จี้ทอท.ทบทวน”เทอร์มินอล2″ เร่งสร้าง”รันเวย์4″แก้คอขวดสุวรรณภูมิ  

ศูนย์วิจัยขนส่งทางอากาศ ม.เกษตรฯเปิดพิมพ์เขียวจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ประเทศ จวก ทอท.หลงทาง ทุ่ม 4.2 หมื่นล้านผุดอาคารหลังที่ 2 ไม่สมดุลแนะรีวิวมาสเตอร์แพลนใหม่ เร่งขยายฝั่งตะวันออกและตะวันตกอาคารเดิม เวนคืน 1,200 ไร่ สร้างรันเวย์ 4 พ่วงเทอร์มินอลขนาดย่อมตรงกลาง ปักหมุดหมื่นไร่สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม สนามบินแห่งที่ 3 ชี้อู่ตะเภาเหมาะรองรับอีอีซี 

ดร.นวทัศน์ ก้องสมุทร ประธานคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์วิจัยและบริการวิชาการด้านการขนส่งทางอากาศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)ทำแผนแม่บทจัดตั้งสนามบินพาณิชย์ของประเทศ 20 ปี และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) แล้ว เพื่อรองรับอุตสาหกรรมการบินที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดว่าปี 2578 จะมีผู้โดยสาร 333 ล้านคนต่อปี เที่ยวบิน 2.026 ล้านเที่ยวบินต่อปี และสินค้า 1.51 ล้านตันต่อปี พร้อมเสนอแนะการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และสร้างสนามบินแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯไว้ด้วย

“สุวรรณภูมิมีปัญหารันเวย์ที่เป็นคอขวดต่อเที่ยวบินขึ้นลง ไม่ได้อยู่ที่อาคารผู้โดยสาร การที่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. จะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาท พื้นที่ 3.8 แสนตารางเมตร รับผู้โดยสาร 30 ล้านคนต่อปี เป็นการลงทุนไม่สมเหตุสมผล ต้องสร้างรถไฟฟ้า APM และสายพานลำเลียงกระเป๋าเพิ่ม และไม่มีความสมดุลเรื่องผู้โดยสารและเที่ยวบิน เพราะมี 14 หลุมและยังทำให้หลุมจอดระยะไกล หรือรีโมตปาร์กกิ้งหาย ทอท.ควรขยายฝั่งตะวันออกและตะวันตกอาคารเดิมที่รับ 30 ล้านคนต่อปีก่อน ซึ่งใช้เงินลงทุนแค่ 1-2 หมื่นล้านบาท”

ทั้งนี้เสนอแนะให้ ทอท.ปรับแผนแม่บทและสมมุติฐานใหม่ ให้ทบทวนสร้างรันเวย์ 4 ให้เร็วขึ้น จากเดิม ทอท.มีแผนจะสร้างในเฟส 5 (2568-2573) เนื่องจากมีเวนคืนที่ดิน 1,200 ไร่ สร้างเป็นรันเวย์ระยะไกลถัดจากรันเวย์ 2 ประมาณ 1.1 กม. มีแนวจุดเริ่มต้นเยื้องขึ้นไปด้านทิศเหนือให้เป็นอิสระจะรองรับได้ 135-140 เที่ยวบินต่อชั่วโมง และสร้างอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินตรงกลางระหว่างรันเวย์ 2 และ 4 จะรองรับผู้โดยสารได้อีก 35-40 ล้านคนต่อปี ซึ่งเมื่อ ทอท.ปรับรันเวย์ที่ 4 แล้ว ไม่จำเป็นต้องสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ด้านทิศใต้

“ผลศึกษาที่เราเสนออยู่ที่รัฐตัดสินใจ ยอมรับว่าอาจจะยาก เพราะรันเวย์ 3 และ 4 อยู่ในขั้นพิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอแล้ว แต่เป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 และรันเวย์ 3 และ 4 ยังไม่ผ่านอีไอเอและคณะรัฐมนตรี”

Advertisment

และยังเสนอให้สร้างสนามบินแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯด้านตะวันตก พื้นที่ จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และนครปฐม พื้นที่ 10,000-15,000 ไร่ เป็นสนามบินรองรับการเติบโต สำหรับกิจกรรมการบินด้านธุรกิจ และชาร์เตอร์ไฟลต์ พบว่าการขนส่งทางอากาศพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลเติบโตสูง

“ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะให้อู่ตะเภาเป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ ควรจะเป็นสนามบินของอีอีซีเท่านั้น เพราะไม่สมเหตุสมผลเรื่องค่าใช้จ่ายและเวลาเดินทาง และ 10 ปีแรก อู่ตะเภาจะโตช้ามาก เพราะรถไฟความเร็วสูงจะขนคนมาที่สุวรรณภูมิหมด และไม่มีทางที่จะมีเที่ยวบินมากเท่ากับสุวรรณภูมิ”

Advertisment