MQDC ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ ปั้นสมาร์ทซิตี้-สมาร์ทโปรเจ็กต์

ไม่ว่าจะเรียกขานในชื่ออะไร อาทิ โฮมอินเทลลิเจนซ์ บ้านอัจฉริยะ สมาร์ทโฮม โซลูชั่น ฯลฯ ล้วนแล้วแต่หมายถึงโครงการที่พักอาศัยที่มุ่งมั่นใส่ใจในการนำเทคโนโลยีทันสมัยที่สุดมาใส่ไว้ในฟังก์ชั่นตัวสินค้า

ในทางปฏิบัติ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่นำเสนอจุดขายของการเป็นผู้นำระบบบ้านอัจฉริยะ ปรากฏชื่อของ “MQDC” โดดเด่นขึ้นมาไม่น้อยหน้าใคร และน่าจะเป็นรายแรกที่ประกาศใช้งบฯก้อนโตสำหรับลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยเฉพาะ

นวัตกรรม 10 ปี 6,000 ล้าน

ทั้งนี้ MQDC เป็นบริษัทลูกกลุ่ม DTGO (DT group of companies) ของ “บี-ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ อริยวรารมย์” ลูกรักเจ้าสัวซีพี มีมูลค่าลงทุนรวม 1 แสนล้านบาท ในหลากหลายโครงการ พอร์ตรายได้อย่างละครึ่งต่อครึ่งแบ่งให้กับโครงการอสังหาฯ ขายขาดกับอสังหาฯ ให้เช่าหมุดไมล์ของแผนบุกการลงทุนเริ่มนับปี 2560 นี้เป็นต้นไป ตามแผนธุรกิจจะมีรายได้ 20,000 ล้านบาท เติบโตจากปีที่แล้ว 40-50% ในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทยังมีเซอร์ไพรส์ให้เห็นอีก MQDC เปิดเกมรุกตั้งแต่ต้นปี ด้วยการหวนกลับมาปูพรมการลงทุนอีกรอบ

“วิศิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลียส ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ MQDC ระบุว่า บริษัทตั้งเป้าใช้งบฯลงทุน 10 ปี มูลค่า 6,000 ล้านบาทในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในจำนวนนี้ แบ่งก้อนใหญ่ 2,000 ล้านบาท สำหรับศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน หรือ RISC (Research and Innovation for Sustainability Center)

ภารกิจมี 3 ด้านหลัก 1.การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 2.การตอบสนองความเป็นอยู่ที่ดี ทั้งในเรื่องสุขภาพและการอยู่อาศัยสะดวกสบาย 3.เทคโนโลยีนำมาใช้แบบองค์รวม ตอบโจทย์การพักอาศัยยุคใหม่

โดยมีโครงการนำร่องลงทุนเต็มรูปแบบโครงการบ้านอัจฉริยะแห่งแรกในคอนโดมิเนียมแบรนด์ “วิสซ์ดอม รัชดา-ท่าพระ” ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและเตรียมส่งมอบให้กับลูกค้าภายในไตรมาสที่ 3/2561 ตั้งเป้าให้เป็นโครงการบ้านอัจฉริยะแห่งแรกในประเทศไทยที่มุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นอยู่และสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ความปลอดภัย และการประหยัดพลังงาน

CO2 ภัยเงียบในบ้าน

“ทรงพล พลรัฐ” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ DTGO กล่าวว่า ล่าสุด บริษัทเพิ่งเปิดตัวระบบบ้านอัจฉริยะ (Home Intelligent System) ซึ่งมั่นใจว่าเป็นรายแรกในประเทศไทยที่ติดตั้งระบบพัฒนาคุณภาพอากาศภายในอาคารที่เรียกว่า IAQ-Indoor Air Quality เนื่องจากเรื่องราวนวัตกรรมมีความซับซ้อนในทางเทคนิค คนที่จะมาอธิบายได้ดีที่สุดหนีไม่พ้น “ดร.จิตพัต ฉอเรืองวิวัฒน์” ผู้อำนวยการ RISC อธิบายว่า ไฮไลต์นวัตกรรมอยู่ที่ตัว ERV (Energy Recoverty Ventilation) ตรวจวัดคุณภาพอากาศ โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์หรือ CO2 ในห้องนอนกับห้องนั่งเล่น หากตรวจพบค่า CO2 เกินมาตรฐานจะมีการเติมอากาศจากด้านนอกเข้ามาหมุนเวียน เพื่อทำให้ปริมาณ CO2 ลดลงจนเหมาะกับการพักผ่อนที่มีคุณภาพ

“ค่า CO2 มาตรฐานไม่เกิน 1,000 ppm หรือ 1,000 ในล้านส่วน งานวิจัยชิ้นนี้มาจากพฤติกรรมการพักอาศัยคนเมืองเฉลี่ย 90% ใช้ชีวิตอยู่ในอาคาร โดยเฉพาะการอยู่ในห้องแอร์แทบจะตลอดเวลาทั้งที่ทำงาน ที่บ้าน ในห้องนอน ห้องที่ใช้แอร์ส่วนใหญ่ไม่มีระบบอากาศหมุนเวียน ทำให้เรารับก๊าซ CO2 สะสมทุกวัน ซึ่งมีผลในระยะยาวเช่น เกิดโรคสมองเสื่อมในผู้สูงวัย หรือสมองพัฒนาการล่าช้าในวัยเด็ก นวัตกรรม ERV จึงพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์ในการแก้ปัญหานี้โดยตรง”

“101” ต้นแบบสมาร์ทซิตี้

ปฏิบัติการล่าสุด คิวพระเอกเป็นของโครงการ WHIZDOM 101 (วิสซ์ดอม วัน-โอ-วัน) ในฐานะได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 โครงการสนับสนุนการออกแบบเมืองอัจฉริยะ ร่วมงานสัมมนาทางวิชาการและแสดงนิทรรศการประจำปี 2560 จัดโดยกระทรวงพลังงานและสถาบันอาคารเขียว

“สุทธา เรืองชัยไพบูลย์” ประธานผู้อำนวยการ MQDC ฉายภาพแนวคิดการพัฒนาโครงการว่า ป็นความร่วมมือระหว่าง MQDC ร่วมกับกลุ่มทรูเนรมิต “ทรู ดิจิทัล พาร์ค” (True Digital Park) ศูนย์วิจัยนวัตกรรมด้านดิจิทัล (Digital Hub) ภายใต้ระบบนิเวศสมบูรณ์แบบครบวงจร รวมทั้งคำนึงถึงการออกแบบ เพื่อที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพและส่งผลดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ (Health and Well-Being) การคำนึงถึงการประหยัดพลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการคำนึงถึงความสัมพันธ์ในชุมชนโดยรอบ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีและปลอดภัยขึ้น (Integrated Ecosystem)

โดยวิสซ์ดอม 101 ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท ใกล้รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีปุณณวิถี มูลค่าโครงการ 30,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 43 ไร่ ภายใต้แนวคิดเป็นโครงการมิกซ์ยูส มี 3 องค์ประกอบสำคัญ คือ

1.ใช้ธรรมชาติมาช่วยออกแบบ (Passive Design) ออกแบบตัวอาคารให้ประหยัดพลังงาน โดยหันอาคารให้รับแดดน้อยลง รับลมได้ดีขึ้น ลดการใช้พลังงาน ทำให้เปิดเครื่องปรับอากาศน้อยลง มีการจําลองสถานการณ์ (Simulation) โดยใช้ระบบ 3 มิติ ซึ่งเป็นกระบวนการที่สร้างและจัดการข้อมูลดิจิทัล เพื่อทำการทดลอง ทำให้เมื่ออยู่ภายนอกอาคาร ก็สามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้โดยไม่ร้อน รวมทั้งการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยลดอุณหภูมิ และประหยัดพลังงาน Passive Design นี้เองที่ได้รับรางวัลจากกระทรวงพลังงานในการประกวดโครงการต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart Cities-Clean Energy) เนื่องจากตัวอาคารสามารถลดการใช้พลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 15,000 ตันต่อปี

เทรนด์ใหม่ผู้บริโภค

2.นำเสนอเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น เทคโนโลยีเติมอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้อุณหภูมิภายในใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอก ใช้ระบบ District Cooling Plant ลดการใช้พลังงานของระบบปรับอากาศ

และ 3.การใช้พลังงานทางเลือก ออกแบบพื้นทางเชื่อมบริเวณ Skywalk หน้าโครงการให้สามารถสร้างพลังงานจากการสั่นสะเทือน คิดเป็นการเดิน 1 ก้าวสามารถผลิตพลังงาน 5 วัตต์ และนำไปใช้เพื่อเป็นไฟส่องสว่างทางเดิน ลดการใช้พลังงาน ส่งผลให้คนที่มาเดินในโครงการมีส่วนร่วมเป็นผู้สร้างพลังงาน

โดย “ศศินันท์ ออลแมนด์” ผู้อำนวยการบริหาร DTGO สรุปตอนท้ายว่า การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในยุคนี้ ต้องคำนึงถึงพฤติกรรมการเลือกซื้ออสังหาฯ ของผู้บริโภคยุคใหม่ ที่ให้ความสำคัญการเลือกซื้อโครงการจัดสรรที่มีเหตุผล ไม่ใช่แค่ซื้อคุณภาพชีวิต แต่เป็นการเลือกซื้อคุณภาพสุขภาพที่ดีในการพักอาศัย