วิสัยทัศน์ซีอีโอใหม่ LPN รีบาลานซ์พอร์ต-โฟกัส Stakeholder Wealth

อภิชาติ เกษมกุลศิริ
อภิชาติ เกษมกุลศิริ

Rebalance Portfolio, Rebalance Resource, Rebalance Stakeholder’s Wealth

กับภารกิจหลักของ “อภิชาติ เกษมกุลศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN โดยรับไม้ต่อจาก “โอภาส ศรีพยัคฆ์” อดีตผู้บริหารสูงสุดที่นั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการตั้งแต่ปี 2549 และนั่งควบเก้าอี้กรรมการผู้จัดการ+ซีอีโอเมื่อปี 2561 ล่าสุดเพิ่งเกษียณการทำงานด้วยวัย 63 ปี

น่าสนใจว่าในวัย 58 ปี “อภิชาติ” ดีกรีอดีตนายแบงก์เก่าจาก ICBC กับบทบาทล่าสุดบนตำแหน่ง CEO ค่าย LPN จะนำพาบริษัทอสังหาริมทรัพย์มหาชนแห่งนี้ไปในทิศทางใด

แกรนด์เซลสต๊อกพร้อมอยู่

“ในฐานะนายแบงก์เก่า ผมต้องมาดูว่าจะบาลานซ์พอร์ต 3 ส่วน 3 Re นี้ยังไง”

จุดเน้นอยู่ที่การเดินหน้าสร้างสมดุลสู่การบริหารพอร์ต ทั้งการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยและสร้างธุรกิจใหม่ เพื่อรักษาการเติบโตอย่างยั่งยืนขององค์กร ในปี 2567 มุมมองคือ LPN เป็นบริษัทอสังหาฯที่ทำธุรกิจครบวงจร (Selffulfillment) วิสัยทัศน์สะท้อนผ่านแกน 3 Re ดังนี้

“Rebalance Portfolio” สร้างสมดุลในการพัฒนาอสังหาฯทั้งในส่วนของการพัฒนาโครงการ งานบริการ งานวิจัยและพัฒนา นำจุดแข็งแต่ละหน่วยธุรกิจมาเสริมสร้างและขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อม ๆ กัน แนวทางการทำงานปีแรกอยู่ที่พัฒนาจุดแข็งในฐานะผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ ภายใต้แนวคิด “น่าอยู่-5C” ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ปรับปรุงและเติมเต็มข้อจำกัดของ LPN เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาด หลัก ๆ คือ การสร้างความสมดุลของ Portfolio โดยการเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย

สถิติ ณ กุมภาพันธ์ 2567 มียอดขายรอโอน (Backlog) 2,300 ล้านบาท มีแผนเพิ่มยอดขายโดยใช้กลยุทธ์ด้านราคา (Price Strategy) และการเพิ่มอัตราผลตอบแทนที่เหมาะสม (Incentive) ทั้งพนักงานขายและเครือข่ายการขาย เป้าหมายระบายสต๊อกหรือสินค้าคงเหลือ 4,500-5,000 ล้านบาท จากสต๊อกในมือที่มีอยู่ 10,000 กว่าล้านบาท เพิ่มขึ้นจากที่ระบายได้ 4,000 ล้านบาทในปี 2566

แผนธุรกิจปี 2567 ยังรวมถึงตั้งเป้ายอดขาย 11,000 ล้านบาท เติบโต 10% เทียบกับยอดขายปี 2566 ที่ทำได้ 10,000 ล้านบาท ตั้งวงเงินซื้อที่ดิน 1,000-2,000 ล้านบาท บริษัทประสบความสำเร็จในการออกหุ้นกู้ 1,500 ล้านบาท สะท้อนความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี

ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 LPN มีทุนจดทะเบียน 1,454 ล้านบาท มีกําไรสะสมตลอด 30 ปี ส่วนของผู้ถือหุ้นปัจจุบันอยู่ที่ 11,959 ล้านบาท ในขณะที่ผลดำเนินงาน ณ สิ้นปี 2566 มีรายได้จากการขายและบริการ 7,407 ล้านบาท ลดลง -28% จาก 10,276 ล้านบาทในปี 2565 มีกำไรสุทธิ 353 ล้านบาท ลดลง -42%

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมีมติเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 จ่ายเงินปันผล 0.13 บาทต่อหุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นที่มีชื่ออยู่ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 โดย LPN จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว 0.08 บาทต่อหุ้น เมื่อ 31 สิงหาคม 2566 ทำให้ต้องจ่ายอีก 0.05 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 17 เมษายน 2567

จัดระเบียบองค์กร 1+5

“Rebalance Resource” สร้างสมดุลโดยนำทรัพยากรที่มีอยู่มาจัดสรร และสร้างมูลค่าให้กับองค์กรด้วยการนำความเชี่ยวชาญของแต่ละส่วนงานมาสนับสนุนการบริหารงานและการจัดการของ LPN ให้สอดคล้องกันยิ่งขึ้น เป็นแนวทางของการพัฒนาองค์กรในระยะยาว

ปัจจุบัน LPN มีบริษัทในเครือที่กำลังเติบโตหลายบริษัท เป็นอีโคซิสเต็มในการทำธุรกิจที่ยากจะหาใครมาแข่งขันได้ทัน ได้แก่ 1.LWS-บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริการงานวิจัยข้อมูลอสังหาฯป้อนให้แก่ภายในและภายนอก LPN ให้คำปรึกษาและวิจัยด้านกรีนและความยั่งยืน และ BIM-Building Information Modeling

2.LPS-บริษัท แอล พี เอส โปรเจค มาเนจเมนท์ จำกัด บริการด้านวิศวกรรม และที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ ควบคุมงานก่อสร้าง เน้นการส่งมอบคุณค่าผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้า

3.LPP-บริษัท แอล พี พี พรอพเพอร์ตี้ มาเนจเมนท์ จำกัด บริหารจัดการนิติบุคคลบ้านและคอนโดมิเนียม สำนักงาน อาคารเชิงพาณิชย์ บริหารจัดการทรัพย์สินส่วนกลางวางระบบ-บริหารจัดการอาคารชุด บริการฝากขาย-ฝากเช่าห้องชุด ตรวจคัดกรองผู้เช่าเพื่อความปลอดภัยในชุมชน

4.LPC-บริษัท แอล พี ซี วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด งานบริการชุมชนครบวงจร โฟกัสการรักษาความสะอาดเป็นหลัก ทั้งในโครงการ LPN และลูกค้าภายนอก

5.LSS-บริษัท รักษาความปลอดภัย แอลเอสเอส โซลูชั่นส์ จำกัด บริการรักษาความปลอดภัยแบบบูรณาการ การใช้อิเล็กทรอนิกส์และงานระบบ จัดให้มีมาตรฐานความปลอดภัย และนำเสนอบริการตามระดับความต้องการลูกค้า ที่เรียกว่า SLA-Service Level Agreement เป็นต้น ครอบคลุมงานบริการทำความสะอาด ขยายฐานไปยังกลุ่มลูกค้าในอาคารเชิงพาณิชย์อื่น ๆ เช่น โรงพยาบาล โรงแรม ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

ดัน LPP เข้าตลาดหุ้น mai

“Rebalance Stakeholders…Wealth” สร้างสมดุลในการให้ผลตอบแทนที่ดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกส่วน ทั้ง “นักลงทุน-ผู้ถือหุ้น-พนักงาน-พันธมิตรคู่ค้า” แนวทางประกอบด้วย

1.ผลักดันบริษัทลูกเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ภายในปีนี้ จุดโฟกัสแรกอยู่ที่ LPP ผู้นำในกลุ่มธุรกิจบริหารจัดการชุมชนและทรัพยากรอาคาร ปัจจุบันมีพอร์ตบริหารนิติบุคคลมากกว่า 260 โครงการ ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล และต่างจังหวัด ดูแลลูกบ้านมากกว่า 300,000 คน เป็นธุรกิจมีแนวโน้มที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยคาดว่าการนำ LPP เข้าตลาด mai เป็นการแยกธุรกิจบริการออกจากธุรกิจอสังหาฯ เป็นตัวช่วยให้ LPN รับรู้มูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจบริการ ซึ่งปัจจุบันรวมอยู่ในผลกำไรจากการดำเนินงานของ LPN สัดส่วน 40% ถือเป็นการส่งเสริมกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน สถิติปี 2566 บริษัท LPP มีรายได้ 1,560 ล้านบาท มีกำไร 139 ล้านบาท คิดเป็นรายได้โต 80% และกำไรสุทธิโต 23% ภายใน 3 ปี

โดยการเข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ LPN มีแผนลงทุนในบริษัทพันธมิตรเพื่อขยายงานบริการวิศวกรรมและที่ปรึกษาอสังหาฯ ต่อยอดความเป็นผู้นำธุรกิจบริหารชุมชนและทรัพยากรอาคาร โดยพัฒนาแอปรองรับการบริการผู้อยู่อาศัยตลอด 24 ชม. นับเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ที่เสริมสร้างให้ LPN ทำกำไรได้ดีขึ้น สร้างความสมดุลด้านรายได้ เนื่องจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลดำเนินงาน LPN อยู่ในภาวะถดถอยจากเดิม จากปี 2562 มีกำไร 1,256 ล้านบาท ล่าสุดในปี 2566 กำไรลดเหลือ 353 ล้านบาท

ในขณะเดียวกัน LPN มีแผนผลักดันบริษัทในเครือที่มีผลดำเนินงานที่ดีเข้าระดมทุนในตลาด mai เพื่อสร้างความสมดุลในการบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

“ในฐานะที่ผมมีความเชี่ยวชาญทางด้านการเงิน ผมให้ความสำคัญกับการบริหารโครงสร้างทางการเงิน และบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป้าหมายนำเงินสดเข้ามา เพื่อสร้าง Stakeholder Wealth ราคาหุ้น LPN ตอนนี้ 3 บาทกว่า บุ๊กแวลู 8 บาทกว่า ห่างกันมากเกินไป ในใจผมดึงกลับมาอยู่ที่ 5 บาท ผมก็พอใจแล้ว”