำงานมากขึ้น เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการปรับตัวด้วยเหมือนกัน

ธารารมณ์ปรับแผนลงทุนอย่างไร

ยังไม่มีการปรับแผนลงทุน ธารารมณ์ในปีนี้เราเน้นการปรับเฟสอยู่แล้ว เพราะในช่วงเศรษฐกิจในสถานการณ์โควิด 2-3 ปี ผมซูเปอร์คอนเซอร์เวทีฟอยู่แล้ว และเราก็ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เรามี 10 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ วิธีการเซฟที่สุดคือการขยายเฟสต่อเนื่อง การลงทุนใหม่ก็ดู ๆ อยู่ ต้องรอดูรัฐบาลตั้งใหม่ ดูแนวโน้มเศรษฐกิจ ดูโน่นนี่ ถ้าดีขึ้นเราก็จะเอาแผนลงทุนออกจากลิ้นชัก (ยิ้ม)

รัฐบาลใหม่ 3 เรื่องแรกที่อยากให้ทำ

เรื่องที่ 1 น่าจะเป็นเรื่องที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และเป็น sentimental ด้วย คือค่าไฟฟ้ากับค่าน้ำมัน กระทบกระเทือนประชาชนค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะ 2 เดือนที่ผ่านมา บางคนค่าไฟต้นทุนเพิ่มขึ้นเยอะ ค่าน้ำมันก็ยังอยู่ในระดับสูง ที่เป็นห่วงคือดีเซลต้องหาข้อสรุปให้เร็ว เพราะเดือนกรกฎาคมที่ต้องทบทวน ถ้ารัฐบาลขึ้นราคาทีเดียว 5 บาท จะมีผลกระทบมากต่อค่าขนส่งบานเลย เพราะฉะนั้น รัฐบาลใหม่จะบริหารยังไง ผมไม่รู้ แต่ถ้าขึ้นทีเดียว 5 บาท กระทบรุนแรงมากกับค่าขนส่ง รวมถึงต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างด้วย

เรื่องที่ 2 สาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ลงทุนไปแล้ว อะไรที่ทำอยู่แล้วให้ทำต่อให้เสร็จ อย่าไปดึง ๆ เรื่องกลับมา ไม่เอา เรื่องอะไรที่ค้างอยู่ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) รีบทำให้จบ อย่างทำเลรามคำแหง ลูกบ้านใครต่อใครก็ suffer ไซต์ก่อสร้างรถไฟฟ้าทำมา 4-5 ปี สร้างงานโยธาเสร็จ แต่ไม่มีรถวิ่ง ต้องไปรอสายสีส้มตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) ก็ต้องรออีก 4-5 ปี ปรากฏว่าสายสีส้มตะวันออกก็ไม่ได้ใช้สักที ดังนั้นเมื่อโครงสร้างทำเสร็จแล้วก็ควรให้มีรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการได้ทันที

นอกจากนี้ อินฟราสตรักเจอร์สำคัญ ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน ฯลฯ ขอให้ไปต่อให้จบ ให้ continue เพราะต้องใช้ทั้งเวลาในการก่อสร้าง และเราลงทุนลงเงินไปเยอะแล้ว ก็ควรให้ไปต่อให้จบ เป็นข้อดีสำหรับประเทศไทยในระยะยาว

เรื่องที่ 3 รัฐบาลใหม่ไม่ว่าพรรคการเมืองใดเข้ามา อย่าสร้างเงื่อนไขก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในประเทศ เพราะเราต้องเดินไปข้างหน้าแล้ว ตอนเดินเข้าไปเลือกตั้ง ประชาชนก็ฝากความหวังว่าประเทศไทยจะเดินไปข้างหน้า เพราะเราตีกันมา 10 กว่าปีแล้ว พอเลือกตั้งเสร็จสายที่อยากจะรีฟอร์มก็มาตีกันใหม่ ก็เหมือนเดิม ถ้าอย่างนั้นจะเลือกตั้งไปทำไม (หัวเราะ)

ผมไม่ได้เข้าข้างใครเป็นพิเศษอยู่แล้ว ฉะนั้น พรรคการเมืองสายใหม่ที่อยากจะรีฟอร์มก็มีข้อดีหลายข้อ แต่ก็มีหลายข้อที่ทำให้ความเห็นแตกต่างกันเยอะ ก็อย่าเพิ่ง อยากให้ถ้อยทีถ้อยอาศัย อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า จะทำให้ค่อย ๆ ไปได้

หลาย ๆ อย่างที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงต้องทำแบบค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอะไรที่เปลี่ยนรวดเร็ว จะทำให้เกิดการต่อต้าน จากความไม่เข้าใจหรือจากอะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงมีศิลปะของมัน มีหนังสือมีคอร์สหลายหลักสูตรที่เขาต้องสอน

ไม่ต่างอะไรกับการบริหารองค์กร คนที่อยู่ในองค์กรอยู่มานานแล้ว สบายอยู่แล้ว เขาก็ไม่อยากเปลี่ยนแปลงเท่าไหร่ ขนาดองค์กรของเราไม่ใหญ่มากนัก พนักงาน 200 กว่าคน ยังต้องมีศิลปะในการบริหารจัดการเรื่องการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นประเทศไทยมีขนาดใหญ่มาก การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ต้องมีศิลปะ และต้องใช้ทักษะบวกศิลปะขั้นสูงด้วย

ผมอยากจะฝากรัฐบาลใหม่ซึ่งจะเป็นใครก็แล้วแต่ อะไรที่ทำแล้วดีและข้อขัดแย้งน้อย ก็ทำไปเถอะ อะไรที่ข้อขัดแย้งเยอะก็ไม่ต้องรีบนัก มานั่งคุยกัน ตรงไหนที่มีทางออกแล้วค่อย ๆ ทำไปทีละเรื่อง จะได้ประนีประนอม และเดินไปข้างหน้าได้

ตอนนี้รอบนอก (ต่างประเทศ) ทั้งหมดมีปัญหาเยอะ เพราะฉะนั้นเราต้องร่วมมือร่วมใจทำให้แข็งแรงเข้าไว้ อะไรก็ไม่รู้ตอนนี้โลกวุ่นวาย อยู่เฉย ๆ ดีกว่า เราอย่าไปเพิ่มความขัดแย้งที่จะทำให้เราแย่ลงไปอีก