อสังหาฯกังวลผลประกอบ-ยอดขาย ดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการ Q4/66 ร่วงติดต่อกัน 5 ไตรมาส

อสังหาริมทรัพย์

REIC-ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยใน กทม.-ปริมณฑล ไตรมาส 4/6 ระดับ 47.6 ลดลง โดยเป็นระดับความเชื่อมั่นที่ต่ำกว่าค่ากลางที่ 50.0 สะท้อนผู้ประกอบการกังวลภาวะ ศก.ชะลอตัว เผยผลประกอบการค่าดัชนี 41.8 ต่ำกว่า 50.0 ต่อเนื่องมา 5 ไตรมาส

วันที่ 19 มกราคม 2566 ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIC เปิดเผยว่า ผลสำรวจในไตรมาส 4/66 ผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นลดลง และมีมุมมองเชิงลบต่อสถานการณ์ธุรกิจมาตลอดทั้งปี 2566

โดยพบว่ามีความเชื่อมั่นต่ำกว่าระดับ 50.0 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ไตรมาส 1/66-ไตรมาส 4/66 เป็นผลจากปัจจัยลบต่าง ๆ โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ที่ปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 จากร้อยละ 1.25 มาเป็นร้อยละ 2.50 ในไตรมาส 4/66 แต่มีข้อสังเกตว่า

ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า มีเพียง 2 ด้านที่มีทิศทางที่ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย ในด้านยอดขายและด้านการลงทุน โดยการลงทุนปรับตัวจาก 49.7 เป็น 50.7 แต่ยอดขายยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50.0 ติดต่อกันถึง 4 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาส 1/66 ถึงไตรมาส 4/66

เมื่อจำแนกความเชื่อมั่นตามกลุ่มผู้ประกอบการพบว่า กลุ่ม Listed Companies ในไตรมาส 4/66 มีค่าดัชนีเท่ากับ 48.1 น้อยกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีระดับ 54.7 และต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 แสดงให้เห็นว่ามีความกังวลต่อธุรกิจในภาวะปัจจุบัน โดยเฉพาะผลประกอบการที่ลดลงไปที่ระดับ 36.4 จากไตรมาสก่อนที่ระดับ 56.8 และการเปิดโครงการใหม่ และ/หรือเฟสใหม่ลดลงไปที่ 56.3 จากไตรมาสก่อนที่ระดับ 65.4

ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่ม Non-listed Companies ในไตรมาส 4/66 มีค่าดัชนีความเชื่อมั่น 46.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 42.3 ซึ่งยังคงต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 แสดงให้เห็นว่ายังคงมีความกังวลต่อปัจจัยลบต่าง ๆ ทั้งนี้ ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนคือด้านผลประกอบการที่เพิ่มขึ้นเป็นระดับ 50.0 จากไตรมาสก่อนที่ระดับ 33.8 และยอดขายที่เพิ่มขึ้นเป็นระดับ 44.1 จากไตรมาสก่อนที่ระดับ 32.5 (ดูตารางที่ 1 และแผนภูมิที่ 1)

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในภาพรวมอีก 6 เดือนข้างหน้า (Expectations Index) อยู่ที่ระดับ 60.0 โดยลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ในระดับ 60.1 ซึ่งยังคงมีค่าดัชนีสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังคงมีความเชื่อมั่นในมุมมองเชิงบวกต่อสถานการณ์ 6 เดือนข้างหน้า

ในรายด้านพบว่า ระดับความเชื่อมั่นสูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อน ประกอบด้วย การลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 66.6 หรือเพิ่มขึ้น 0.9 จุด, ต้นทุนการประกอบการ (ผกผัน) เพิ่มขึ้นเป็น 37.4 หรือเพิ่มขึ้น 3.0 จุด ด้านที่มีระดับความเชื่อมั่นเท่าเดิม คือ ผลประกอบการที่ 65.0

ด้านระดับความเชื่อมั่นลดลง ประกอบด้วย ยอดขายลดลงเหลือระดับ 68.4 หรือลดลง -1.1 จุด, การจ้างงานลดลงเหลือ 56.1 หรือลดลง -0.7 จุด และการเปิดตัวโครงการใหม่ และ/หรือเฟสใหม่ลดลงเหลือระดับ 66.6 หรือลดลง -2.9 จุด

เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ประกอบการพบว่า กลุ่ม Listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้า 63.1 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 64.7 แสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงเล็กน้อย

ในรายด้านพบว่า มีระดับความเชื่อมั่นสูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อนคือ ต้นทุนการประกอบการ (ผกผัน) เพิ่มขึ้นเป็น 41.7 หรือเพิ่มขึ้น 5.2 จุด

ด้านที่มีระดับความเชื่อมั่นลดลง ประกอบด้วย ผลประกอบการลดลงเหลือ 68.2 หรือลดลง -2.6 จุด, ด้านยอดขายลดลงเหลือ 70.8 หรือลดลง -4.2 จุด, ด้านการจ้างงานลดลงเหลือ 56.3 หรือลดลง -3.3 จุด และการเปิดตัวโครงการใหม่ และ/หรือเฟสใหม่ลดลงเหลือระดับ 70.8 หรือลดลง -4.2 จุด

ขณะที่ผู้ประกอบการ กลุ่ม Nonlisted Companies มีค่าดัชนีเท่ากับ 55.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.3 แสดงให้เห็นว่ามีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

หากพิจารณาในรายด้านพบว่า ผลประกอบการเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 60.3 หรือเพิ่มขึ้น 4.0 จุด, ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 64.7 หรือเพิ่มขึ้น 3.4 จุด และการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 55.9 หรือเพิ่มขึ้น 3.4 จุด

ด้านที่มีระดับความเชื่อมั่นลดลง ประกอบด้วย ต้นทุนการประกอบการ (ผกผัน) ลดลงเหลือ 30.9 หรือลดลง -0.4 จุด และการเปิดตัวโครงการใหม่ และ/หรือเฟสใหม่ลดลงเหลือระดับ 60.3 หรือลดลง -1.0 จุด

ดร.วิชัยกล่าวว่า ความเชื่อมั่นของภาพรวม 6 เดือนหน้าที่ยังคงใกล้เคียงระดับไตรมาสก่อน อาจเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นจากการต่ออายุมาตรการลดค่าโอนและจดจำนองถึง 31 ธันวาคม 2567 จาก 3% เหลือ 1.01%

และอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะกำลังซื้อห้องชุดจากคนต่างชาติกลับคืนมาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยภาคการท่องเที่ยว ด้วยการให้ฟรีวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวชาวจีน และชาวคาซัคสถาน เป็นเวลา 5 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566-เดือนกุมภาพันธ์ 2567

และมีการเพิ่มฟรีวีซ่าให้กับประเทศอินเดีย และไต้หวัน 7 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566-เดือนพฤษภาคม 2567 อาจจะส่งผลให้เกิดความสนใจซื้อห้องชุดในประเทศไทยมากขึ้น

ดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน

ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือน

 ดัชนีความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบัน

ดัชนี