กทม.เข็นโปรเจ็กต์ทางเลียบเจ้าพระยาประมูลปลายปีนี้

แลนด์มาร์กใหม่ - ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่บิ๊ก คสช.ผลักดันมาหลายปี ล่าสุดกทม.เคลียร์การรื้อย้ายและออกแบบแล้วเสร็จ เตรียมประมูลปลายปีนี้ 2 สัญญาเริ่มสร้างปีหน้า เสร็จปี 2563

ยังไม่พับ ! กทม.ดันสุดลิ่ม โปรเจ็กต์บิ๊ก คสช. ปักตอม่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเฟสแรก 14 กม. จาก “สะพานพระราม 7-สะพานปิ่นเกล้า” วงเงิน 8,362 ล้านบาท ปลายปีนี้กดปุ่มประมูล 2 สัญญากว่า 3.8 พันล้าน ปีหน้าลงเสาเข็ม “สะพานพระราม 7-คลองบางซื่อและสะพานพระราม 7-คลองบางพลัด” สนข.เตรียมชง คจร.เคาะพิมพ์เขียวพัฒนาทางเลียบเจ้าพระยาพาดยาว 4 จังหวัด 148 กม. ลงทุน 3.5 หมื่นล้าน นำร่องพื้นที่ “สะพานนนทบุรี 1-สะพานพระราม 5” โมเดลต้นแบบ

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน กทม.ยังคงเดินหน้าโครงการทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะแรกช่วงสะพานพระราม 7-สะพานปิ่นเกล้า ระยะทางรวม 2 ฝั่งประมาณ 14 กม. แบ่งการก่อสร้าง 4 สัญญา ระยะทางสัญญาละ 3.5 กม. ค่าก่อสร้าง 8,362 ล้านบาท

ยันสิ้นปีเปิดประมูลแน่

ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 จากพระราม 7-คลองบางซื่อ วงเงิน 1,770 ล้านบาท ช่วงที่ 2 วงเงิน 2,470 ล้านบาท จากคลองบางซื่อ-สะพานปิ่นเกล้า ช่วงที่ 3 จากสะพานพระราม 7-คลองบางพลัด วงเงิน 2,061.5 ล้านบาท และช่วงที่ 4 จากคลองบางพลัด-คลองสามเสน วงเงิน 2,061.5 ล้านบาท จะใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี 6 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563

“ที่ผ่านมาโครงการล่าช้าเพราะเราต้องการดำเนินการทำทุกอย่างให้เคลียร์ ก่อนที่จะเดินหน้าก่อสร้าง ทั้งการรื้อย้ายและรูปแบบก่อสร้าง เพราะผลกระทบค่อนข้างมาก และรัฐบาลก็ให้งบประมาณอุดหนุนมาแล้ว คาดว่าภายในปลายปี 2561 หรืออย่างช้าต้นปี 2562 จะเปิดประมูลก่อสร้างพื้นที่ฝังธนบุรีก่อน คือ ช่วงที่ 1 และช่วงที่ 3 เพราะเคลียร์เรื่องรูปแบบก่อสร้างและการรื้อย้ายเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนตอนที่ 2 และตอนที่ 4 อยู่ในพื้นที่ฝั่งพระนคร ยังเคลียร์เรื่องการรื้อย้ายไม่แล้วเสร็จ และยังต้องปรับรูปแบบก่อสร้างให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบก่อน เพราะช่วงบริเวณนี้จะมีส่วนที่ต้องตัดโค้งไปมาในบางช่วง”

รอ มท.1 ไฟเขียว

แหล่งข่าวจาก กทม. กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้รอทาง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พิจารณาอนุมัติทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีบิดดิ้ง) โดยทางกระทรวงมหาดไทยรอการอนุมัติจากกรมเจ้าท่าและกรมศิลปากรอนุญาตให้ใช้พื้นที่ ซึ่ง กทม.ได้ยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่ก่อสร้างไปยังกรมเจ้าท่าแล้วตั้งแต่ปี 2560 ขณะที่พื้นที่อยู่ในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ได้ขออนุญาตไปยังกรมศิลปากรแล้ว

“รัฐบาลสั่งการให้ กทม.เร่งรัดโครงการโดยเร็ว เพราะล่าช้ามานาน ซึ่งโครงการนี้เป็นนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายใต้คอนเซ็ปต์ Chao Phraya for All ที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์มาใช้พื้นที่ริมน้ำ เพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น พักผ่อน ออกกำลังกาย เช่น บริเวณสะพานพระราม 8 จะพัฒนาเป็นแลนด์มาร์กใหม่”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับรูปแบบก่อสร้าง จะสร้างทางขนาด 6-10 เมตร ยื่นเข้ามาในแม่น้ำ โดยสร้างต่ำกว่าระดับเขื่อนป้องกันตลิ่งแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 1.50 เมตร ออกแบบเป็นทางขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมเกาะกลางเพื่อเป็นเขตกั้นระหว่างทางจักรยานและทางเดิน โดยมีจุดแลนด์มาร์กเป็นระยะ ๆ ตามจุดพื้นที่ที่มีความสำคัญ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการทางเลียบเจ้าพระยาที่ กทม.กำลังดำเนินการนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาพื้นที่และทางสัญจรเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาความเหมาะสมของโครงการไว้

สนข.ชง คจร.เคาะพิมพ์เขียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับแผนพัฒนาทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ สนข.ศึกษาไว้ จะดำเนินการใน 4 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี นนทบุรี กทม. และสมุทรปราการ โดยเริ่มจากสะพานปทุมธานี 1 ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี จนถึงสุดเขตพื้นที่บางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ รวมระยะทางทั้ง 2 ฝั่ง 148.6 กม. ใช้เวลาดำเนินการ 5 ปี วงเงินก่อสร้างทั้งโครงการ 35,835 ล้านบาท

แยกเป็นพื้นที่ กทม. 18,105 ล้านบาท ที่เหลือ 17,727 ล้านบาท เป็นของพื้นที่ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ

ปักหมุดท่าน้ำนนท์โปรเจ็กต์นำร่อง

โดย สนข.เตรียมจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบจราจรทางบก (คจร.) อนุมัติก่อสร้างโครงการนำร่องพื้นที่ท่าน้ำนนทบุรีช่วงสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ (สะพานนนทบุรี 1) ถึงสะพานพระราม 5 วงเงิน 5,129 ล้านบาท เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาโครงการต่อไป

สาเหตุที่ สนข.เลือกบริเวณท่าน้ำนนทบุรีเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่มีสถานีที่ราชการริมน้ำ สามารถเชื่อมต่อกับท่าน้ำนนทบุรี และมีอาคารศาลากลางเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ประกอบกับมีปริมาณการเดินทางบริเวณโดยรอบพื้นที่ของประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณดังกล่าวมีความกว้างเฉลี่ย 230 เมตร เป็นโอกาสในการพัฒนาทางสัญจรเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ชุมชนส่วนราชการ สวนสาธารณะ และการคมนาคมขนส่งทางน้ำให้เกิดศูนย์กลางกิจกรรมริมน้ำของเมืองนนท์

ปั้นศูนย์กลางสัญจรทางน้ำ

โดยแบบแนวคิดการพัฒนา ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงพื้นที่ริมน้ำหน้าศาลากลางนนทบุรี 67,000 ตารางเมตร เป็นศูนย์กลางกิจกรรมสาธารณะของเมือง 2.ทางสัญจรแนวเหนือ-ใต้ ตามแนวเขื่อนเดิมและโครงการเขื่อนป้องกันน้ำท่วม 8.22 กม. 3.ปรับปรุงโครงข่ายถนนเดิมที่สามารถเข้าถึงพื้นที่เลียบแม่น้ำ 8.290 กม.

4.สร้างศูนย์กลางกิจกรรมสาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ ลานกิจกรรม จุดแวะพัก พื้นที่ 790 ตารางเมตร 5.สร้างสะพานข้ามแม่น้ำและสะพานข้ามคลองต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงย่านพักอาศัยฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของเมืองนนท์ ให้เดินทางสะดวก ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระยะทาง 1.170 กม. และ 6.ปรับปรุงถนนเดิมที่อยู่ใกล้หรือขนานแม่น้ำ เพื่อรองรับทางจักรยาน ระยะทาง 760 เมตร