ศุภาลัย-LPN ขานรับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ บ้าน BOI 1.5 ล้าน

ผู้ประกอบการอสังหาริมรัพย์ ขานรับมติ ครม. กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาฯ ระบุบ้าน BOI 1.5 ล้าน มีส่วนผลักดันสำคัญให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมากขึ้นทั่วประเทศ ทำให้ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท สามารถเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในทำเลและระดับราคาที่ต้องการได้

วันที่ 10 เมษายน 2567 นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นี้ ออกมาในช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากตลาดอสังหาฯ ในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบเชิงลบมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งดอกเบี้ยขาขึ้น ค่าก่อสร้างที่ปรับเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 อัตราการกู้ไม่ผ่านของลูกค้าอยู่ในเกณฑ์ที่สูง อีกทั้งมาตรการ LTV ที่นำกลับมาใช้ใหม่ทำให้ลดทอนกำลังซื้อของลูกค้าและซื้อบ้านได้ยากขึ้น

ดังนั้นตลาดอสังหาฯ ต้องการตัวช่วยเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของลูกค้า เดิมมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองในการซื้อที่อยู่อาศัยระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท สามารถช่วยครอบคลุมตลาดอสังหาฯ ได้เพียงประมาณ 22% ในกลุ่มลูกค้ารายได้ไม่สูงมากนัก การปรับเพิ่มมาตรการมาเป็นระดับราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ทำให้สามารถครอบคลุมลูกค้าตลาดอสังหาฯ ระดับกลางที่สามารถซื้อบ้านเดี่ยวระดับราคา 5-7 ล้านบาท ได้จะทำให้มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ครั้งนี้ครอบคลุมตลาดอสังหาฯ ได้กว่า 76% ซึ่งเป็นข้อดี

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)

สำหรับการส่งเสริมให้มีการจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง โดยใช้หลักเกณฑ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นมาตรการที่ดี จากเดิมที่ได้กำหนดระดับราคาที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1.2 ล้านบาท จะเห็นว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถพัฒนาโครงการที่เป็นหลักเกณฑ์ดังกล่าวได้ในช่วงหลัง เนื่องจากต้นทุนที่มีการปรับตัวสูงขึ้น

เชื่อว่าหลังจากการปรับหลักเกณฑ์ขยับระดับราคาเป็นไม่เกิน 1.5 ล้านบาท จะทำให้มีบริษัทพัฒนาอสังหาฯ สามารถทำคอนโดมิเนียม BOI เพิ่มได้อีกแม้อาจยังเป็นระดับราคาที่ไม่สามารถทำได้โดยง่ายก็ตาม เนื่องจากต้นทุนค่าก่อสร้างและที่ดินที่มีการปรับตัวค่อนข้างมากในช่วงหลัง แต่ก็เชื่อว่าการปรับลดขั้นต่ำราคาดังกล่าวจะพอทำให้มีการพัฒนาคอนโดฯ BOI ได้ในทำเลและระดับราคาที่ลูกค้าสามารถเลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่ต้องการได้

นายอภิชาติ เกษมกุลศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

ด้าน นายอภิชาติ เกษมกุลศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นถึงมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ผ่านมาว่า มาตรการกระตุ้นอสังหาฯ เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นภาพรวมของเศรษฐกิจไทย

จากผลการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทยปี 2564 ระบุว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะการพัฒนาที่อยู่อาศัยและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง ก่อสร้าง ภาคการเงิน ธุรกิจโฆษณา และบริการให้เช่าที่อยู่อาศัย มีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่า 9.8% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

มีการจ้างงานรวมไม่น้อยกว่า 2.8 ล้านคนและมากกว่า 80% ของการพัฒนาโครงการทั้งหมดเป็นการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากภายในประเทศเป็นหลัก (ปี 2564 มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ 801,241 ล้านบาท ขณะที่มูลค่า GDP ปี 2564 อยู่ที่ 16.16 ล้านล้านบาท)

ขณะที่ในปี 2566 ข้อมูลการโอนที่อยู่อาศัยทั่วประเทศมีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยทั้งสิ้น 1.016 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.67% ของ GDP ปี 2566 (มูลค่า GDP 2566 อยู่ที่ 17.9 ล้านล้านบาท) เมื่อคำนวณผลทวีคูณจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องประมาณ 3 เท่า ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 2566 ประมาณ 3.048 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 17% ของ GDP ในปี 2566

ดังนั้นการกระตุ้นภาคอสังหาฯ ไม่ใช่การช่วยผู้ประกอบการอสังหาฯ แต่เป็นการสร้างฟันเฟื่องในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศให้เติบโตโดยประมาณการว่าทุก ๆ 1% ของการเติบโตของภาคอสังหาฯ จะมีผลต่อการเติบโตของ GDP ไม่น้อยกว่า 0.06%

“ผมเชื่อว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่ออกมาจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะมาตรการด้านสินเชื่อและมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับผู้ประกอบการสำหรับบ้านบีโอไอทำให้คนไทยมีบ้านที่มีคุณภาพได้มากชึ้น ซึ่ง LPN พร้อมสนับสนุนมาตรการของรัฐบาล โดยเฉพาะการสร้างบ้าน BOI เพื่อเป็นส่วนหนึ่งให้คนไทยมีบ้าน” นายอภิชาติกล่าว